“กล่องดำ” ในรถยนต์

สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนถึงค่ายรถยนต์ Genesis แบรนด์ฮุนไดเกรดพรีเมียม ที่กลายเป็นที่รู้จักทั่วไปในเวลาชั่วข้ามคืน หลังคนที่ขับรถ SUV สายพันธุ์หรูคันนี้ คือนักกอล์ฟคนดังอย่างไทเกอร์ วู้ดส์ หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป แฟนกีฬาทั่วโลกยังคงภาวนาให้ “พญาเสือ” คัมแบ็กจากเหตุการณ์ให้ได้ โดยเฉพาะการลุ้นให้กลับมาจับเหล็กลงแข่งได้อีกครั้ง

ขณะที่การสืบสวนสาเหตุการชนครั้งนี้ของตำรวจยังคงดำเนินต่อไป ประเด็นเมาแล้วขับถูกตัดออกไปตั้งแต่แรก เพราะไม่พบสารเสพติดรวมถึงแอลกอฮอล์ ทว่าปัญหาใหญ่ที่ตำรวจยังไม่สามารถสรุปคดีได้ คือ ไทเกอร์จำเหตุการณ์ก่อนรถคว่ำไม่ได้ ทำให้ตำรวจเตรียมที่จะงัด “กล่องดำ” ในรถ Genesis รุ่น GV80 ออกมาตรวจสอบ

พูดถึง กล่องดำ หรือ Black Box หลายคนคงรู้ดีว่ามันคืออุปกรณ์ชิ้นสำคัญในเครื่องบิน และจะต้องถูกใช้งานและเป็นข่าวทุกครั้งเมื่อเครื่องบินตก! แต่กับรถยนต์ เราไม่เคยคุ้นกันเลยใช่ไหมครับว่า “อ้าว รถยนต์ที่เราขับกันอยู่ มีกล่องดำด้วยหรือ?” คำตอบคือ “มีครับ” แต่มีในบางประเทศเท่านั้น

หนึ่งในประเทศที่บังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องมีกล่องดำ คือสหรัฐฯ ที่ให้รถใหม่ต้องติดตั้งจากโรงงานมาตั้งแต่ปี 2015 อย่างไรก็ดี กฎหมายระบุว่าข้อมูลในกล่องดำ (ที่ในความเป็นจริงอาจจะเป็นสีอื่นก็ได้) นั้น คือข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของรถ ใช่ว่าใครจะเอาไปดูก็ได้ อย่างกรณีอุบัติเหตุของไทเกอร์ครั้งนี้ ทางตำรวจก็จำเป็นที่จะต้องมีคำสั่งของศาลเสียก่อน ถึงจะเข้าถึงข้อมูลได้

กล่องดำ จริง ๆ แล้วมันคือชื่อเล่นที่เรียกกันตั้งแต่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบินครับ แต่ชื่อจริง ๆ ของมันคือ EDR : event data recorder หรือหากเป็นในวงการมอเตอร์สปอร์ตก็จะมีอุปกรณ์นี้เช่นกันเรียกว่า ADR : accident data recorder ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลเกือบจะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องขณะขับขี่

อาทิ ความเร็ว การใช้เบรก การใช้คันเร่ง การหักเลี้ยว ระดับของเบาะนั่ง การเปิดไฟหน้า การเปิดไฟเลี้ยว ระบบรู้หมดเลยว่าคุณเปิดไฟเลี้ยวที่ความเร็วเท่าไหร่ กระชั้นไปหรือไม่ การทำงานของถุงลมนิรภัย รวมไปถึงกล้องต่าง ๆ ที่ติดตั้งรอบตัวรถ ก็ถูกนับรวมเข้าเป็นข้อมูลที่จะบันทึกไว้ในกล่องดำเช่นกัน ส่วนใหญ่จะถูกติดตั้งไว้ที่ใต้เบาะนั่งด้านหน้า

เช่นเดียวกับในวงการความเร็วครับ ADR หรือในชื่อเล่นที่เรียกเหมือนกันหมดว่ากล่องดำนั้น สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) กำหนดให้ติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นนี้ในรถเอฟวันตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา โดยจะมีความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นมาจากกล่องดำในรถยนต์ทั่วไป ที่สามารถบอกข้อมูลของความเร่งอันมหาศาล หรือที่ศัพท์รถแข่งเรียกว่า “แรง G” ได้ถึง 3 ทิศทาง

อย่างไรก็ดี จะว่าไปรถยนต์ที่ขายกันอยู่ในบ้านเราตั้งแต่รถระดับอีโคคาร์ ไปจนถึงรถหรู จริง ๆ แล้วมีก็มีอุปกรณ์บางอย่างที่เป็นส่วนประกอบของกล่องดำได้เหมือนกันนะครับ อย่างทุกวันนี้ รถยนต์สามารถคำนวนอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ ทำให้รู้พฤติกรรมของคนขับได้ เช่นเดียวกับกล้องหน้ารถ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกล่องดำได้เช่นกัน

หรือกระทั่งเจ้าระบบ Apple Car Play ปัจจุบันนี้ก็ชักจะรู้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ มันสามารถจับพฤติกรรมผู้ขับขี่ได้แล้วว่าวันนี้จะขับไปไหน และรู้เสียด้วยว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการเดินทาง ทว่าหากจะนับเป็นกล่องดำแบบเต็มรูปแบบแล้ว รถที่ขายในบ้านเราส่วนใหญ่ยังไม่มีครับ อาจจะมีบางรุ่นเท่านั้นที่เป็นรถระดับหรูราคาหลายสิบล้าน

ส่วนในอนาคตจะมีโอกาสที่กฎหมายบ้านเราจะบังคับให้รถทุกคันมีกล่องดำแบบในสหรัฐฯ นั้น ผมมองว่าคงยาก เพราะจะทำให้ราคาขายสูงขึ้นไปอีกเป็นหลักแสนเลยทีเดียวครับ