ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านบวกและลบ รวมไปจนถึงปัญหาความยากจน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสั่งสมมานาน เป็นภาวะความขาดแคลนไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในระดับบุคคลส่งผลให้เกิดความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิต รวมถึงการขาดโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลาย ๆ ด้าน และส่งผลต่อการพัฒนาในระดับประเทศตามมาในที่สุด
วันนี้คนต้นคิดจะพาไปรู้จักกับ “สมาคมไทบ้าน” ซึ่งมี ดร.ธีรดา นามไห เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของงานพัฒนาการศึกษาในชุมชน เพื่อความมั่นคงของชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่สร้างความสำเร็จสู่ชุมชนมาแล้วหลายโครงการ
สมาคมไทบ้าน เป็นองค์กรเกี่ยวกับอะไร
“สมาคมไทบ้าน” เป็นองค์กรที่พัฒนาชุมชนเล็ก ๆ สถานที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ในชุมชน มีเป้าหมายในการพัฒนาคน ให้เข้าใจมุมมองและความจริงของชีวิต ให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะการเห็นคุณค่าในตัวจะทำให้เราไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาคนเป็นเรื่องที่ใหญ่และสำคัญมาก เราใช้ “การสร้างอาชีพ” เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อการพัฒนา โดยดำเนินการภายใต้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ดิน น้ำ ป่า ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสัมมาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำภูมิปัญหาท้องถิ่นมาผสมผสานสร้างอาชีพ เช่น การผลิตข้าวอินทรีย์ที่ได้รับมาตรฐานสากล ทั้งหมดทั้งมวลเรามีการพัฒนาระบบบริหารจัดการแบบครบวงจร เป็นการพัฒนาธุรกิจบนฐานชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้
สถานการณ์ของการศึกษาไทยในปัจจุบัน กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ต้องบอกว่าการเริ่มต้นของเรื่องราวการศึกษาเริ่มต้นจากตัวเอง เพราะเราเห็นว่าในหมู่บ้านของเราไม่มีโรงเรียน ไม่มีแหล่งเรียนรู้ที่ดี เด็ก ๆ ในพื้นที่ต้องเดินทางไปเรียนในชุมชนอื่นซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป ปัญหานี้ถ้าในชุมชนหนึ่งไม่มีพื้นที่สำหรับการศึกษา ลูกหลานที่เกิดมาก็ไม่มีที่เล่นหรือแหล่งเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาตนเองได้เลย จิตวิญญาณความเป็นชุมชนมันหายไปตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก การไปเรียนที่อื่นทำให้เด็กไม่เกิดความผูกพันกับชุมชนที่เกิดมา และเมื่อโตขึ้นทำให้เห็นภาพคนในชุมชนไปทำงานที่อื่น ไม่อยากอยู่บ้าน หรือกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกิจกรรมที่มีชื่อว่า “โรงเรียนชุมชนชาวนา” พาเด็กและคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การศึกษาธรรมชาติเพื่อให้เห็นคุณค่าของป่าไม้ กิจกรรมนี้ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องสีจากเปลือกไม้ได้ผลงานชิ้นใหม่ “เสื้อผ้าจากสีเปลือกไม้” กลายเป็นสินค้า OTOP ประจำอำเภอ
เรื่องนี้เราอาจไม่ได้มองสิ่งที่สะท้อนปัญหาสังคมมากมาย แต่ใช้วิธีเรียนรู้และลงมือเพื่อการแก้ไขปัญหาทันที การที่เราได้กลับมาอยู่บ้านเกิดของตนเองกลายเป็นกำลังใจในการขับเคลื่อนการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก
การพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร
การศึกษาคือหัวใจของการพัฒนาคน เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด เพราะทำให้คนได้เรียนรู้โลกที่มันกว้างขึ้น ถ้าวันนี้เราต้องการโลกอนาคตที่ดี คนในปัจจุบันต้องมีคุณภาพ แต่ด้วยการศึกษาในปัจจุบันมีกรอบทางการศึกษา ไม่มีความยืดหยุ่น มีกฎต้องเรียนรู้และปฏิบัติตาม จริง ๆ แล้วมนุษย์เรามีธรรมชาติที่แตกต่างและหลากหลาย ทำให้ธรรมชาติที่สวยงามหลายหลายมันหายไปจากระบบการศึกษา การพัฒนาคนสู่ระบบที่ยั่งยืนต้องมีการศึกษาที่เข้าใจธรรมชาติของคน ออกแบบมีความยืดหยุ่น มีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย สอดคล้องตามธรรมชาตินั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ธรรมชาติถูกหล่อหลอมด้วยความเข้าใจ เปิดโอกาสและให้เสีรีภาพอย่างเต็มที่ จะมีการเติบโตที่ไม่สิ้นสุด
โครงการที่ทำไปแล้ว ผลที่ได้รับ สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ทุกโครงการเป็นความสำเร็จที่ไม่หยุดนิ่งมีการต่อยอดความสำเร็จอยู่เรื่อย ๆ เรื่องที่เป็นรูปธรรมและเห็นได้ชัดคือ การทำเกษตรอินทรีย์ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน เราเป็นต้นแบบของการสร้างอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันเราเน้นเรื่องนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่ากับสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผลผลิตจากลูกมะกอกที่เรานำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการแปรรูปเป็นมะกอกผง เกิดเป็นแบรนด์ที่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เป็นเอกลักษณ์เด่นประจำตำบล ภายใต้ศูนย์นวัตกรรมปลาบู่บ้านพลังปัญญา ซึ่งเป็นหน่วยที่พัฒนาอาชีพต่าง ๆ ที่หลากหลาย
เรื่องต่อมาคือการพัฒนาทางการศึกษาบนฐานชุมชน มีการจัดตั้งชุมชนโรงเรียนชาวนา เราจัดตั้งชุมชนในการอยู่ร่วมกัน ใช้ฐานอาชีพต่าง ๆ กลายเป็นผู้นำทางด้านจิตอาสาระดับจังหวัด พัฒนาเป็นหลักสูตรโพธิปัญญาสัมมาชีพ เป็นการศึกษาทางเลือกระดับปริญญาตรี รวมไปจนถึงการดูแลสุขภาพองค์รวมด้วยแพทย์แผนไทย การสร้างศักยภาพให้ อสม. ผ่านการพัฒนาต่าง ๆ เกิดเป็นโครงการยั่งยืนแบบครบวงจร
ปัจจุบันดำเนินการโครงการอะไรอยู่บ้าง
ปัจจุบันกำลังทำโครงการ “Access School – ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน” เป็นโครงการต่อยอดทางการศึกษา ที่ได้รับทุนสนับสนุนโดยสหภาพยุโรป หรือ EU ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตน ไม่ว่าจะโรงเรียนหรือครู กับภาคส่วนที่ดูแลโดยตรง เพราะเรารู้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้ในห้องเรียนไม่พอต่อการพัฒนา
Access School จึงเป็นโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา บทบาทหน้าที่ของสมาคมไทบ้านเราไปจัดตั้งและไปค้นหาผู้นำในจังหวัดนั้น ๆ และร่วมกันจัดตั้งให้เกิดกลไกนี้ หลังจากนั้นเราก็ไปทำงานร่วมกับผู้นำ เข้าไปช่วยเหลือด้านต่าง ๆ กับโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือก ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานการทำงานให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาทางการศึกษาแบบมีส่วนร่วม
ประทับใจอะไรบ้างจากการเป็นนักพัฒนามานาน อะไรคือบทเรียนที่ควรนำมาใช้ในการทำงานในบริบทปัจจุบัน
ประทับใจทุกอย่างที่ได้ลงมือทำ เนื่องจากเราเป็นคนที่คิดบวกทำให้ไม่จมอยู่กับปัญหาที่เจอ แต่เมื่อเจอปัญหาจะมองหาสิ่งที่เป็นโอกาสเพื่อพัฒนาต่อทันที เกิดพลังที่จะสร้างสรรค์ทุกอย่างให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดคือเราได้เห็นการเติบโตของคนที่อยู่แวดล้อมตัวเรา หากวันหนึ่งถ้าไม่มีเราเขาก็สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง เพราะเราได้เปลี่ยนความคิดหรือได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีหรือได้มอบชิ้นส่วนสำคัญให้เขาเรียบร้อยแล้ว สิ่งนี้แหละคือการสร้างคนให้เกิดปัญญาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
อยากเห็นภาพของสังคมเป็นอย่างไร
ยังคงพูดและคิดเหมือนเดิมว่า “อยากเห็นคนในสังคมสามารถเอาตัวรอดได้” เมื่อเกิดปัญหาสามารถแก้ไขปัญหาได้เอง อยากเห็นระบบการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เกิดการแบ่งปัน อยู่บนพื้นฐานของความพอดี ไม่อยากให้ทุกคนอยู่ด้วยความอยาก เพราะความอยากนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งหมด สามารถเป็นชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกันได้ การเรียนรู้โลกภายนอกไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้โลกภายใน การเรียนรู้โลกภายในอย่างมีพลังจะเปลี่ยนโลกภายนอกให้ดีโดยอัตโนมัติ