“สังเกตพฤติกรรมเด็ก” กำลังเผชิญความรุนแรงอยู่หรือไม่?

วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต และมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ พื้นฐานจิตใจเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นวัยที่จดจำเรื่องราวต่าง ๆ และเริ่มซึมซับกับเรื่องราวเหล่านั้นได้มาก โดยเฉพาะช่วงวัยอนุบาล อายุระหว่าง 3-5 ขวบ ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครอง จะต้องระวังเรื่องของพฤติกรรมความรุนแรง หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เด็กซึมซับ หรือซึมซับให้น้อยที่สุด และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงใด ๆ กับเด็ก จนกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคตได้

ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก บ่อยครั้งเกิดขึ้นในครอบครัวเด็ก จากญาติผู้ใหญ่ หรือแม้แต่เกิดจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กเอง บุคคลที่เด็กไว้ใจ หรือสถานที่ที่เด็ก ๆ ต้องใช้เวลาอยู่ไม่ต่ำกว่า 6-7 ชั่วโมงอย่างที่โรงเรียน ก็เกิดความรุนแรงขึ้นกับเด็กด้วยเช่นกัน ดังนั้น ความรุนแรงในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา กับทุกบุคคล และเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ ไม่จำกัดว่าจะเกิดขึ้นได้เฉพาะที่บ้านหรือที่โรงเรียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาความรุนแรง ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม พวกเขามักจะปิดปากเงียบ ด้วยกลัวจนไม่กล้าที่จะบอกใคร ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ แต่พวกเขาจะมีสัญญาณบางอย่างที่ผู้ใหญ่อาจสังเกตได้ว่าพวกเขากำลังผิดปกติ

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องใส่ใจกับเด็ก ๆ ให้มาก นั่นก็คือเรื่องของสัญญาณต่าง ๆ ที่เด็กแสดงให้เห็นว่าผิดสังเกตหรือสัญญาณขอความช่วยเหลือ การสังเกตบุตรหลานหรือเด็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวว่าพวกเขากำลังประสบปัญหาบางอย่างอยู่หรือไม่ เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้ เด็กคนนั้นไม่จำเป็นต้องบุตรหลานของเราก็ได้ หากพบเจอเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ควรรีบให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะเด็กช่วยเหลือตัวเองยังไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของการกระทำอันรุนแรงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ต้องช่วยเหลือเด็กให้ได้ก่อนที่จะสายเกินไป

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

จากข้อมูลของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ระบุว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้น มีทั้งความรุนแรงทางกาย, ทางจิตใจ, การล่วงละเมิดทางเพศ และการปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง

  • ความรุนแรงทางกาย คือการทำร้ายทุกรูปแบบที่มผลต่อร่างกายทั้งการลงโทษ เฆี่ยนตี การข่มเหง รังแก
  • ความรุนแรงทางใจ คือ การปฏิบัติโดยมิชอบต่อจิตใจ ทำร้ายจิตใจ ทำร้ายทางวาจาหรือการละเลยไม่เอาใจใส่
  • การล่วงละเมิดทางเพศ คือ กิจกรรมทางเพศใด ๆ ที่กระทำต่อเด็ก ทั้งชักจูง ล่อลวง การแสดงหาผลประโยชน์ การค้าประเวณี สื่อลามกเด็ก
  • การปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง คือ การไม่ต่อบสนองความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก การไม่ปกป้องและดูแลเด็กให้พ้นจากอันตราย

การสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็ก

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ล้วนส่งผลร้ายต่อเด็กในทุกด้าน ผู้ปกครองจึงไม่ควรละเลยพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งหากอยู่ในกลุ่มอาการระยะวิกฤต จะมีความผิดปกติให้เห็นดังนี้

  • ปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย
  • ใจเต้นแรง หน้าแดงหรือซีด หายใจเร็ว หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก ตกใจง่าย 
  • มีความโกรธ ความเครียด อาการทุกข์ทรมานใจ ซึมเศร้า
  • ร้องไห้บ่อย ปฏิเสธอาหาร เลี้ยงไม่โต
  • เบื่ออาหาร หรือกินมากขึ้น / น้ำหนักลด หรือเพิ่มขึ้น / นอนไม่หลับ หรือหลับมาก
  • ไม่สนใจกิจวัตรประจำวัน และสิ่งแวดล้อม
  • อ่อนเพลียง่าย  ไม่มีแรง  แยกตัวออกจากกลุ่ม
  • รู้สึกหมดหวัง ไม่มีทางออก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้
  • รู้สึกไม่มีใครรัก ไร้ค่า รู้สึกผิดอย่างมาก
  • ความคิด การเคลื่อนไหวช้าลง
  • สมาธิลดลง ตัดสินใจลำบาก
  • ทำร้ายตัวเอง มีความคิดอยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย

การสังเกตความผิดปกติของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ให้ความรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนที่จะทำให้เราสามารถทราบว่าเด็กกำลังถูกล่วงละเมิดทางเพศและต้องการได้รับความช่วยเหลือ ให้ลองสังเกตสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

  • มีบาดแผลฟกช้ำทางร่างกาย/อวัยวะเพศ
  • เด็กมีอาการซึมเศร้า/วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ไม่สุงสิงใคร เก็บตัว
  • กลัวคนบางประเภท
  • กลัวการกลับบ้าน
  • กลัวการอยู่ลำพังกับผู้ใหญ่
  • หนีออกจากบ้าน
  • มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง
  • มีปัญหาด้านการเรียน
  • ฝันร้าย/นอนไม่หลับ

หากพบว่าเด็กกำลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่ารีรอ รีบเข้าไปช่วยเหลือโดยด่วน ทั้งนี้ผู้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กมักเป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย และมักเป็นบุคคลที่เด็กไว้วางใจหรือมีอำนาจเหนือกว่าเด็ก เช่น ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครู เป็นต้น

นอกจากนี้ หากรู้จักเด็กและครอบครัวของเด็กเป็นการส่วนตัว อาจลองประเมินปัจจัยเสี่ยงในเด็กที่มีโอกาสเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของการทารุณกรรมทางเพศ/ล่วงละเมิดทางเพศ ร่วมกับอาการผิดปกติของเด็กด้วยก็ได้ โดยปัจจัยเสี่ยงให้พิจารณามีดังนี้

  • เด็กเล็กที่ไม่สามารถพูดจาสื่อสารได้
  • เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าหรือบกพร่อง
  • เด็กที่มีโรคเรื้อรังหรือมีความพิการทางร่างกาย
  • เด็กที่อยู่กับบิดาตามลำพัง หรือมีสมาชิกผู้ชายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน
  • มารดาของเด็กหมดสมรรถภาพทางเพศ หรือปฏิเสธที่จะตอบสนองทางเพศต่อบิดาของเด็ก

การกระทำรุนแรงส่งผลต่อสมองทุกส่วน

หากปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจกับการกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก จนทำให้เด็กเกิดอาการทุกข์ทรมานใจ จะส่งผลต่อสมองได้ โดยงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงไม่เกิน 2 ปี จะมีผลต่อสมองอย่างร้ายแรง เพราะจะไปทำลายโครงสร้างของการพัฒนาสมองอย่างทั่วด้าน ทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา อาทิ กระบวนการเรียนรู้หรือความสามารถในการเรียนรู้มีปัญหา, ภาวะความไม่มั่นคงทางด้านจิตใจว่าหากถูกกระทำรุนแรงจะมีผู้ใดปกป้องหรือคุ้มครองดูแลหรือไม่ จนเกิดความอ่อนแอทางจิตใจ และสิ้นหวังที่จะผ่านพ้นจากวิกฤติได้ ดังที่เรามักจะเห็นข่าวอยู่บ่อยครั้งว่าเด็กตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถหาทางออกจากปัญหาที่เจอได้

พบเด็กถูกทำร้าย แจ้งสายด่วน 1300

หากพบเห็นการกระทำรุนแรงต่อเด็ก อย่าเพิกเฉย สามารถโทรแจ้งเหตุได้ที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ) หรือโทรแจ้งสายด่วน 1300 ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยให้บริการประชาชนที่ประสบปัญหาสังคมในภาวะวิกฤติตลอด 24 ชั่วโมง

สายด่วน 1300 จะมีเจ้าหน้าที่และนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพปฏิบัติงาน ให้คำแนะนำปรึกษา การช่วยเหลือประสานส่งต่อ รวมทั้งการช่วยเหลือเชิงรุกโดยมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Moblie Team) ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมในภาวะวิกฤติ

ข้อมูล : รพ.รามาธิบดี / มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก / ศูนย์ช่วยเหลือสังคม