“ทีวีดิจิตอล vs สิ่งพิมพ์” ใครไปก่อน ? (2)


“ทีวีดิจิตอล vs สิ่งพิมพ์” ใครไปก่อน ? (2)

“สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย!”

ประโยคที่สื่อเก่าถูกมองอย่างปรามาสมาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว จากการกำหนดขึ้นของ อี-บุ๊ค และสื่อออนไลน์

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสิ่งพิมพ์บ้านเราจะทยอยปิดตัวลงไปบ้าง หนังสือพิมพ์บางหัว นิตยสารบางฉบับ แต่จวบจนวันนี้ โลกยังไม่ได้หมุนเร็วอย่างที่ทุกคนคาด การอ่านบนอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมพอสมควร แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดกลืนกินสื่อกระดาษไปทั้งหมดทั้งมวลได้

การอ่านจากกระดาษคือวัฒนธรรมที่ติดตัวมนุษย์มานับพันๆปี มีคุณค่าและความพิเศษเฉพาะ สามารถเสริมสร้างจินตนาการและสมาธิได้มากกว่าที่สื่ออื่นๆจะพึงตอบสนองได้

แน่นอนว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะต้องมีการปรับตัว ดังเช่นอดีตบรรณาธิการรุ่นพี่ของผมคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า มันจะพัฒนากลายเป็นของ พรีเมี่ยม เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเอาไว้เก็บสะสม หรือเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าในแต่ละด้านอย่างจริงจัง

ส่วนอีกตลาดหนึ่งเป็นพวก “Information” ที่คนจำเป็นต้องรู้ในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์ ก็เช่น หนังสือพิมพ์ หรือ Free Copy ต่างๆ ที่คนยังจำเป็นต้องเสพ อ่านเสร็จก็โยนทิ้งไป

สรุปว่ามีข้างบนกับข้างล่าง ตรงกลางจะหายเยอะ

แน่นอนสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่เพื่อไม่ให้ถูกตีตราว่าเป็น “ไดโนเสาหลงยุค!” ทั้งคนทำงานและวิธีการผลิต

ใครที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สามารถลดเวลาการผลิตลงไปได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของคนให้สอดคล้องไปได้ด้วย ใครคนนั้นก็ยังมีโอกาสประสบความสำเร็จ

วิธีการหรือสถานที่ในการวางขายก็เป็นเรื่องน่าคิด เราบอกหนังสือพิมพ์ขายไม่ได้ แต่เราไม่เคยไปเดินซื้อหนังสือพิมพ์วันเสาร์หรืออาทิตย์ได้ทัน ถ้าไม่ได้สั่งให้ร้านรู้จักแอบเก็บไว้ให้ หรือเป็นสมาชิกส่งที่บ้านอยู่แล้ว หนังสือพิมพ์บางเล่มก็ขายดิบขายดีเสียเหลือเกินในวันที่มีฟุตบอลแข่ง ความคล่องตัวในการเพิ่มหรือลดจำนวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการยังเป็นเรื่องสำคัญ

สุดท้ายผมมองข้อได้เปรียบของสื่อสิ่งพิมพ์คือจับต้องได้ ชัดเจน เก็บได้ การขายโฆษณาไม่ซับซ้อน เวลาผ่านไปจะยิ่งมีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน และไปไปมามาผมว่า “เจ้าใหญ่” จะมีคู่แข่งน้อยกว่าสื่ออื่นอย่างโทรทัศน์หรือออนไลน์เสียด้วยซ้ำไป.