เลี้ยงลูกอย่างไร? ไม่ให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว

ปัญหาใหญ่ที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นขณะนี้ คือ ความก้าวร้าว เกเร และใช้ความรุนแรง ซึ่งจัดเป็นโรคทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งของเด็กเรียกว่า “โรคพฤติกรรมก้าวร้าว” (Conduct Disorder) ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยให้เด็กมีอาการที่ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่า ความก้าวร้าวคือพัฒนาการแสดงความรู้สึก หรือความกล้าแสดงออกของเด็กโดยทั่วไป จึงไม่ห้ามปราม

จากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 13-17 ปี พบเป็นโรคพฤติกรรมก้าวร้าว โดยส่วนมากจะเป็นเด็กผู้ชาย ร้อยละ 3.8 หรือ 1.5 แสนคน จากประมาณ 4 ล้านกว่าคน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของเด็กที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก เจ้าอารมณ์ เป็นเด็กสมาธิสั้น หรือมาจากสภาพสังคมแวดล้อม แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว

การเลี้ยงดูเด็กไม่ให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว

1. เลี้ยงแบบเอาใจใส่ดูแล ให้ความรักความอบอุ่นกับเด็ก ในกรณีที่พ่อแม่มีลูกหลายคน ควรรักลูกให้เท่ากัน ไม่ควรลำเอียง หากลูกทำความดี เช่น ช่วยทำความสะอาดบ้าน หรือขยันหมั่นเพียรตั้งใจเรียน ควรจะมีของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นการชื่นชมความตั้งใจของลูกด้วย เพื่อให้เด็กมีกำลังใจที่ดี และไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งขวาง

2. ไม่ใช้วิธีลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง หากไม่ต้องการสิ่งใด ก็ไม่ควรทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น เด็กก็เช่นกัน ในกรณีที่ลูกมีความผิดหรือเกเร วิธีที่ควรจัดการกับเด็กอันดับแรกคือ การพูดคุย การใช้วาจาตักเตือน บอกกล่าว และอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า สิ่งนั้นไม่ดีอย่างไร ถ้าทำจะมีผลตามมาอย่างไร หรือพ่อแม่ผู้ปกครองบางท่าน อาจใช้ความสงบสยบเด็ก เช่น การจับให้เด็กหยุดกระทำสิ่งนั้น

3. อย่าเลี้ยงแบบตามใจ เพียงเพราะกลัวเด็กจะไม่รัก การอบรมสั่งสอนให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ได้ และไม่เลี้ยงแบบตามใจจะทำให้เกิดผลดีกับเด็ก ได้แก่ เด็กจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และสามารถตัดสินใจในเรื่องบางเรื่องด้วยตัวเองได้ ทั้งเป็นการฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบ มีแรงจูงใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เด็กเชื่อฟังและเคารพผู้อื่นมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการฝึกทักษะด้านความสัมพันธ์ให้สูงเพิ่มขึ้นอีกด้วย

4. ผู้ใหญ่อย่าทะเลาะวิวาทกันเองต่อหน้าเด็ก หากไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรง สิ่งแรกที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรเลี่ยงคือ การทะเลาะทำร้ายร่างกายกันต่อหน้าเด็ก เพราะเด็กอาจจะเลียนแบบได้ ฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกหลานก่อน เริ่มจากการปรองดองกัน เป็นมิตรต่อกันในครอบครัว ไม่ใช้คำพูดที่หยาบคายในบ้าน และมีระเบียบวินัย ซึ่งเด็กก็จะซึมซับพฤติกรรมดังกล่าวจากเราไปได้ไม่น้อย

5. ไม่ควรยั่วยุอารมณ์เด็กให้รู้สึกโมโห หลีกเลี่ยงการพูดเปรียบเทียบ ตำหนิรุนแรง หรือข่มขู่ให้เด็กรู้สึกกลัว แม้แต่การยั่วยุแหย่ให้เด็กมีอารมณ์โมโห เพราะจะยิ่งทำให้เด็กมีปมด้อย ซึ่งบางครั้งเด็กอาจจะจำความรุนแรงเหล่านี้ แล้วนำไปปฏิบัติกับเพื่อนหรือคนอื่นได้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรใช้สัมผัส โดยการกอดหรือปลอบโยนเด็กมากกว่า

6. จัดระเบียบวินัยในชีวิตประจำวัน ถึงอย่างไรก็ตามพื้นฐานของเด็กก็ต้องเริ่มที่ครอบครัวเป็นอันดับแรก ฉะนั้นแล้วการอบรมบ่มนิสัยให้เด็กรู้จักผิดชอบชั่วดี และแยกแยะเป็น เป็นสิ่งที่ไม่ควรขาด พ่อแม่ผู้ปกครองควรเสริมเรื่องระเบียบวินัยให้เด็กได้ทำตาม อาจจะตั้งข้อตกลงกับเด็กไว้ว่า หากทำได้จะให้รางวัล เป็นต้น

7. อย่าให้ท้ายเด็ก ผิดก็คือผิด พ่อแม่ที่เข้าข้างลูกเมื่อลูกทำผิด ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างความหายนะให้แก่ลูกอย่างที่สุด ฉะนั้นควรสอนให้เด็กแยกแยะให้ออกว่า สิ่งไหนที่ควรทำและสิ่งไหนไม่ควรทำ หรืออย่าทำซ้ำอีกเด็ดขาด การรักลูกให้ถูกวิธี ไม่มีอะไรเกินกว่าการถ่ายทอดคุณธรรมความดีให้แก่ลูก เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมายืนหยัดบนโลกนี้ได้อย่างภาคภูมิ คุณธรรมที่ต้องอบรมให้มาก หรืออบรมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเด็กโตหรือเด็กเล็ก คือ มีปัญญา มีวินัย มีเมตตา