“ไลฟ์โค้ช” อาชีพที่ได้ประโยชน์จากความเปราะบางของสังคม?

ภาพจาก FB : DDNARD

แม้จะมีคำพูดว่า “สังคมดีเริ่มที่ครอบครัว”  เพราะเป็นสถาบันแรกในชีวิตของทุกคน แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้หลายครอบครัวไม่ได้มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ หรือมีครอบครัวที่อบอุ่นอย่างที่วาดฝันไว้

เมื่อต้องเผชิญกับปัญหานอกบ้านที่ถาโถมเข้ามา ก็ยิ่งทำให้สภาพจิตใจเปราะบางเกินกว่าจะรับมือได้เพียงลำพัง เราจึงได้เห็นหลายคนหาทางออกด้วยการหา “ที่พึ่งทางใจ” ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

นอกจาก “ศาสนา” จะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในลำดับต้นๆ แล้ว ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งในจำนวนนั้น  คือการหาแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตจากบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “ไลฟ์โค้ช”

“ไลฟ์โค้ช” (Life Coach)  หรือ “โค้ชชีวิต” ที่ให้คำปรึกษาในการใช้ชีวิต และแก้ปัญหาชีวิตให้กับผู้อื่น ดูจะเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมจากคนหมู่มากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เพราะหลายคนมีชีวิตดีขึ้นได้ เมื่อได้รับการชี้แนะ หรือนำทางจากผู้อื่น

หนึ่งในไลฟ์โค้ชที่ได้รับการยอมรับในบ้านเรา คือ  “ครูอ้อย” ฐิตินาถ ณ พัทลุง ผู้พลิกชีวิตจากการปลดหนี้ 100 ล้านที่สามีทิ้งไว้ให้หลังจากเสียชีวิตภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี จนนำไปสู่การเขียนหนังสือขายดี “เข็มทิศชีวิต” และทำให้ชื่อของเธอได้รับการยอมรับในฐานะผู้ที่สร้างกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังท้อแท้ในชีวิตได้เป็นอย่างดี

จากหนังสือระดับ Best Seller ที่ตีพิมพ์นับครั้งไม่ถ้วน กลายมาเป็นหลักสูตร “เข็มทิศชีวิต”  ที่ขยายผลเป็นหลักสูตรหรือคอร์สอบรมอีกมากมายในเวลาต่อมา ถึงขั้นที่มีประกาศนียบัตรมอบให้กับผู้ที่เข้ารับการอบรมด้วย

แม้ว่าคอร์สอบรมของครูอ้อยจะมีค่าเรียนไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น แต่ก็ยังคงได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งดารา นักธุรกิจดัง เป็นส่วนหนึ่งของจุดขายที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับหลักสูตรต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา มีกระแสในเชิงลบเกี่ยวกับคอร์สอบรมของครูอ้อย เข็มทิศชีวิตออกมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีคนดังหลายคนออกมาแสดงตัวว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับหลักสูตรต่างๆ ของครูอ้อยแล้ว แต่กลับถูกนำภาพมาใช้โปรโมทหรือประชาสัมพันธ์คอร์สอบรมอย่างต่อเนื่อง

โดยรายของเอ๋ มณีรัตน์ ระบุว่าแนวทางไม่ตรงกัน ขณะที่อุ๋ย บุดดาเบลส เผยว่าได้รับการติดต่อให้เขียนเพลงประกอบหลักสูตร จึงเข้าไปสังเกตการณ์เท่านั้น ส่วนครูเงาะ รสสุคนธ์ ยอมรับว่าเคยเสียเงินเข้าเรียนในคลาสเข็มทิศชีวิตเพื่อนำไปใช้สอนนักเรียนต่อ แต่ปัจจุบันไม่ได้ยุ่งเกี่ยวใดๆ แล้ว

จากข่าวต่างๆ ที่ออกมา ทำให้มีการขุดคุ้ยเรื่องราวของครูอ้อยตามมามากมายว่า แท้ที่จริงแล้ว การช่วยเหลือผู้อื่นในการปลดล็อกชีวิตนั้น เป็นการหาประโยชน์จากความเปราะบางทางจิตใจของผู้ที่กำลังมีปัญหาชีวิตหรือไม่

และหากต้องการช่วยเหลือผู้อื่นจริง เหตุใดค่าหลักสูตรต่างๆ จึงแพงหูฉี่ ราวกับเลือกปฏิบัติเฉพาะผู้ที่มีเงินจ่ายได้เท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้ ครูอ้อยชี้แจงว่า มีหลักสูตรฟรีให้ผู้อื่นได้ติดตามทั้งทางออนไลน์ และจัดอบรมนอกสถานที่อยู่แล้ว เพียงแต่หลักสูตรเก็บเงิน มีขึ้นเพื่อกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเบียดเสียดกับคนอื่นเวลาที่เปิดคอร์สฟรีเท่านั้น จึงขอพื้นที่ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้บ้าง

ส่วนคำตอบที่แท้จริงเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอให้ “เวลา” เป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะคำพูดที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” ยังคงใช้ได้เสมอไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม