โพสต์รูปคู่เครื่องดื่ม “แอลกอฮอล์” แบบไหนเข้าข่ายผิดกฎหมาย

ภาพจาก Pixabay

ในยุคที่ใครๆ ต่างก็โพสต์รูปในโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างอิสระเสรี  ข่าวห้ามโพสต์รูปคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในโลกออนไลน์จึงกลายเป็นประเด็นใกล้ตัวที่หลายคนให้ความสนใจ

ทั้งนี้ เป็นเพราะไม่แน่ใจว่าการโพสต์รูปในแบบไหนถึงเข้าข่ายว่าผิดกฎหมายพระราชบัญญัติเครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32  โทษฐานมีความผิดร่วมกันโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกทั้งยังมีการแชร์ข่าวต่อๆ กันด้วยว่า การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงเฉพาะบุคคลสาธารณะ หรือคนดังในสังคมเท่านั้น แต่คนธรรมดาทั่วไปก็มีสิทธิ์ถูกจับด้วยเช่นกัน หากมีเจตนาโฆษณา

ทำความเข้าใจ “มาตรา 32”

พ.ร.บ.เครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า  ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

นิยามของคำว่า “โฆษณา”

ขณะที่มาตรา 3 ของพ.ร.บ.เครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้นิยามคำว่า  “โฆษณา” ไว้ว่า หมายถึงการกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด
ส่วนคำว่า “การสื่อสารการตลาด” หมายความว่า การกระทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการหรือภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดงสินค้า การจัดหรือสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ และการตลาดแบบตรง

ผิดไม่ผิด ดูที่ “เจตนา”

พล.ต.อ.ดร.วิระชัย ทรงเมตตา ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่ว่าเป็นชาวบ้านหรือดารา ก็ถือว่ามีความผิดเหมือนกัน หากถ่ายรูปในลักษณะที่โชว์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนำไปลงในโซเชียล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูที่ “เจตนา” เป็นสำคัญ  ซึ่งเจตนาในที่นี้หมายถึง ประสงค์ต่อผล และเล็งเห็นผล  ไม่ว่าจะได้รับเงินค่าจ้างมาหรือไม่ก็ตาม

โพสต์แบบไหนเข้าข่ายโฆษณา

นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญว่าในการโพสต์รูปนั้นๆ มุ่งหวังโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ เพราะการโฆษณาผ่านบุคคลสาธารณะถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เห็นผล

โดยการโฆษณาที่เข้าข่ายกระทำผิด  ได้แก่ อวดอ้างสรรพคุณ, ใช้คนดัง หรือเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นผู้โฆษณา, แสดงภาพสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , ชักจูงเชิญชวนให้ซื้อ , ให้รางวัล ของแถม ชิงโชค , ใช้ภาพการ์ตูน และโฆษณาเกินเวลา 22.00-05.00 น.

บทลงโทษผู้กระทำผิด

ส่วนโทษปรับสำหรับผู้กระทำความผิดครั้งแรกนั้น  สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสั่งปรับไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แต่หากถูกจับเป็นครั้งที่ 2 จะสั่งปรับไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ขณะที่ผู้ผลิตผู้ขายที่มีเจตนาโฆษณาชัดเจน มีโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท