“นักอาชญาวิทยา” กับการอ่านใจฆาตกร ผู้ต่อจิกซอว์ในหลายคดี

นักอาชญาวิทยา เป็นผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางอาญาของคนในสังคม เช่น การก่ออาชญากรรม และส่วนที่เป็นกระบวนการที่สังคมใช้ในการบังคับควบคุมอาชญากร กล่าวคือเป็นอาชีพที่หาสาเหตุของการกระทำความผิดว่ามาจากเหตุใด กระบวนการกระทำผิดเป็นอย่างไร และดูแลเพื่อหาทางป้องกันแก้ไขมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำขึ้นในสังคม หรือปรับปรุงแก้ไขผู้ที่กระทำผิดให้กลับเข้ามาเป็นคนดีสู่สังคมต่อไป นักปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องสวมบทบาทของนักอาชญาวิทยาด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ตำรวจ นักกฎหมายศาลเยาวชน และครอบครัว พนักงานคุมประพฤติ อัยการ และนักสังคมสงเคราะห์

“รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้คนต้นคิดฟังถึงเหตุการณ์กราดยิงที่ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ในพื้นที่ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ว่าจากเหตุการณ์นี้ ต้องยอมรับว่าเหตุกราดยิงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป เรื่องนี้น่าสนใจมาก เราไปฟังบทสัมภาษณ์คนต้นคิดวันนี้กัน

ทำไมมุ่งมั่นกับการเป็นนักอาชญาวิทยา

ปกติเราก็มีความสนใจตั้งแต่ที่เราสอบเข้าเป็นตำรวจ ก็ไปสอบเป็นนายร้อยตำรวจตามระบบ เรียนจบก็ได้ทำงานในสายงานตำรวจ เป็นตำรวจได้จับในหลายคดี แต่บางอย่างเราอยากจะจับแต่เราจับไม่ได้ อาจจะมีปัจจัยปัญหาอุปสรรคอะไรบางอย่าง ด้วยความที่เราเป็นตำรวจก็เลยทำไม่ได้ เลยกลายเป็นประเด็นว่าทำไมเราถึงไม่สามารถจับคนร้ายที่กระทำความผิดคนนั้นไม่ได้ หรือจับไปแล้วคนกระทำผิดก็ยังไม่หมด ไม่มีแนวโน้มที่จะหมดไปเลย กลับมีเพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้ใช้สารเสพติด เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ก็มีการจับกุม รวมทั้งผู้ค้ายาเสพติด โทษก็ร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต แต่คนก็ยังค้ายาเสพติดอยู่ คดีฆ่ากันแบบนี้ โทษสูงสุดก็คือประหารชีวิต แต่คนก็ยังฆ่ากันอีก

ในมุมมองของตำรวจ ก็คิดว่าเราจับคนร้ายในคดีต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ มันจะมีวันหมดไหม และระบบงานของตำรวจที่เราทำอยู่เนี่ย ไม่ใช่ว่าทุกคดีเราทำแล้วจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานข้างเคียง ทำให้เรากลับมาคิดถึงงานปัจจุบันที่เราทำอยู่ เราอยากพัฒนา อยากทำอะไรในหลาย ๆ อย่าง มันไม่เหมือนตอนที่เราเรียนเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ถ้าเราอยากทำงานเป็นตำรวจต่อไป ก็จะทำได้ถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้น โอกาสที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาสู่การพัฒนาในเชิงนโยบายคิดว่าคงจะเกิดขึ้นได้ยาก ในฐานะผู้ปฎิบัติหน้าที่ที่จะสื่อสารไปยังผู้กำหนดนโยบาย เพราะในระบบของตำรวจเองผมว่าไม่เอื้อที่จะทำให้คนทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการโปรโมต ซึ่งเป็นระบบราชการที่เหมือน ๆ กันทุกที่

ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจ ถ้าเราได้มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ และสามารถมาเผยแพร่องค์ความรู้เอง เราก็มีโอกาสได้สื่อสารทั้งจากผู้ปฏิบัติ ผู้กำหนดนโยบาย สื่อสารทั้งในภาคประชาชน ในมุมของการป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรม การแก้ไขปัญหาการตกเป็นเหยื่อ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการเป็นตำรวจ เลยตัดสินใจไปทำงานวิชาการ เลยตัดสินใจไปเรียนปริญญาโท และปริญญาเอกที่อังกฤษด้วยทุนส่วนตัว แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องติดเงื่อนไขการใช้ทุนอะไรเลย

ในจุดหนึ่ง ถ้าวันนี้เรายังเป็นตำรวจอยู่ ก็คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากครับ เลยมาอยู่ในจุดที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอะไรที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด

เขาบอกว่าคนเราเนี่ย จะดูว่าคนนี้เป็นอย่างไร ให้ดูประวัติศาสตร์ของคน ๆ นั้น ถูกไหมครับ เช่น คนที่บอกว่าอยากมีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาเอาเปรียบคนอื่นมาตลอด ใช้เส้นสายวิ่งเต้นแบบนั้นแบบนี้ แต่พอวันหนึ่งมาอยู่จุดนี้แล้วบอกว่าจะทำดี ตัวเองอาจไม่ได้คิดแบบนั้น ตัวเองคิดว่าไม่เป็นไร เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งนี้ เราก็ต้องเลือกไปอยู่ในจุดที่ไม่มีผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นในสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่บอกว่าอยากจะเกิดการพัฒนา อยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราก็ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ได้ว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

นักอาชญาวิทยามีส่วนในการต่อจิกซอว์ในแต่ละคดีอย่างไร

การศึกษาด้านอาชญาวิทยา ได้ศึกษาทั้งมูลเหตุแรงจูงใจในหลาย ๆ คน และศึกษาถึงแนวทางการก่ออาชญากรรมในต่างประเทศมีรูปแบบอย่างไรกับคน รวมทั้งมีงานวิจัยมารองรับ เช่น ทำไมคนถึงกระทำความผิดซ้ำ ทำไมถึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำไมถึงก่ออาชญากรรมร้ายแรงทั้งที่ยังเป็นเยาวชน ทำไมคนนี้แค่โมโหกันก็สามารถจะฆ่าหั่นศพกันได้ ทั้งที่เป็นคนรักหรือเคยรักมาก่อน พวกนี้จะมีงานวิจัยรองรับ เพราะฉะนั้น เวลาเกิดเคสสำคัญ ๆ เพราะผมเรียนทางด้านอาชญาวิทยามา เป็นตำรวจมา ทำให้เกิดความเข้าใจในมุมเหล่านี้

การเป็น “นักอาชญวิทยา” ต้องวิเคราะห์พฤติกรรมคนร้าย 

เวลาที่ผมสอนนักเรียนนายร้อยตำรวจ ผมจะสอนเขาว่าให้เราคิดว่าเราเป็นคนร้าย เป็นคนก่อเหตุ เราจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่น ก่อเหตุชิงทรัพย์ ถ้าเราเป็นคนร้ายเราจะทำทางใดได้บ้าง จะทำอย่างไรให้ตำรวจตามจับได้ให้ยากที่สุด ต้องให้ตำรวจคิดมุมกลับเหมือนเป็นคนร้าย เพราะตำรวจจะได้หาปิดช่องโหว่ ช่องว่าง ไม่ให้คนร้ายก่อเหตุ หรือก่อเหตุได้น้อยที่สุด เรียกว่าลดช่องโอกาสให้คนร้าย

ในกรณีที่เกิดขึ้นก็เช่นกัน กลับกันถ้าเราเป็นตัวเขา ตัวผู้ก่อเหตุ แน่นอนครับเราต้องรู้สึกว่าเรามีความกดดันจากการทำงานของการเป็นตำรวจ ความเครียดที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตรงนี้เราจะเข้าใจในมุมมองตรงนี้ทั้งหมดเลยครับ เข้าใจในความเป็นวัฒนธรรมความเป็นตำรวจ เข้าใจในการทำงานบนพื้นฐานความเครียด เข้าใจในการทำงานบนพื้นฐานความขาดแคลน และเข้าใจว่าทำไมตำรวจคน ๆ หนึ่งเขาถึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อสารเสพติด

เพราะตำรวจที่ทำงานการจับกุมยาเสพติด เคยจับยามายาก็ไปอยู่ในความครอบครองของตำรวจเป็นแสนเม็ด ที่เป็นของกลาง หรือในระดับโรงพักอาจมีแค่หลักร้อย หลักพัน นั่นหมายความว่าถ้าตำรวจมีภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีพอ ก็อาจจะมีบ้างที่อาจจะหลุด อาจจะหลงเข้าไปลองไปใช้ อาจจะติดใจและใช้อย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ก็อาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องมีการทบทวนมาตรการเหล่านี้ ให้ความสำคัญ

ถามต่อแล้วภูมิคุ้มกันตรงนี้มาจากไหน? แต่เดิมเขาจะมีการอบรมโรงเรียนตำรวจ จะมีการปลูกฝังทั้งโรงเรียนนายสิบตำรวจ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทั้งคุณธรรมและจริยธรรม ผมเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเขามีแน่นอน แต่พอจบออกมาแล้วจะต้องมีการปลูกฝัง เป็นการเติมภูมิคุ้มกัน เหมือนกับการฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนโควิด-19 เรามีเข็มแรกเรายังต้องมีเข็มสอง สาม และสี่ ก็เพราะว่าเชื้อโรคมันกลายพันธุ์ คนเราออกมาทำงานก็เหมือนกัน พอจบออกมาเราก็ต้องมีการเติมภูมิคุ้มกันให้กับเขา เพราะว่าโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน สิ่งรอบตัวมีสิ่งล่อตาล่อใจเยอะ มีผลประโยชน์ล่อตาล่อใจมาก สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการอบรมปลูกฝัง เน้นย้ำและมีตัวอย่างที่ดี คนทำไม่ดีต้องโดนลงโทษ ต้องถูกออกมาจากหน่วยงาน และตามหลักแล้วต้องโดนเป็นมาตรฐานเดียวกัน ก็จะทำให้องค์กรเห็นว่าทำสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้องแล้ว และก็มีการซึมซับสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องครับ

อาจจะเป็นเพราะว่าการขาดแคลนงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สิ่งที่ผมพูดมา สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดแทบไม่มีเกิดขึ้นเลยครับ เหมือนกับเราฉีดวัคซีนไปแล้วใช่ไหมครับ ปรากฏว่าผ่านไป 1 ปี กลายพันธุ์ เราไม่ฉีดวัคซีนเพิ่มสุดท้ายก็ติดเชื้อโรค การทำงานของตำรวจก็เหมือนกันครับ มีการอบรมสมัยเป็นนักเรียนตำรวจ เหมือนเป็นการเติมวัคซีนให้เข็มแรก พอจบออกมามีการอบรม แต่ไม่มีการปลูกฝังเรื่องพวกนี้หรือปลูกฝังแต่ว่าเล็กน้อย ไม่มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้ดู เพราะเข้าใจกันดีว่าระบบตำรวจมีการแต่งตั้งโยกย้าย ในส่วนที่เป็นข่าวครับ อาจมีปัญหาเรื่องระบบคุณธรรม ธรรมาภิบาล อะไรแบบนี้ พอเราไม่มีการเติมวัคซีน สุดท้ายก็มีการกระทำผิดเกิดขึ้นครับ

การทำงานของตำรวจ เป็นปัญหาในเชิงระบบ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าผู้นำเบอร์หนึ่งเป็นตำรวจคนไหนเข้ามาก็ตาม ต้องบอกว่ายากมากครับที่จะแก้ระบบตรงนี้ได้ เหตุผลเพราะว่าโดยลำพังตัวคนเดียว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะว่าตำรวจขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีโดยกฎหมาย

“คดียิงกราดหนองบัวลำภู” ในฐานะนักอาชญาวิทยา คดีนี้มองได้กี่ประเด็น

ต้องมองไปที่ผู้ก่อเหตุครับ อย่างที่กล่าวกันมาว่าเป็นเรื่องปัญหาสภาพจิตใจของเขา คิดว่าไม่ปกติแน่ ๆ ทำกับเด็ก ๆ แบบนี้ ทำกับผู้หญิงแบบนี้ เพราะโดยปกติการปลูกฝังในฐานะตำรวจเขาจะไม่ทำกันนะ เด็ก ผู้หญิง คนไม่ต่อสู้ แม้กระทั่งเชลยที่เราไปรบ เชลยในศึกสงคราม เขาชูมือแล้ววางอาวุธ ทหารเขายังไม่ยิงเสียชีวิตเลยนะ เป็นหลักสากลไง เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่นี่เขากลับทำ เลยทำให้เข้าใจได้ว่าสภาพจิตใจเขาไม่ปกติ

ต่อมาความเครียดสะสมที่ตัวเขา ผมเชื่อว่าเขามีความเครียดแน่นอน ซึ่งตัวเขาเองอาจไม่รู้ว่าตัวเขามีปัญหาทางสภาพจิตใจ ความเครียดเกิดจากทางไหนครับ เรื่องการทำงาน การเป็นตำรวจ ฝ่ายผู้บังคับบัญชาด้วยไหม และความเครียดจากการโดนไล่ออกจากงาน โดนดำเนินคดีอาญา สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ตัวเองแล้ว

ประการต่อมาปัญหาการจำกัดการเข้าถึงอาวุธปืน การครอบครองอาวุธปืน ตรงนี้ไม่มีการประเมิน ไม่มีการตรวจสอบ การประเมินหมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ครอบครองอาวุธปืนโดยหลักสากลจะต้องมีการประเมินทุก ๆ ปี ว่ามีความพร้อมหรือไม่ในการครอบครองอาวุธปืน และเป็นเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมเชื่อว่าไม่มีตรงนี้ หรือมีแต่น้อยมาก ๆ ตำรวจมีจำนวนสองแสนกว่านาย เจ้าหน้าที่ที่ใช้อาวุธมีกี่เปอร์เซ็นต์ มีการประเมินครบทุกคนหรือไม่ ผมบอกได้เลยว่าไม่ครบทุกคนครับ เพราะฉะนั้น ตรงนี้จึงทำให้เกิดปัญหา

ประการต่อมาเวลาที่เจ้าหน้าที่เขาโดนดำเนินคดีอาญา ถูกไล่ออกจากราชการ ปรากฏว่ายังสามารถให้มีใบอนุญาตครอบครองให้มีอาวุธปืนได้ต่อ และปืนที่ใช้ก็ยังเป็นปืนประจำการส่วนตัวตามข่าว ตรงนี้เป็นช่องโหว่ช่องว่างที่ไม่มีการทบทวน ไม่ได้มีการมาติดตามดู โดยผู้รับผิดชอบคือกระทรวงมหาดไทย

ประการต่อมาคือในระดับนโยบายในการจำกัดครอบครอง เพราะการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เห็น ที่กล่าวไปคือ ตำรวจก็พยายามปัดกันกวาดบ้านตัวเองให้พ้นไปจากหน่วยงาน เพราะว่าเขาทำไม่ถูกต้อง ในสิ่งนี้ต้องชื่นชมนะครับเพราะทำถูกแล้ว เพียงแต่ในเรื่องของการส่งต่อเพราะคนคนนี้ไม่ได้ออกไปจากโลกใบนี้ เขาก็ยังอยู่ในประเทศไทยอยู่เลย เขาก็กลับไปอยู่กับชุมชน แต่พอกลับไปอยู่กับชุมชนกลายเป็นว่าเขาถูกตีตรา อาจถูกพูดเสียดสี ตำรวจขี้ยา หรืออะไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องไปเช็กนะครับ

เรื่องของการติดยาเสพติด คนในชุมชนนั้นรู้แน่นอนอยู่แล้ว เพราะเขาถูกไล่ออกถูกไหม เผลอ ๆ ขึ้นศาล นี่ไงเป็นปัญหาแล้ว อีกประการต่อมา การแก้ไขฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ในเชิงนโยบายเรื่องของชุมชนเข้มแข็ง ในประเทศไทยมีการพูดแนวคิดนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว แต่เรามีไหม “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่แก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นรูปธรรมในประเทศไทย มันก็คงมีบ้างครับ แต่มีทุกจังหวัดมีทุกอำเภอไหม ผมเชื่อว่าไม่มีทุกอำเภอ ตอบได้เลย แต่ถามว่ามีไหม ก็คงมีบ้าง เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเป็น 10 ปี แนวคิดชุมชนเข้มแข็ง ทำไมเราถึงไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้

และขณะเดียวกันทำให้ดีมานด์เพิ่มมากขึ้น คนมาทดลองใช้ยาเสพติดมากขึ้น แล้วยังมีนโยบายกัญชาเสรีมากระตุ้นอีก ทำให้สังคมนี้เปลี่ยนมายเซตว่า กัญชาถูกกฎหมายนะ แต่ไม่ยอมเน้นว่าใช้เฉพาะการแพทย์ไง กลายเป็นเข้าใจว่าส่วนหนึ่งใช้สันทนาการด้วยได้นะ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นช่องโหว่

ผมมีไปพูดมาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เขาใช้กัญชาสันทนาการได้แต่รัฐควบคุม ใช้ในปริมาณที่จำกัดเช่น ใช้ใน Coffee Shop เท่านั้น แต่ประเทศไทยไม่ใช่ไม่เน้นตรงนี้ ทีนี้กลายเป็นเรื่องของการเมือง เป็นนโยบายทางการเมือง ผลประโยชน์ทางการเมือง ส่วนหนึ่งคนใช้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นก็มาขอโทษก็ไปไกลละ แล้วก็เพิ่งมาออกกฎหมายอะไรแบบนี้

ประเด็นนี้ทำให้มองให้เห็นว่าในเมื่อกระทรวงสาธารณสุขผู้รับผิดชอบหลักเป็นเจ้าภาพในการบำบัด แก้ไขฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ผู้ใช้สารเสพติดทำหน้าที่ได้ดีเพียงพอไหม ในขณะที่ต้องมารับลูกนโนยาบทางการเมืองต่อว่า “ไปคิดมา กัญชาต้องเสรีนะ” ปัญหาแรกยังแก้ไม่ได้ ผู้ใช้สารเสพติดก็ยังเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจาก ปปส. เป็นข้อมูลจากผู้กระทำความผิด ใช้ยาเสพติด เรื่องเก่ายังแก้ไม่ได้ มีเรื่องใหม่เข้ามา เอาเรื่องกัญชาขั้นมาเสรีอีก มันเลยผสมปนเปไปกันหมด ปัจจุบันการแก้ไขฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ยังไม่เป็นรูปธรรมถึงส่งผลถึงปัญหาในเรื่องนี้ด้วย

ประการต่อมาคือ การบูรณาการหลักนโยบายหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชุมชน ก็จะตอบโจทย์เรื่องของชุมชนเข้มแข็ง คือ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในชุมชน ถ้าไม่มีต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกชุมชนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางตามธรรมชาติ ผู้นำตามตำแหน่ง ภาคธุรกิจ เอกชน ผู้นำศาสนา สมาชิกในชุมชน ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านบำบัดยาเสพติด ด้านให้คำปรึกษาด้านจิตเวช จิตแพทย์ ถ้าไม่มีต้องขอคำปรึกษาจากภายนอกชุมชน แต่ปรากฏว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบอกว่า อยากทำนะ แต่เวลาจะอบรมตำรวจอาสาสมัคร ตำรวจท่องเที่ยว สำนักงบประมาณทำไม่ได้ และโดนเรียกให้ไปคุย

สำนักงบฯ ก็เกิดการไม่เข้าใจอีก ว่าชุมชนต้องมีการดูแลเรื่องความปลอดภัย เพื่อสร้างความสงบสุขให้สังคม นี่คือปัญหาในเชิงนโยบาย ผู้ที่กำหนดนโยบายต้องเข้าใจในมิติเหล่านี้ก่อนสิครับ ถึงจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าเราไม่ศึกษางานวิจัย ไม่ฟังนักวิชาการ ไม่ถอดบทเรียนจากต่างประเทศว่าเขามีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร สุดท้ายแล้วเราก็กลับมาอยู่ในจุดเดิม หรือแย่กว่านั้นคือถอยหลังกว่าเดิม

“ระบบอุปถัมภ์” มีส่วนในคดีต่าง ๆ หรือไม่

จากงานวิจัยบอกว่ามีผลครับ งานวิจัยของในประเทศและต่างประเทศ เขายืนยันเลยครับว่าระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทย ส่งผลต่อความยุติธรรมในสังคม ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม แม้กระทั่งรายงานการปฎิรูปประเทศ รายงานของคณะกรรมการการปฏิรูปตำรวจ มีความเห็นตรงกันหมดเลยครับว่า “มีผล” ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม และความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรม

เราจะมีวิธีสังเกตพฤติกรรมคนรอบข้างอย่างไร

สิ่งแรกเลย เราต้องทำอย่างไรก็ได้ครับ ให้ตัวเองเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อให้ได้น้อยที่สุด เช่น ถ้าเราเป็นผู้หญิงต้องออกนอกบ้าน การใช้เครื่องประดับราคาแพงต้องระมัดระวัง การถือกระเป๋าแบรนด์เนมต้องดูสถานที่ว่าเราจะไปที่ไหน โอกาสจะเกิดการวิ่งราวชิงทรัพย์มีไหม เป็นเป้าเป็นที่หมายปองของคนร้ายหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่าคนไหนคือคนร้าย และไม่รู้ว่าจะเกิดที่ไหนเมื่อไร เราต้องคิดเสมอว่าเรามีโอกาสตกเป็นเหยื่อเมื่อเวลาออกนอกบ้าน แม้กระทั่งอยู่ในบ้านก็ยังมีโอกาสตกเป็นเหยื่อเลยใช่ไหม ในเมื่อรัฐไม่สามารถดูแลความปลอดภัยให้เราได้เต็มที่ เราต้องดูแลตัวเองก่อนอันดับแรก

ประการต่อมาคือสถานที่ที่เราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่พักอาศัย ตามหลักวิชาการก็ต้องมีการตัดแต่งกิ่งไม้ มีไฟฟ้าส่องสว่าง และต้องมีการวางแผนกรณีขอความช่วยเหลือ กรณีเกิดเหตุด่วนต้องทำอย่างไร หรือแม้แต่ในที่ทำงานต้องมีการพูดคุย มีการซ้อมแผนการเผชิญเหตุ การไปเดินห้างสรรพสินค้าก็ต้องให้ความสำคัญ เพิ่มการสังเกตมากขึ้นเช่น บันไดหนีไฟ ช่องทางหลบหนีเอาตัวรอด การฟังเสียงที่แตกต่างไปจากปกติ เช่น ได้ยินเสียงคล้ายประทัดดังติดต่อกัน ไม่มีใครจุดประทัดในห้างถูกไหมครับ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดปกติแล้ว อาจเกิดเหตุการณ์ยิงเกิดขึ้น ให้รีบวิ่งในทิศทางตรงกันข้ามหรือหาที่ซ่อน ตลอดจนการต่อสู้ป้องกันตัว

สังคมไทยเราคงมีความเสียใจร่วมกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขนาดผมเองก็เสียใจ และเป็นผู้ให้ความเห็นด้านวิชาการมาเป็น 10 ปี เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกคนเสียใจมากที่สุดเลย เพราะว่าน้อง ๆ หนู ๆ เขาไม่รู้เรื่องด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้น แน่นอนว่าเราให้ครั้งนี้เป็นบทเรียน แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าเราไม่ต้องมาถอดบทเรียนกันอีกในครั้งต่อ ๆ ไป นั่นหมายความว่าเราต้องมีการบูรณาการการทำงานอย่างจริงจัง

สำหรับเรื่องนโยบายต้องให้ความสำคัญเรื่องพวกนี้ ปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร ทำไมถึงยังแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้เพราะอะไร เราต้องเอาคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นตัวนำ มากกว่าเอาเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หมายความว่าขอให้มองเรื่องคุณภาพชีวิตของคน เรื่องความปลอดภัย การใช้ชีวิต ให้คนเนี่ยอยู่กันอย่างมีความสุข ไม่ใช่ฝนตกแป๊บเดียวน้ำท่วมอีกแล้ว คำถามคือ หน่วยงานไหนรับผิดชอบ หรือจะไปเดินตรงนี้เดี๋ยวกลัวโดนยิง ขับรถบนท้องถนนก็ปาดกันไปปาดกันมา หน่วยงานไหนต้องรับผิดชอบ มีอยู่ทฤษฎีหนึ่งเขาเรียกว่า แนวคิดทฤษฎีหลักโครงสร้างหน้าที่ ใครมีหน้าที่อย่างไรทำให้ดีที่สุดในหน้าที่นั้น แล้วสังคมจะสงบสุขครับ