ทรัพยากรน้ำ และความเสื่อมโทรมจนใช้ประโยชน์ไม่ได้ จาก “ฝีมือมนุษย์”

เมื่อเอ่ยถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์เป็นอย่างมาก นอกจากทรัพยากรอากาศที่เราไว้ใช้หายใจแล้วนั้น ยังมี “ทรัพยากรน้ำ” ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต คนเรามีชีวิตอยู่โดยขาดน้ำได้ไม่เกิน 3 วัน น้ำ จึงถือเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตของสัตว์และพืช ทั้งยังมีความจำเป็นในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย โดยน้ำจัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น เพราะน้ำสามารถเกิดขึ้นหมุนเวียนอยู่ในวัฏจักรน้ำได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีวันหมดสิ้น แต่การที่น้ำไม่มีวันหมดไปจากโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้น้ำแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ โดยไม่รู้คุณค่าหรือไม่แยแสใด ๆ ได้ ถึงจะไม่หมดแต่อาจเสื่อมสภาพจนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ก็ได้

โลกของเราประกอบขึ้นด้วยพื้นดินและพื้นน้ำ โดยส่วนที่เป็นพื้นน้ำนั้นมีมากถึง 3 ส่วน (75 เปอร์เซ็นต์) และเป็นพื้นดินเพียง 1 ส่วน (25 เปอร์เซ็นต์) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม น้ำที่มีมากถึง 3 ใน 4 ส่วน ส่วนใหญ่ก็เป็นน้ำเค็มในทะเลและมหาสมุทรมากถึง 97.41 เปอร์เซ็นต์ ส่วนน้ำจืด ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นและมีค่ามากที่สุดในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต จะมีอยู่เพียง 2.59 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แถมน้ำจืดที่มีไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ก็พบอยู่ในรูปของภูเขาน้ำแข็งขั้วโลก ธารน้ำแข็ง น้ำใต้ดินเป็นส่วนมาก ส่วนน้ำจืดที่เรานำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงนั้น มีเพียง 0.014% เท่านั้นเอง

“น้ำ” ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดไป แต่ถ้ามันเสื่อมโทรมมากก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้

น้ำจัดเป็นทรัพยากรที่สามารถเกิดหมุนเวียนได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมดสิ้น ตามวัฏจักรของน้ำ เมื่อแสงแดดส่องมาที่พื้นโลก น้ำจากทะเลและมหาสมุทรจะระเหยเป็นไอน้ำลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากไอน้ำเบากว่าอากาศ เมื่อไอน้ำลอยสู่เบื้องบน จะได้รับความเย็นและกลั่นตัวกลายเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ ลอยจับตัวกันเป็นกลุ่มเฆม เมื่อเมฆจับตัวกันมากขึ้นและล่องลอยไปกระทบความเย็นบนชั้นบรรยากาศ ก็จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นโลก และน้ำบนพื้นโลกจะระเหยกลายเป็นไอน้ำอีกเมื่อได้รับความร้อนจากดวงทิตย์ ด้วยวัฏจักรที่หมุนเวียนกันไปเช่นนี้ ทำให้น้ำเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดไป

น้ำบริสุทธิ์ที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น จะมีความโปร่งใส ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น และไม่มีสี โดยน้ำที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์มาจาก 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ

  1. หยาดน้ำฟ้า หมายถึง น้ำที่ได้จากบรรยากาศ ซึ่งจะอยู่ในรูปของไอน้ำในอากาศ เช่น เมฆ น้ำ ฝน ลูกเห็บ หิมะ น้ำค้าง
  2. น้ำผิวดิน ได้แก่ น้ำในแม่น้ำลำคลอง บึง บ่อ ทะเลสาบ ได้จากน้ำฝนที่ตกลงมาและที่ไหลซึมออกจากใต้ดิน รวมถึงน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะอีกด้วย
  3. น้ำใต้ดิน หมายถึง น้ำที่อยู่ใต้ผิวดิน ซึ่งเกิดจากการซึมผ่านของน้ำผิวดิน น้ำฝน และหิมะลงสู่ชั้นใต้ดินจนกลายเป็นน้ำในดินและน้ำบาดาลที่เราสามารถขุดและสูบขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้

แม้ว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรที่มีวัฏจักรในการเกิดหมุนเวียนที่สม่ำเสมอ จึงมีให้เราใช้ได้อย่างไม่มีวันหมดไปจากโลก แต่สิ่งที่มนุษย์ต้องตระหนักถึงให้มากก็คือ น้ำมีอยู่มหาศาลก็จริง แต่มีเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ เท่านั้นที่เรานำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้ นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์และประหยัดน้ำส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ให้ยังคงอยู่ในสภาพที่เราสามารถดื่มกินหรือใช้ได้โดยไม่ต้องนำไปผ่านกระบวนการยุ่งยากให้มากกว่าเดิม หรือจนกระทั่งน้ำส่วนนี้เสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ มวลมนุษย์ก็จะได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน และจะมีเพียงผู้ที่อยู่จุดสูง ๆ บนห่วงโซ่อาหารเท่านั้นที่จะรอด

การเสื่อมสภาพของแหล่งน้ำจนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้ คือ ปัญหามลพิษทางน้ำ เกิดเป็นน้ำเสีย ซึ่งแหล่งที่มาของน้ำเสียเกิดขึ้นมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากธรรมชาติ น้ำเสียจากบ้านเรือน จากการเกษตรโรงงานอุตสาหกรรม และการทำเหมืองแร่ น้ำเสียที่เกิดขึ้นจะส่งผลเสียหายทั้งต่อสุขภาพอนามัย จึงเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและมนุษย์ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ทำให้ไม่สามารถนำแหล่งน้ำนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม แทนที่มนุษย์เราจะพยายามช่วยกันรักษาแหล่งน้ำทุกแหล่งให้เป็นน้ำดี ๆ ใช้ประโยชน์ได้ กลับกลายเป็นว่าต้นตอสำคัญของน้ำเสียก็คือ มนุษย์ ที่ชอบทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงน้ำนั่นเอง

ทำไมใครหลายคนจึงเลือกที่จะไม่ลอยกระทง

แม้ว่าความเชื่อของประเพณีลอยกระทงจะมีที่มาค่อนข้างหลากหลายว่าเรามีประเพณีไปเพื่ออะไร แต่สิ่งที่หลายคนเข้าใจกันง่าย ๆ ทั่วไปก็คือ ลอยเพื่อบูชาพระแม่คงคา เทวีแห่งสายน้ำตามความเชื่อฮินดู เพราะขอบคุณที่มีแหล่งน้ำให้เราได้ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัจจัยสำคัญให้พืชพันธุ์ทางการเกษตรเติบโต พื้นที่อยู่อาศัยมีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำ บางคนก็พ่วงเรื่องการระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว บางคนก็ถือโอกาสสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศกโรคภัยไปกับสายน้ำ และส่วนใหญ่ก็จะมีการอธิษฐานขอพรสิ่งที่ตนเองปรารถนาเข้าไปด้วย

แต่ความเชื่อก็เป็นเพียงความเชื่อที่มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อินกับเทศกาลลอยกระทงเท่าไรนัก ประการแรก คือการที่ไม่ได้เชื่อว่ามีเทพเจ้าอย่างพระแม่คงคาอยู่ น้ำก็เป็นแค่น้ำ สสารอย่างหนึ่งบนโลกที่ส่วนใหญ่จะมีสถานะเป็นของเหลว เป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่ประกอบขึ้นจากออกซิเจน 1 อะตอมและไฮโดรเจน 2 อะตอม น้ำบริสุทธิ์จึงมีสูตรเคมีเป็น H2O การมองน้ำให้เป็นวิทยาศาสตร์และไม่ได้มีความเชื่อใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง บางคนจึงไม่รู้ว่าจะต้องบูชาน้ำไปเพื่ออะไร

ประการต่อมา หากจะอ้างตามความเชื่อที่ว่าเราลอยกระทงเพื่อบูชาพระแม่คงคาที่ดูแลสายน้ำ ก็ต้องมีพวกเครื่องบูชาหรือชุดเซ่นไหว้ในการลอยไปตามน้ำ ทว่าในทางกลับกัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ควรจะลอยอยู่บนผิวน้ำสะอาด ๆ จึงไปแย้งกับความเชื่อในการขอขมาพระแม่คงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ จึงไม่เข้าใจว่าการนำสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ควรจะลอยอยู่เหนือผิวน้ำสะอาด ๆ อย่างกระทงไปลอยตามแหล่งน้ำต่าง ๆ นั้น มันเป็นการขอขมาแหล่งน้ำตรงไหน เหมือนกับเอาขยะไปลอยทิ้งน้ำดี ๆ มากกว่า ต้องเข้าใจว่ากระทงทุกใบมันสวยแค่ตอนวางขาย แต่พอมันลงน้ำไปแล้ว มันก็มีสถานะเป็นแค่ขยะที่อาจกลายเป็นสาเหตุให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสียได้นั่นเอง

เพราะไม่ว่าจะเป็นกระทงที่ทำด้วยวัสดุใดก็ตาม หากเก็บออกจากแหล่งน้ำไม่หมดมันก็จะกลายเป็นต้นเหตุให้แม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เน่าเสียได้ทั้งนั้น และกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ (ธรรมชาติ) ส่วนใหญ่ต้องก็ใช้ออกซิเจนมาช่วย และถ้าสารอินทรีย์เหล่านั้นอยู่ในน้ำ ก็จะดึงเอาออกซิเจนในน้ำมาช่วยในการย่อยสลาย แหล่งน้ำที่มีค่าออกซิเจนน้อยลง สิ่งมีชีวิตในน้ำก็จะเริ่มอยู่ไม่ได้ และน้ำก็จะเน่าเสีย แล้วถ้าหากเก็บขยะกระทงไม่หมดแล้วเล็ดลอดลงสู่ทะเล ก็จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลอีกเช่นกัน สำหรับระยะเวลาในการย่อยสลายกระทงแต่ละประเภทนั้นมีดังนี้

  • กระทงน้ำแข็ง ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 1 ชั่วโมง (แต่ก็ยังเหลือขยะพวกก้านธูป เทียน)
  • กระทงขนมปัง/โคนไอศกรีม ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 3 วัน หากปลาในแหล่งน้ำกินไม่หมด เมื่อขนมปัง/โคนไอศกรีมเข้าสู่กระบวนการย่อย เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำจะทำหน้าที่ย่อยแป้งเพื่อใช้เป็นอาหารของตัวเอง แต่กระบวนการย่อยของจุลินทรีย์จะต้องใช้ออกซิเจนด้วย เลยทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง เมื่อออกซิเจนในน้ำลดลง ปลาตาย
  • กระทงต้นกล้วย/ใบตอง/กะลามะพร้าว จะใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน
  • กระทงที่ทำจากกระดาษ จะใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2-5 เดือน
  • กระทงที่ทำจากโฟม จะใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 50 ปี

เพราะฉะนั้น กระทงที่เราทุกคนซื้อมาลอยกระทงเพื่อบูชาหรือขอขมาพระแม่คงคา เพียงชั่วข้ามคืน (จริง ๆ คือภายในไม่กี่นาที) มันก็จะกลายร่างเป็นกองขยะขนาดมหึมา อย่างในงานลอยกระทงเมื่อปี 2564 ซึ่งยังเป็นปีที่การจัดงานลอยกระทงอยู่ภายใต้มาตรการการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด พบว่ามียอดจัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ที่ 403,235 ใบ แม้ว่าจะลดลงจากปี 2563 กว่า 80,000 ใบ แต่ในปี 2565 นี้ ผู้คนอาจพากันออกมาเที่ยวคืนวันลอยกระทงมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคลงไปจนเกือบจะเป็นปกติแล้ว จำนวนขยะกระทงก็อาจจะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน กระทงที่ไม่ว่าจะสวยแค่ไหน ก็สวยได้แค่อึดใจเดียวจริง ๆ

และแม้ว่าขยะกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติจะสามารถส่งไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ก็ตาม แต่ก็ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการเก็บและคัดแยกขยะกระทงเหล่านี้ค่อนข้างสูง กระบวนการกำจัดขยะก็มักจะได้ผลผลิตสุดท้ายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อยด้วยเช่นกัน ดังนั้น การที่ใครบางคนยกเลิกการลอยกระทงจริง ๆ ของตัวเอง แล้วเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อลอยกระทงออนไลน์ จึงมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดจำนวนขยะ และช่วยดูแลแหล่งน้ำให้มันสะอาดในแบบที่มันควรจะเป็น

หลายคนอาจจะอ้างว่าทีเมื่อก่อนเขาก็ลอยกันได้ ไม่เห็นต้องมาคิดเยอะคิดมากเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ ก็ต้องเข้าใจว่าสภาพสิ่งแวดล้อมสมัยเมื่อหลายปีที่แล้วกับปัจจุบันมันต่างกันมาก สิ่งแวดล้อมทุกสิ่งอย่างถูกรบกวน ถูกทำลายลงทุกปี สภาพมันก็ย่อมเสื่อมและเลวร้ายลงเป็นธรรมดา (ผู้กระทำก็ไม่ใช่ใครอื่นอีก มนุษย์อย่างเรา ๆ) ในขณะที่ประชากรโลกก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทรัพยากรต่าง ๆ ถูกใช้งานเกินขีดความสามารถ และไม่มีเวลามากพอที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์แบบเมื่อก่อน มนุษย์เราจึงถูกปัญหาสิ่งแวดล้อมกลับมาเล่นงานกันเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน