การเลือกตั้ง 2531-ปัจจุบัน “ประชาธิปไตย” อันสมบุกสมบันของไทย 

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 การปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เพราะสลับสับเปลี่ยนระหว่างการเลือกตั้งกับรัฐประหารที่วนลูปเหมือนจะไม่จบสิ้น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 27 ของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งที่นักวิชาการหลายคนบอกว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งครั้งนี้

และก่อนที่เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน บทความชิ้นนี้จะไล่เรียงประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในเมืองไทย นับตั้งแต่ปี 2531 ที่เปลี่ยนผ่านจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ จนถึงการเลือกตั้งในปัจจุบันภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

การเลือกตั้งปี 2531 จากประชาธิปไตยครึ่งใบสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2531 นับเป็นการเลือกตั้งที่การเมืองไทย ก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ โดยมีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง จากที่ก่อนหน้านั้นเป็นยุคสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาถึง 3 สมัยเป็นระยะเวลาประมาณ 8 ปี

ซึ่งผลการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศไทยในปี 2531 นั้นผลปรากฏว่าพรรคชาติไทย โดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยเสียง 87 ที่นั่ง รองลงไปคือพรรคกิจสังคม มี 54 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 48 ที่นั่ง ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีทั้งหมด 357 เสียงซึ่งทำให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย

การเลือกตั้งปี 2535/1 และ 2535/2 ทหารและการเมืองไทยกลับมาที่เดิม

“น้าชาติ” หรือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นับเป็นนายกรัฐมนตรีในยุคประชาธิปไตยเต็มใบที่สร้างสีสันให้กับการเมืองและเศรษฐกิจไทยมากที่สุดคนหนึ่ง หากในช่วงของการดำรงตำแหน่ง ปัญหาคอรัปชัน และการต่อรองอำนาจ จนทำให้ได้รับฉายา “บุฟเฟต์คาบิเนต” ในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่ง ได้กลายเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง โดย “รสช.” (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) นำโดย บิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี

ภายหลังรัฐประหารของ รสช. ได้มีการเลือกตั้งในปี 2535/1 ซึ่งมีพรรคการเมืองเฉพาะกิจอย่างพรรคสามัคคีธรรม ที่ถูกตั้งขึ้นสืบต่ออำนาจของ รสช. ภายใต้การนำของนายณรงค์ วงศ์วรรณ ซึ่งได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดและในเบื้องต้นมีแนวโน้มว่าจะเสนอชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่าถูกทางการสหรัฐอเมริกาออกข่าวปฏิเสธวีซ่า เนื่องจากมีรายงานว่าพัวพันกับกลุ่มค้ายาเสพติด ซึ่งนายณรงค์ วงศ์วรรณ ออกมาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง หากแต่ทำให้การเสนอชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ ตกไป และมีการเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย แต่ปรากฏว่า ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในฐานะประธานรัฐสภาไม่ได้นำชื่อขึ้นทูลเกล้าถวาย ท้ายที่สุด พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ อันนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และทำให้เกิดการเลือกตั้ง 2535/2

การเลือกตั้ง 2535/2 นับเป็นการเลือกตั้งที่แสดงให้เห็นถึงพลังมวลชนอย่างชัดเจน พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับชัยชนะ ด้วยคะแนนเสียงที่ได้มาเป็นลำดับที่หนึ่ง ด้วยจำนวน 79 เสียง จึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผสมด้วยพรรคการเมืองอีก 4 พรรค คือ พรรคความหวังใหม่, พรรคพลังธรรม, พรรคเอกภาพ และพรรคกิจสังคม และมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 คือนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น

การเลือกตั้งปี 2538 การเลือกตั้งที่พบการทุจริตมากที่สุด

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2538 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 18 ซึ่งการเลือกตั้งปี 2538 เกิดขึ้นหลังจากนายชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภาฯ หลังจากพรรคพลังธรรมถอนตัว จากกรณีการแจกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่รับผิดชอบโดยพรรคประชาธิปัตย์ และการเลือกตั้งในปี 2538 พรรคชาติไทยได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดด้วยจำนวน 91 ที่นั่ง ทำให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้การเลือกตั้งในปี 2538 ปรากฏว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งค่อนข้างมาก โดยหัวคะแนนของหลายพรรคการเมืองถูกจับได้พร้อมหลักฐานเป็นเงินสด พร้อมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเอกสารระบุว่าได้จ่ายเงินไปแล้วหลายราย ซึ่งคาดการณ์ว่ามีจำนวนเงินที่ใช้ในการทุจริตการเลือกตั้งถึง 20,000 ล้านบาท

การเลือกตั้งปี 2539 การกลับมาของนายกฯ สายทหารและ “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

หลังจากที่นายบรรหา ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 เกือบหนึ่งปีซึ่งนับเป็นการดำรงตำแหน่งที่ต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาหลายเรื่องจากพรรคฝ่ายค้าน และความพยายามกดดันของพรรคร่วมรัฐบาล สุดท้ายนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เพราะพรรคร่วมรัฐบาลต้องการหนุน ให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน นายบรรหาร เลือกที่จะยุบสภาฯ ล้างกระดานให้เกิดการเลือกตั้งปี 2539

ผลการเลือกตั้งในปี 2539 พรรคความหวังใหม่ ที่เพิ่งลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จ สามารถเฉือนเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ไปได้ 2 เสียง ทำให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤติทางการเงินที่รู้จักกันดีทั่วโลกกับ “วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540”

อันเป็นเหตุให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา และพรรคร่วมรัฐบาลได้เลือกให้นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงระหว่างปี 2540-2543 เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งในเวลานั้น นายชวนได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือจนได้รับความเชื่อถือและเห็นชอบจากสถาบันการเงินนานาชาติและสหรัฐอเมริกา มุ่งไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิ

การเลือกตั้งปี 2544 พ้นจากวิกฤติต้มยำกุ้ง และแจ้งเกิดพรรคไทยรักไทย

หลังจากที่คนทั้งประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจและการให้ยาแรงของไอเอ็มเอฟ จนทำให้สถาบันการเงินไทยหลายแห่งต้องปิดตัวลง ประชาธิปไตยในเมืองไทยก็กลับมาเบ่งบานอีกครั้ง ด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2544 หลังจากที่ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา

นับว่าเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในระบบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งแบ่งเป็นระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน ภายใต้การกำกับดูแลและจัดการเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งในปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงมากที่สุดและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะยุบสภาในปี 2548

การเลือกตั้งปี 2548 เข้าสู่ยุคสองพรรคใหญ่ในสนามเลือกตั้ง

หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเกือบ 4 ปี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีพันธมิตรทางการเมืองมากขึ้น และความอ่อนแอของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งในเวลานั้นเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากนายชวน หลีกภัย มาเป็นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส่งผลให้การเลือกตั้งทั่วไปปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 377 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง พรรคชาติไทยได้ 25 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 96 ที่นั่ง และพรรคมหาชนได้ 2 ที่นั่ง อันส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว และเป็นที่มาของคำว่า “เผด็จการรัฐสภา”

การเลือกตั้งปี 2549 การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ มาพร้อมรัฐประหารในรอบ 15 ปี

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2549 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาฯ หากแต่การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2549

แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ ได้เกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 นับเป็นการรัฐประหารในรอบ 15 ปี โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ เป็นเหตุให้การเลือกตั้งในเดือนตุลาคมถูกยกเลิก และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ยังอยู่ที่ยูเอ็น ประเทศสหรัฐอเมริกา และคณะปฏิรูปการปกครองได้แต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งปี 2550 เลือกตั้งครั้งแรกหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร

การเลือกตั้งปี 2550 เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และเป็นการเลือกตั้งภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งการการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบพรรคไปแล้วกำเนิดใหม่ภายใต้ชื่อพรรคพลังประชาชน โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค และในการเลือกตั้งปี 2550 พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกมากที่สุด 233 ที่นั่ง รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ 165 ที่นั่ง หากที่สุดแล้ว พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค

แต่นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 ปี ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อกรณีการจัดรายการอาหารของนายสมัคร สุนทรเวช ทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งหลังจากนายสมัคร สุนทรเวช ถูกพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ในฐานะพี่เขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและนายกรัฐมนตรี ก่อนที่พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบพรรคในปี 2551

ซึ่งภายหลังจากการยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้สภาผู้แทนราษฎร ต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ซึ่งการลงคะแนนของสภาผู้แทนฯ ในเวลานั้นได้โหวตให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งปี 2554 “พลังประชาชน” ถูกยุบ กลับมาด้วยพรรคเพื่อไทย

หลังจากที่ประชาธิปัตย์ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐบาลในช่วงเวลาที่เกิดความวุ่นวายในประเทศ ประชาชนแบ่งเป็นสองขั้วการเมือง นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาในเดือนพฤษภาคม 2554 และมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ขณะที่พรรคพลังประชาชน ถือกำเนิดใหม่เป็นพรรคเพื่อไทย ซึ่งการเลือกตั้งในปีดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงที่ความนิยมลดลงเป็นอย่างมาก ขณะที่พรรคเพื่อไทยเลือกให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ซึ่งผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้จำนวนส.ส. มากที่สุด และส่งผลให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กลับไปเป็นฝ่ายค้านโดยได้ที่นั่งผู้แทนฯ ที่ 159 ที่นั่ง

การเลือกตั้งปี 2557 การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐประหาร

ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคม การเลือกตั้งปี 2557 เกิดขึ้นโดยกำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ. 2557 หากแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 25 กลับได้รับการต่อต้านจากคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่ต่อต้านการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ได้ และจะจัดให้มีการเลือกตั้งชดเชยในเขตที่เลือกตั้งไม่ได้ นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายข้าราชการระดับสูง ซึ่งเป็นที่โต้เถียงในปี 2554 พ้นจากตำแหน่ง ส่งผลให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ หลังจากนั้น รัฐประหารครั้งที่ 13 ก็เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา และทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดบทเฉพาะกาลในการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา ที่ถูกแต่งตั้งจาก คสช. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นานถึง 2 ปี จนมีการประกาศเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562

การเลือกตั้งปี 2562 ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงและพลังคนรุ่นใหม่

หลังรัฐประหารครั้งที่ 13 และการดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด จนกระทั่งมีกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ.2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

การเลือกตั้งครั้งนี้มีการเอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชารัฐ ระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดย ส.ส. 500 คนมาจากระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด 350 เขต เขตละคน และอีก 150 คนมาจากปาร์ตี้ลิสต์ ผู้ที่มิใช่ ส.ส. สามารถได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ซึ่งการเลือกตั้งด้วยระบบดังกล่าว พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดสองพรรคในสภาผู้แทนราษฎรเสียที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนพรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคเพิ่งตั้งได้ที่นั่งเพิ่มมากที่สุด ก่อนที่รัฐสภามีมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ในสภาผู้แทนราษฎรประยุทธ์ได้รับคะแนนเสียงจาก ส.ส. 19 พรรค นับเป็นรัฐบาลผสมที่มีจำนวนพรรคมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 มิถุนายน 2562