รถกู้ภัย ยิ่งเร็ว ยิ่งต้องปลอดภัย

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างที่ผมกดรีโมตหาอะไรดูใน Netflix หน้าของ พี่เวียร์-ศุกลวัฒน์ ก็เด้งขึ้นมาเป็นซีรีส์ยอดฮิตประจำสัปดาห์ กับซีรีส์สัญชาติไทยเรื่องล่าสุด “Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง” ผมเลยกดเข้าไปดูเสียหน่อย ว่ามีกี่ตอน!

ปรากฎว่ามีทั้งหมด 6 EP. ครับ ถือว่าไม่เยอะเท่าไหร่ สามารถจัดการได้ภายใน 2 วัน (ฮ่า ๆ) เลยตัดสินใจกดดูครับ เนื้อหาหลัก ๆ เป็นการตีแผ่ด้านมืดของคนที่สร้างภาพเป็นคนดี และหากินกับมูลนิธิกู้ภัย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีฉากรถกู้ภัยของมูลนิธิให้เห็นอยู่เป็นระยะในแต่ละ EP.

ฉากการขับรถด้วยความเร็วของเจ้าหน้าที่กู้ภัย รวมถึงจังหวะแย่งผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ด้วยการขับให้ถึงที่เกิดเหตุเร็วที่สุด เป็นฉากที่ถูกนำเสนออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนเป็นการจิกกัดสังคมกู้ภัยในบ้านเราอยู่เล็กน้อย

กรณีการแย่งผู้บาดเจ็บไม่ขอพูดถึงแล้วกันครับ แต่ประเด็นที่อยากจะหยิบมาก็คือความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ขับรถกู้ภัยเอง รวมถึงผู้คนรอบข้างบนท้องถนน เพราะในชีวิตจริงผมเชื่อว่าทุกท่านย่อมต้องเจอสถานการณ์เปิดทางให้รถกู้ภัยกันมาอย่างแน่นอน

เป็นเรื่องจริงครับที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องทำงานภายในความเร็วเป็นหน่วยวินาที เพราะมันคือความเป็นความตาย ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ประเมินว่ารถกู้ภัยจะต้องถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด หรืออย่างช้าต้องไม่เกิน 15 นาที นับจากมีการแจ้งเหตุ

ทว่าบ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวรถกู้ภัยประสบอุบัติเหตุ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นครับ เพราะคนที่อาสาเพื่อไปช่วยชีวิตคนอีกคน ไม่ควรที่จะต้องเสียชีวิต มันคือความเสียหายที่ซ้ำซ้อน แม้ไม่มีใครตั้งใจอยากให้มันเกิดก็ตาม

ด้วยความเคารพพี่ ๆ ที่ทำหน้าที่ขับประจำรถกู้ภัย หลายท่านทำหน้าที่ตรงนี้มานาน มีประสบการณ์มากพอที่จะขับรถให้ความเร็วและปลอดภัย แต่ถึงจะขับเก่งแค่ไหน อุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการขับในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ไม่รู้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในสนามแข่งรถ นักขับจะมีสัญญาณธงเตือนให้รู้หากมีอุบัติเหตุอยู่ในเส้นทาง รวมถึงมีสิ่งผิดปกติลงมากีดขวางเส้นทางความเร็ว แต่เส้นทางของหน่วยกู้ภัย ไม่อาจรู้ได้เลย บางทีจำเป็นต้องขอทางขับย้อนศร บางทีต้องขอทางเพื่อฝ่าไฟแดง และบางทีต้องแซงในพื้นที่จำกัด

ฉะนั้น “สกิลการขับ” สำคัญมาก ๆ ใช่ว่าจะขับเร็วอย่างเดียวครับ เท่าที่ผมเคยได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิท่านหนึ่ง จริง ๆ แล้วทุกมูลนิธิมีหลักเกณฑ์ที่เจ้าหน้าที่จะต้องผ่านการอบรมในระดับ EMR (40 ชั่วโมง) และ EMT (110 ชั่วโมง) ถึงจะสามารถปฏิบัติงานได้

แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่มีใครมาดูและตรวจสอบมาตรฐานในเรื่องนี้ และหลักสูตรนี้ก็เป็นหลักสูตรกู้ภัยในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งจะเน้นไปที่วิธีปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แต่หลักสูตรขับขี่ปลอดภัยที่ควรจะลงลึกไปสำหรับพนักงานขับรถนั้น มีเพียงบางมูลนิธิเท่านั้นที่มี

ผมมองว่าพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ทำหน้าที่ขับรถกู้ภัยฉุกเฉิน ก็ควรมีหน่วยงานที่ดูแลใบอนุญาตขับขี่เป็นการเฉพาะแบบจริงจังเสียทีครับ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เพราะงานของพวกเขาต้องใช้สกิลการขับรถไม่แพ้ระดับเอฟวัน “FIA Super Licence” เลยทีเดียว