รถเมล์ไทย : เมื่อสวัสดิการที่แพงขึ้นสวนทางกับสวัสดิภาพที่ต่ำลง

ทุกวันนี้ปัญหาที่คนในสังคมเมืองต้องเผชิญมีมากมายเหลือเกิน นอกจากการที่ต้องดำเนินชีวิตดิ้นรนเอาตัวเองให้รอด ยังต้องเจอกับระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปในทางที่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคม

หากเดินถามผู้คนในเมืองถึงเรื่อง “รถเมล์” คงจะเดาสีหน้ากันออกอย่างแน่นอน เพราะเป็นที่รู้กันดีโดยทั่วอยู่แล้ว ว่าภาพลักษณ์ของ ขสมก. นั้นไม่ค่อยสู้ดีเสียเท่าไหร่ในความเห็นของประชาชนทั่วไป ซึ่งยิ่งนานวันไป ชื่อเสียของรถเมล์ยิ่งมีให้เห็นเยอะจนหนาหูหนาตาขึ้น

โดยที่ล่าสุดได้มีการประกาศปรับขึ้นค่าโดยสารสำหรับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เล่นเอาซะปวดหัวกันอย่างถ้วนทั่ว เพราะที่เราทุกคนต่างทราบกันดีโดยเฉพาะประชาชนที่เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกวัน ต่างโอดครวญเป็นเสียงเดียวกัน!

เนื่องจากสภาพปัจจุบันของรถโดยสารที่มีสภาพเก่าทรุดโทรม ไม่สะอาด พนักงานของรถโดยสาร(ส่วนใหญ่)ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้บริการ จำนวนรถขาดช่วงไม่ตรงต่อเวลาหรือไร้ความแน่นอนในการเดินรถ ทั้งหมดทั้งมวลคือสวัสดิภาพของผู้โดยสารตกต่ำลงเรื่อย ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีการขึ้นค่าโดยสารอยู่ดี

โดยที่ปัญหาหลักนั้นเกิดจากการ ขาดทุน จากหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน แต่กระนั้นแล้วการแก้ปัญหาแบบ ขาดทุนจึงต้องขึ้นราคาค่าบริการ นั้นดูจะเป็นทางออกที่สิ้นคิดหากหาคำถามจากผู้ใช้บริการทั่วไป

ซึ่งหากพูดถึงความเป็นจริง ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ ขสมก. ซะทีเดียว เพราะการพัฒนาทุกอย่างควรเดินหน้าและผลักดันจากหน่วยงานอื่นด้วย ซึ่งหากร่วมกันทำอย่างจริงจังเพื่อสวัสดิภาพของผู้ใช้บริการจริง ๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาแน่นอนว่าต้องสวยงามอยู่แล้ว เนื่องจากคนเมืองส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถประจำทาง หากบริการดีขึ้นมีหรือคนจะไม่ใช้กัน

ในมุมมองของผู้ใช้บริการ ความต้องการที่อยากให้เกิดกับการพัฒนาของรถโดยสารสาธารณะนั้น ดูแล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือทำได้ยากด้วยซ้ำอย่างเช่น

  • การจัดสรรที่นั่ง ผู้ใช้บริการมีความหวังว่าต้องการที่นั่งที่มากพอ รวมถึงสภาพรถที่ดีขึ้น
  • ความตรงต่อเวลาของรถโดยสาร ควรมีความแน่นอน เพราะบางคนรอจนท้อมาหลายครั้ง
  • มารยาทของพนักงานอย่างกระเป๋าและคนขับ ควรเป็นมิตรกับผู้ใช้บริการ
  • หากเป็นไปได้ ผู้โดยสารต้องการรถสภาพดีที่อากาศถ่ายเท เนื่องจากประเทศไทยมีอากาศร้อนเป็นต้นทุน หรือหากพัฒนาเต็มที่จริง ๆ ควรจะเป็นรถแอร์ทั้งหมด
  • จอบอกสถานี รถโดยสารส่วนใหญ่มีจอบอกสถานีนั้น ๆ อยู่บนรถ ซึ่งความจริงแล้วผู้โดยสารมองเห็นไม่ชัดเจน มีโฆษณากินพื้นที่บนจอมากกว่าข้อความที่แจ้ง
  • บัตรแบบ All in one เพื่อความสะดวกในการชำระค่าโดยสาร
  • สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้บริการบ่อยนัก อาจจะงุนงงกับสายการเดินรถ ควรมีข้อมูลบอกตามป้ายแบบครบวงจรหรือชัดเจนมากกว่านี้

เห็นได้ชัดว่า หากมีความจริงจังในการพัฒนาระบบโดยรวม สวัสดิภาพของผู้โดยสารนั้นจะมากขึ้น และพอใจในค่าบริการที่ไม่ผกผันกับการบริการแฮปปี้ทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีตัวอย่างให้เห็นแบบบไม่ต้องไปถึงเมืองนอก

รถโดยสาร ขอนแก่น ซิตี้ บัส ที่มีการบริการดีกว่าในกรุงเทพฯหรือจังหวัดอื่น ๆ ทั้งสภาพตัวรถเป็นรถปรับอากาศ มีป้ายบอกเวลาเดินรถและเส้นทางอย่างชัดเจน บนรถมีตู้หยอดเหรียญค่าบริการสะดวกต่อผู้เดินทาง เห็นแล้วน่าใช้บริการมากกว่าเป็นไหน ๆ

สรุปแล้วบทเรียนของ ขสมก. ที่ควรปรับใช้อย่างเร่งด่วนคือ ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่อง ถนน ป้าย การจราจร แม้จะขึ้นราคาแต่คุณภาพของการบริการและสภาพรถควรดีขึ้นตามไปด้วย มิเช่นนั้นก็ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการจำใจก้มหน้าก้มตาใช้และบ่นด่าอย่างไม่มีวันจบ