การปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ หรือนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นาน 3 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน อาจไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เมื่อผลการวิจัยล่าสุดพบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ได้ อีกทั้งยังไปส่งผลต่อการลดประสิทธิภาพในการทำงานของฮอร์โมน “เลปติน” หรือฮอร์โมนความอิ่มด้วย จึงไปไปกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น
ทั้งนี้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จในอังกฤษ วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของเด็กนักเรียนประถม อายุระหว่าง 9-10 ปี จากโรงเรียนประถม 200 แห่ง ในกรุงลอนดอน, เบอร์มิงแฮม และเลสเตอร์ จำนวนเกือบ 4,495 คน แบ่งเป็นเด็กหญิง 2,337 คน และเด็กชาย 2,158 คน เพื่อดูความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2
สำหรับข้อมูลสุขภาพที่ตรวจนั้น มีทั้งปริมาณไขมันในเลือด ภาวะดื้ออินซูลิน ระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย รวมถึงสอบถามเด็กเหล่านี้ถึงเวลาที่พวกเขาอยู่หน้าจอ ทั้งโทรทัศน์, คอมพิวเตอร์ หรือตู้เกมด้วย
โดย 1 ใน 3 ของเด็กๆ ใช้เวลาอยู่หน้าจอไม่ถึง 1 ชั่วโมงต่อวัน, 28 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง, 13 เปอรเซ็นต์ ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง และมี 18 เปอร์เซ็นต์ที่ใช่เวลามากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งนักวิจัยพบว่า ระดับไขมันในร่างกายของเด็กที่อยู่หน้าจอเกิน 3 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวและส่วนสูง จะสูงกว่าเด็กที่ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า เด็กที่อยู่หน้าจอเกิน 3 ชั่วโมง มีภาวะดื้อต่ออินซูลินที่สูงกว่ามาก ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และส่งผลให้เป็นเบาหวานได้ในอนาคต
ดอกเตอร์แคลร์ ไนติงเกล หัวหน้าทีมวิจัยดังกล่าว ระบุว่า จากการผลการศึกษาดังกล่าว จึงบอกได้ว่า การลดเวลาดูทีวี หรืออยู่หน้าจอของเด็กๆ ทั้งหญิงและชาย อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีผลการศึกษาทำนองนี้ออกมาแล้ว แต่เป็นการวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงในการเสี่ยงเป็นโรคอ้วนและเบาหวานในผู้ใหญ่
ที่มา : www.deccanherald.com