วันหัวใจโลกตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ โดยพบว่าประชากรทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเป็นอันดับ 1 มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด และพันธุกรรม จะเห็นได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อร่วมรณรงค์ให้ทุกคนดูแลหัวใจตนเองให้แข็งแรง วันนี้จะเรามาทำความรู้จักกับโรคหัวใจกัน โรคหัวใจโดยทั่วไปจำแนกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- กลุ่มที่มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
- กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน
- กลุ่มที่มีการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น โรคหัวใจเต้นพลิ้ว เป็นต้น
อาการของโรคหัวใจมีอะไรบ้าง?
- อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการสำคัญของโรคหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามอาจเกิดจากโรคอื่นได้ด้วย ลักษณะอาการเจ็บหน้าอกที่ชวนสงสัยว่าอาจเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ เจ็บแน่นคล้ายถูกของหนักทับ มักเป็นบริเวณกลางอก ไม่สามารถระบุจุดที่ปวดมากที่สุดชัดเจนได้ อาจมีร้าวไปที่ไหล่ สะบัก ขากรรไกร แขนซ้ายด้านใน หรือแขนทั้งสองข้างได้ อาการเจ็บหน้าอกมักเป็นมากขึ้นตอนออกแรงหรือมีกิจกรรม และอาการจะทุเลาเมื่อหยุดพัก นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บหน้าอกจากสาเหตุอื่น ๆ
เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด จะมีความแตกต่างกันคือมีอาการเจ็บหน้าอกแบบแปลบแหลม เสียดแทงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ร้าวทะลุกลางหลัง อาจมีอาการเหนื่อยผิดปกติและหน้ามืดร่วมด้วย หรืออาการเจ็บจากภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจเจ็บบริเวณกลางอกค่อนไปทางด้านซ้าย เจ็บจี๊ด ๆ แหลม ๆ เป็นมากขึ้นเวลาที่หายใจเข้าหรือไอ
- อาการเหนื่อย ผู้ป่วยจะหายใจเร็วและตื้น ทำกิจกรรมได้อย่างจำกัด อาจมีอาการเป็นมากขึ้นตอนนอนราบ ทำให้นอนราบไม่ได้เมื่อนั่งหรือหนุนหมอนสูงแล้วจะดีขึ้น อาจมีอาการขาบวมร่วมด้วย
- อาการเขียว เกิดจากออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงลดลง อาจมีภาวะเขียวให้เห็นได้ทั้งที่ริมฝีปาก ใบหน้า หรือ ปลายมือปลายเท้า
- อาการใจสั่น อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าหัวใจของตนเต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ อาจเป็นชั่วคราวและหายเองหรือเป็นตลอดเวลา อาจมีอาการหน้ามืด วูบ ร่วมด้วย
- อาการวูบ หน้ามืด หรือหมดสติ อาจกินเวลาเพียงเสี้ยววินาที หรือเป็นนาทีได้ มีภาวะชักเกร็งได้หลังจากฟื้นรู้ตัว ผู้ป่วยมักจะกลับเป็นปกติ ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรงใด ๆ
วิธีการป้องกันโรคหัวใจและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงกิจวัตรที่ต้องนั่งเฉย ๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น นั่งหน้าทีวีเป็นระยะเวลานาน ควรออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว วิ่ง หรือแอโรบิก อย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนัก โดยวัดรอบเอวอย่างสม่ำเสมอ (ในคนเอเชีย ผู้ชายไม่เกิน 90 ซม. ผู้หญิงไม่เกิน 80 ซม.) และคิดคำนวณ BMI (นน. เป็นกิโลกรัมหารส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง) รักษาค่า BMI ให้อยู่ในระดับปกติเสมอคือ 18.5-24.9
- กำจัดมารหัวใจ (ความเสี่ยงโรคหัวใจ) ด้วยการงดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ รักษาโรคร่วมที่ส่งผลเสียให้กับหัวใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน (การรักษาในปัจจุบันมียาลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ดีอีกด้วย) ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง จำเป็นต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปกติ
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อหัวใจ ได้แก่ อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean diet) คือเน้นพวกธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้ ปลา ลดการบริโภคเนื้อแดง เลือกทานแต่ไขมันดี
- จัดการกับความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
สัญญา…ว่าจะดื่มกินอย่างชาญฉลาด
- ปรุงและรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี
- ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลและน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน ควรเลือกบริโภคน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ที่มีรสไม่หวานแทน
- เปลี่ยนจากการกินขนมหวานมากินผลไม้สดแทน เพื่อทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ
- พยายามงดเว้นอาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปซึ่งล้วนมีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง
สัญญา…ว่าจะกระฉับกระเฉงมากขึ้น
- ตั้งเป้าอย่างน้อย 30 นาทีกับการออกกำลังกายในระดับเข้มข้น 5 ครั้งต่อสัปดาห์
- เล่นกีฬา เดิน ทำงานบ้าน การเต้นรำ ล้วนเป็นการออกกำลังกาย
สัญญา…ว่าจะโบกมือลาบุหรี่
- เลิกสูบบุหรี่เป็นสิ่งเดียวที่ดีที่สุดที่ดูแลหัวใจให้มีสุขภาพดี
- หยุดสูบบุหรี่ภายใน 2 ปี จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ที่สำคัญอย่าละเลยที่จะตรวจเช็กสุขภาพ อย่างน้อยควรได้รับการตรวจเช็กว่าระดับไขมันโคเลสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอรอลในเลือดสูงเกินไปหรือไม่ เป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ และอัมพาตได้ หากพบว่ามีสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของหัวใจเกิดขึ้น เช่น หายใจไม่สะดวก เจ็บร้าวไปที่คอ กราม ลิ้นปี่ เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย ใจสั่น ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ