5 มรดกโลกของไทย อยู่ที่ไหนบ้าง

แม้ยูเนสโก (UNESCO) จะยังไม่รับรอง ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ให้เป็นมรดกโลก ส่งผลให้ไทยพลาดการมีมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ดีเรายังมีแหล่งมรดกโลก 5 แห่งที่น่าภาคภูมิใจ Tonkit360 จะพาไปทบทวนว่ามีที่ไหนบ้าง

แหล่งมรดกโลกมีทั้งหมดกี่แห่ง

แหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) คือพื้นที่ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ว่ามีลักษณะความสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่มีประโยชน์โดยรวมต่อมนุษยชาติ

กำแพงเมืองจีน หนึ่งในมรดกโลก

ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของยูเนสโกระบุว่า ทั่วโลกมีพื้นที่ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลกทั้งหมด 1,121 แห่ง แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 869 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 213 แห่ง และพื้นที่ผสมผสานทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติอีก 39 แห่ง

มรดกโลกในเมืองไทยทั้ง 5 แห่ง

คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (มรดกโลกทางวัฒนธรรม)

ได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกภายใต้ชื่อ ‘นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร’ ในปี 1991 ด้วยเหตุผลสำคัญคือเป็นพื้นที่ที่สามารถยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่สาบสูญไปแล้ว ให้สามารถปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน

2. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย (มรดกโลกทางวัฒนธรรม)

ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 1991 ภายใต้ชื่อ ‘เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร’ ซึ่งนอกจากพื้นที่ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยแล้ว ยังรวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (จ.สุโขทัย) และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร (จ.กำแพงเพชร) ด้วย เหตุผลสำคัญคือเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงผลงานอันชาญฉลาดของมนุษย์ในอดีตได้อย่างชัดเจน

3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (มรดกโลกทางธรรมชาติ)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ตากและกาญจนบุรี มีพื้นที่รวม 6,222 ตารางกิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 1991 ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เป็นผืนป่าที่มนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าได้ยากที่สุด ส่งผลให้ระบบนิเวศเป็นแหล่งที่ยังมีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ยังดำรงชีวิตอยู่ได้

4. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (มรดกโลกทางวัฒนธรรม)

หลังจากในปี 1991 ยูเนสโกรับรอง 3 แหล่งสำคัญในเมืองไทยให้เป็นมรดกโลก หนึ่งปีถัดมา ในปี 1992 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกลำดับที่ 4 ของไทย ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงหลักฐานอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน รวมถึงทำให้รับรู้วิวัฒนาการด้านสังคมและความรุ่งเรืองในอดีตในช่วง 3,600 ปี ก่อนคริสตกาลได้เป็นอย่างดี

5. ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (มรดกโลกทางธรรมชาติ)

มรดกโลกลำดับล่าสุดของไทย ‘ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ได้รับการรับรองในปี 2005 ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ มีพื้นที่รวม 6,155 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยมีสภาพป่าแบบต่างๆ ตั้งแต่ ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า ที่คู่ควรต่อการอนุรักษ์

โอกาสของไทยกับมรดกโลกแห่งที่ 6

ในกระบวนการเสนอพื้นที่เพื่อให้ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกนั้น ยูเนสโกจะมีการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ตามสถานที่ที่แต่ละประเทศนำเสนอเข้ามา เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมในการพิจารณาเป็นมรดกโลกต่อไป ซึ่งปัจจุบันไทยมีพื้นที่ที่อยู่ในลิสต์ดังกล่าวอีกถึง 7 แห่ง รวมไปถึง ‘ป่าแก่งกระจาน’ ที่ถูกที่ประชุม ชะลอการรับรอง เนื่องจากปักปันเขตแดนไทย-เมียนมา

ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ 1 ใน 7 บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของไทย

ส่วนพื้นที่อีก 6 แห่งของไทย ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ยังมี อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (จ.อุดรธานี) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (จ.นครศรีธรรมราช) นครหลวงล้านนา (จ.เชียงใหม่) พระธาตุพนม (จ.นครพนม) ปราสาทพนมรุ้ง (จ.บุรีรัมย์) และเมืองโบราณศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์)

ข้อมูลและภาพจาก
unesco.org