ภาวะสมองเสื่อม เป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลไม่น้อยสำหรับคนที่เริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบัน สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือโรคภัยไข้เจ็บของผู้สูงอายุ โดย “ภาวะสมองเสื่อม” กลายเป็นอาการป่วยที่มีตัวเลขของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 100 คน มีโอกาสเป็นป่วยภาวะสมองเสื่อม 5 คน และเมื่ออายุมากขึ้นอัตราการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นอีก ในผู้สูงอายุที่อายุยืนถึง 80 ปี สามารถพบโรคสมองเสื่อมได้ถึงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 คนเลยทีเดียว อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการสมองเสื่อมให้หายขาดได้ด้วย
โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีการเสื่อมถอยความสามารถของสมองในหลาย ๆ ด้าน เช่น สูญเสียความจำ สมาธิ ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำเรื่องที่เป็นปัจจุบันไม่ได้ มีอาการหลงลืม ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือการทำกิจวัตรประจำวัน ทั้งนี้ภาวะสมองเสื่อม ไม่ได้หมายถึงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ที่เกิดจากความเสื่อมของสมองโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงภาวะสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองผิดปกติด้วย และเมื่อผู้สูงอายุมีอาการของภาวะสมองเสื่อม ไม่เพียงแต่ส่งผลให้การใช้ชีวิตของตนเองเป็นไปด้วยความยากลำบากเท่านั้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในครอบครัวด้วย ผู้ป่วยหลายคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ญาติจึงต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุมีภาวะสมองเสื่อมจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งนอกจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสมองเสื่อมอย่างการออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการกินอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่มีการแนะนำกันก็คือ การฝึกฝนและบริหารสมองบ่อย ๆ ด้วยการเล่นเกมที่ช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นสมอง เพื่อพยายามรักษาระดับความสามารถของสมองในด้านต่าง ๆ รวมถึงสมาธิ ความจำ การเรียนรู้ การรับรู้และการตอบสนอง เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม
ดังนั้น สำหรับคนที่มีญาติผู้ใหญ่เริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ สามารถนำเกมต่าง ๆ เหล่านี้ไปให้ผู้สูงอายุได้เล่นสนุก ๆ และได้กระตุ้นให้สมองได้ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง ยิ่งผู้สูงอายุสมัยนี้ค่อนข้างคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี เราสามารถดาวน์โหลดเกมต่าง ๆ ลงในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้วเปิดให้ผู้สูงอายุเล่นได้วันละ 30-60 นาที ประกอบกับการทำกิจกรรมอื่น ๆ
1. เกมจับผิดภาพ
เป็นเกมที่เล่นได้ง่าย ๆ และมีกติกาง่าย ๆ เพียงแค่ให้หาว่าภาพ 2 ภาพที่ให้มานั้นมีจุดไหนที่แตกต่างกันบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเกมนั้น ๆ จะออกแบบมาให้หาจุดที่แตกต่างกันกี่จุดก็ว่าไป โดยเกมจับผิดภาพจะช่วยเสริมสร้างด้านความจำ การสังเกต การใช้สายตา ฝึกสมาธิ และฝึกความอดทน
2. เกมบวกเลข
ก็มักจะเป็นเกมที่ให้แต้มของอะไรบางอย่างมา ซึ่งอาจจะเป็นแต้มบนลูกเต๋า หรืออาจจะเป็นการนับและรวมเงินก็ได้ โจทย์แต่ละข้อจะให้บวกเลขที่ปรากฏทั้งหมดว่ารวมกันแล้วได้เท่าไร ถือเป็นเกมที่ทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้ทักษะทางด้านการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์อยู่เป็นประจำ กระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายผ่านการคำนวณ ทำให้สมองยังคงประมวลผลได้อย่างเป็นปกติ ด่านที่ยากขึ้นก็อาจจะมีการลบ การคูณ การหารเข้ามาคละ ๆ ได้ ด้วยเช่นกัน
3. เกมจับคู่เงา
เกมจะให้ภาพที่สมบูรณ์ของสิ่งของบางอย่างมา และให้เงามาอีกหลายเงา ผู้เล่นจะต้องเลือกว่าเงาไหนคือเงาจริง ๆ ของสิ่งของชิ้นนั้น เงาที่ไม่ถูกต้องก็จะมีส่วนประกอบต่าง ๆ หายไป ทำให้เงาไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เกมนี้จะช่วยฝึกสมาธิ ฝึกความจำ ฝึกการใช้สายตาในการสังเกตภาพที่สมบูรณ์และเงาต่าง ๆ ว่าเงาไหนคือเงาของภาพที่สมบูรณ์นั้น
4. เกมอ่านสี
หรือที่เรียกว่า Stroop Test ซึ่งเป็นแบบทดสอบด้านประสาทจิตวิทยาที่ถูกนำมาปรับให้เป็นเกมลับสมอง มีกติกาที่ง่ายมากแต่เล่นค่อนข้างยาก ดังนั้นผู้เล่นจะต้องตั้งสติให้ดี มีสมาธิให้มากที่สุด เพราะจะต้องสังเกตจาก “สี” ของคำเป็นหลัก ไม่ได้ให้อ่านตามคำนั้น ๆ โดยอ่านออกเสียงตามสีที่เห็นให้เร็วที่สุด ผู้เล่นจะได้คะแนนก็ต่อเมื่อขานสีที่เห็นได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าเผลออ่านตามคำออกมาก็จะเสียคะแนน เกมนี้ช่วยฝึกจิตใจให้จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งภายใต้สภาวะความกดดันของการทำงานร่วมกันระหว่างสมองทั้ง 2 ซีก โดยสมองซีกขวาจะรับรู้เรื่องสีสัน ส่วนสมองซีกซ้ายจะรับรู้ตัวอักษร ทำให้ผู้เล่นได้ฝึกสมองอยู่ตลอด
5. เกมเขาวงกต
เป็นเกมที่แสดงการเดินทางผ่านเส้นทางต่าง ๆ ที่ซับซ้อนและวกวน เนื่องจากมักจะประกอบขึ้นจากเส้นที่คดเคี้ยว มีอุปสรรคเป็นทางตันหรืออะไรก็ตามที่ทำให้ไม่สามารถผ่านไปได้ ต้องเลือกทางใหม่ โดยจะมีการกำหนดทางเข้าและเส้นชัยที่สามารถออกไปได้ ผู้เล่นจะต้องเลือกเส้นทางที่ปราศจากอุปสรรคจากทุก ๆ ทางเข้าที่ออกจะวกวนไปมา ต้องเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือหมุนวนไปมา แต่ถ้าไม่เจออุปสรรคปิดทางและเดินทางมาถึงเส้นชัยได้ก็ถือว่าทำสำเร็จ เกมนี้จะช่วยฝึกในเรื่องของการตัดสินใจ การคิดแก้ปัญหา ฝึกความจำ (ทางนี้เดินแล้วเจอกับดัก ไม่เดินซ้ำ) และช่วยฝึกสมาธิได้
6. เกมเปรียบเทียบภาพ
เป็นเกมที่ช่วยให้สมองถูกใช้งานผ่านรูปภาพ ไอคอนต่าง ๆ อยู่บนสีสัน ให้ผู้สูงอายุได้ฝึกฝนด้านความจำอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการชะลอภาวะสมองเสื่อม เช่นเกมที่ชื่อว่า MONICA เกมนี้มีทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมา เป็นการให้ผู้เล่นเปรียบเทียบภาพที่ขึ้นอยู่ปัจจุบันกับภาพที่ขึ้นมาก่อนหน้าว่าเหมือนหรือต่างกัน หากเหมือนกันให้กดปุ่มเครื่องหมายถูกสีเขียว หากต่างกันให้กดปุ่มเครื่องหมายผิดสีแดง ช่วยในเรื่องของความจำ ฝึกสมอง ฝึกการใช้ความคิด ฝึกการมองเห็นและตอบสนอง การวางแผน การตัดสินใจ และยังช่วยเพิ่มความภูมิใจและมั่นใจให้ผู้สูงอายุ ด้วยการพยายามเอาชนะระดับความยากที่เพิ่มขึ้น
7. เกมซูโดกุ
ซูโดกุในที่นี้อาจจะเป็นซูโดกุที่เป็นเกมทางคณิตศาสตร์ ที่ให้ผู้เล่นเติมตัวเลข 1 ถึง 9 ลงในตารางขนาด 9×9 โดยที่ตัวเลขในแต่ละแถว (แนวนอน) แต่ละคอลัมน์ (แนวตั้ง) และแต่ละตารางย่อยขนาด 3×3 ต้องไม่ซ้ำกัน หรือจะเป็นเกมที่ใกล้เคียงกันอย่างเกมเติมภาพของสิ่งของต่าง ๆ ลงในตารางก็ได้ สิ่งของที่นำเอาไปใส่ลงในตารางจะต้องไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละแถวทั้งแนวตั้งและแนวนอนเกมนี้จะช่วยกระตุ้นการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ฝึกการจัดลำดับ ฝึกการใช้สายตาและการสังเกต