5 กิจกรรมคลายเหงาสำหรับผู้สูงอายุ ป้องกันภาวะซึมเศร้า

เป็นที่ทราบกันดี ว่าสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2564 และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574 หรือก็คือการที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ แต่การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาจากการที่มีผู้สูงอายุล้นเมืองยังไม่ค่อยมีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเท่าที่ควร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงวัยนั้นต้องการการดูแลทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ไม่มีอนาคตให้คาดหวัง มีแต่ปัจจุบันที่เงียบเหงา และอดีตอันหวานชื่นให้ถวิลหาเท่านั้น

การที่ผู้สูงอายุต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงพร้อม ๆ กันทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม การที่จะก้าวข้ามผ่านไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสำหรับคนวัยนี้ โดยเฉพาะจิตใจ ที่อารมณ์และความรู้สึกอาจจะเปราะบางเป็นพิเศษ เมื่อรับมือได้ยาก ก็จะส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ จนอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ นี่เป็นเรื่องที่คนในครอบครัวจำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมพวกท่านให้ดี ว่ามีอะไรผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่ โดยภาวะซึมเศร้าและหดหู่ในผู้สูงอายุถือเป็นอีกเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะมันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้ จากความคิดที่ว่า “ยังไงฉันก็อยู่ได้อีกไม่นานอยู่แล้ว แค่ตายเร็วขึ้นมันจะเป็นไรไป”

“ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ” เป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจของคนวัยสูงอายุ ซึ่งเกิดจากความรู้สึกผิดหวัง สูญเสีย ถวิลหาอดีต หรือสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต รวมถึงความยากลำบากในการยอมรับความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุข จิตใจเศร้าหมอง รู้สึกสิ้นหวัง จนไม่อยากมีชีวิตอยู่ เราจึงต้องหมั่นสังเกตถึงสัญญาณเตือนภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ รวมถึงปัจจัยที่สนับสนุนให้พวกท่านรู้สึกมีอาการเช่นนั้น

ดังนั้น “ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ” จึงเป็นเรื่องที่อันตรายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว จากครอบครัวใหญ่ที่อยู่รวมกัน กลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวที่เหลือผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพัง ไหนจะผู้สูงอายุที่ไม่แต่งงาน ไม่มีครอบครัว ก็กำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเปลี่ยวเหงาและอ้างว้างของคนสูงวัยในโลกใบใหญ่กลายเป็นความหดหู่และความเศร้า จากที่เคยทำงานต้องมานั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บ้านเฉย ๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตไปจนไม่มีคุณค่า ดังนั้น ทั้งตัวผู้สูงอายุเองหรือญาติ ๆ จึงไม่ควรปล่อยให้ความเหงากัดกินใจขนาดนี้ ควรหาวิธีคลายความเหงาด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับอายุและร่างกาย ดังนี้

1. หาทำกิจกรรมโปรด

ไม่ว่าจะแก่ตัวลงขนาดไหน คนเราก็มักจะมีไลฟ์สไตล์แบบเดิม ๆ ที่เป็นตัวของตัวเอง เป็นสิ่งที่ตัวเองรักหรือชอบ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีกิจกรรมโปรดแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นทำอาหาร ทำขนม เดินเล่น ท่องเที่ยว ทำกิจกรรมผจญภัย ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ออกกำลังกายเบา ๆ ดูหนัง ฟังเพลง หรือจะเล่นเกมฝึกสมองบ้างก็ได้ ฯลฯ ลูกหลานหรือตัวผู้สูงอายุเองสามารถที่จะจัดแจงเวลาให้ได้ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ ก็จะช่วยคลายเหงาและเพิ่มความสุขทางใจ พยายามอย่านั่งอยู่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ แล้วปล่อยให้ตัวเองหดหู่ไปวัน ๆ มันจะยิ่งไปกันใหญ่

2. การเลี้ยงสัตว์

สัตว์เลี้ยงเป็นทั้งเพื่อนแท้และเพื่อนที่ดีในยามยากและยามเหงา แต่การเลี้ยงสัตว์อาจไม่ค่อยเหมาะกับผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวหรือไม่มีลูกหลาน (แน่นอนว่าไม่ได้ห้าม) เพราะอาจเป็นภาระมากเกินไปสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว นอกจากนี้หากเกิดอะไรขึ้นกับตัวผู้สูงอายุ สัตว์เลี้ยงก็อาจถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง และอาจจะอดข้าวอดน้ำเป็นอะไรตามเจ้าของไปได้เหมือนกัน หรืออาจเป็นไปได้ว่าการสูญเสียสัตว์เลี้ยงก่อนตัวเองจะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกแย่กว่าเดิม หากถ้าเป็นผู้สูงอายุที่มีลูกหลานอยู่ด้วยก็ยังช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงได้ และยังเป็นกำลังใจในวันที่สูญเสียได้ดีกว่า

3. เข้าสังคม ออกไปพบปะเพื่อนวัยเดียวกัน

สำหรับผู้สูงอายุ การที่ตัวเองอายุยืนมาก ๆ อาจยิ่งทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ เพราะผู้สูงอายุยิ่งมีโอกาสได้เห็นคนรอบข้างทยอยจากไปทีละคน ตั้งแต่พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง คู่ชีวิต เพื่อนฝูง หรือแม้แต่ลูกหลานของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าโลกนี้จะไม่เหลือคนในวัยเดียวกันให้ได้ออกไปสังสรรค์เข้าสังคมเสียเมื่อไร การอยู่ติดบ้านทุกวันยิ่งทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและหดหู่ใจ ดังนั้น จึงควรวางแผนออกไปพบปะผู้อื่นบ้าง ให้ได้เห็นว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไรบ้าง หากเป็นเพื่อนในวัยเดียวกันหรือไล่เลี่ยกันก็ยิ่งดี เพราะอาจจะมีเรื่องที่มีประสบการณ์ร่วมให้ได้พูดคุยย้อนอดีตกันสนุกสนาน

4. ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ทั้งเคยมีงานทำ เคยมีสังคม เคยเป็นผู้นำ และเคยทำอะไรต่าง ๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ทำให้ผู้สูงอายุชอบคิดว่าตัวเองเป็นวัยที่ไร้ค่า เป็นภาระลูกหลาน โดยหลงลืมไปว่าประสบการณ์ที่ตนเองสะสมมาตลอดหลายสิบปีนั้นมีคุณค่ามาก ๆ ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้พวกท่านได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ของตนเองไปทำสาธารณประโยชน์ สิ่งที่ไม่ต้องใช้ร่างกายเยอะมีให้ทำมากมาย เช่น อ่านหนังสือให้คนตาบอด สอนหนังสือเด็ก เป็นอาสาสมัคร จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า จิตใจเบิกบาน และภูมิใจในตนเองมากขึ้น

5. ทำกิจกรรมเสริมสร้างอาชีพ

แม้ว่าจะถึงวัยเกษียณแล้ว ภาพที่ควรจะเป็นก็คือหยุดทำงานและพักผ่อนอยู่บ้าน แต่ผู้สูงอายุหลายคนยังทำงานไหวและก็ยังอยากที่จะทำงานอยู่ เพราะมันทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีอะไรทำแก้เบื่อ ช่วยแบ่งเบาภาระลูกหลานในการหาเงินเลี้ยงดูตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ และเพื่อให้ร่างกายยังได้ออกแรงบ้าง ซึ่งถ้าหากว่ากายยังไหว ใจยังสู้ ก็สามารถทำอาชีพเสริมในวิชาชีพที่ตนเองถนัดอยู่เป็นทุนเดิม หรือตามความสนใจส่วนตัวหรือความสามารถพิเศษ หรืออาจจะเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้ใช้แรงมากและเหมาะกับสังขารของตัวเองก็ได้ ไม่เหงาแถมยังได้เงินด้วย