เวลาที่ไปบริจาคโลหิต หรือไปตรวจสุขภาพประจำปี คุณเคยโดนใครสักคนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ทักว่า เลือดของคุณ “หนืด” บ้างหรือไม่ ซึ่งเลือดหนืดที่ว่าคืออะไร อันตรายแค่ไหน แล้วสามารถแก้ไขได้ไหม ลองอ่านได้จากบทความนี้
เลือดหนืด…คืออะไร?
เลือดหนืด เป็นภาวะที่เลือดมีความข้นหรือหนืดกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากปริมาณเม็ดเลือดแดงสูง การขาดน้ำ หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ปัญหาจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือด หรือเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนในหลอดเลือดได้ยากขึ้น การส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังเนื้อเยื่อทำได้ไม่ดีพอ เมื่อลองส่องหยดเลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์ดู จะพบว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงเกาะติดกันเป็นสายหนาแน่น ไม่ได้แยกกันออกมากเป็นเซลล์ใครเซลล์มัน จึงไหลเวียนได้ไม่ดี โดยภาวะนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองได้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
อาการของภาวะเลือดหนืด ที่พบได้บ่อยได้แก่ วิงเวียน หน้ามืด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก มีจุดแดง ๆ เป็นจ้ำ ๆ ทั่วตัว หน้าแดง ตาแดงที่ไม่ได้เกิดจากลูกตาติดเชื้อ ตาพร่า ปวดเมื่อย บวม รู้สึกชาตามมือ-เท้า เป็นต้น
ผลกระทบของภาวะเลือดหนืด
- ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
- ความดันโลหิตสูง
- เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด (Thrombosis)
- การไหลเวียนเลือดช้าลง ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียหรือชาตามปลายมือปลายเท้า
ทั้งนี้ หากคุณมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- เวียนหัว หรือหน้ามืดบ่อยครั้ง
- ชาที่มือหรือเท้า
- หายใจลำบากหรือแน่นหน้าอก
การรักษาเลือดหนืด
- การลดปริมาณเม็ดเลือดแดง ที่ได้ผลรวดเร็ว ลดอาการต่าง ๆ ได้รวดเร็วคือ การเจาะเลือดออกทิ้งที่เรียกว่า Phlebotomy ซึ่งการเจาะเอาเลือดออกจะทำเป็น ระยะ ๆ ถี่หรือห่างขึ้นกับจำนวนเม็ดเลือดแดงในเลือดสูงมากหรือสูงน้อย อาการ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย นอกจากนั้นคือ การให้ยาชนิดต่าง ๆ เพื่อลดการทำงานของไขกระดูก เช่น ยาเคมีบำบัด ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ยาน้ำแร่รังสี ซึ่งการจะเลือกยาตัวใด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ โดยดูจากความรุนแรงของอาการ ปริมาณเม็ดเลือดแดง และการตอบ สนองหรือการดื้อต่อยา ผลการรักษาจากยาชนิดต่าง ๆ
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดความดันโลหิตสูง การให้ยาลดการแข็งตัวของเลือดหรือลดการเกิดลิ่มเลือดเช่น ยาแอสไพริน เป็นต้น
การดูแลตนเองเมื่อพบว่าเลือดหนืด
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพราะการดื่มน้ำจะช่วยลดความเข้มข้นของเลือดได้
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด และช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
- พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะน้ำหนักเกินมากจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เพราะการบริโภคอาหารเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจเป็นสาเหตุของเลือดหนืด
- งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่