ความสัมพันธ์ เป็นสายใยที่ผูกพันเชื่อมโยงกันระหว่างมนุษย์ มักมีความรักและความเข้าใจเป็นตัวเชื่อมหัวใจและความรู้สึกระหว่างกันและกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์นั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ มันอาจจะเป็นความสัมพันธ์แบบครอบครัว ความสัมพันธ์แบบเพื่อน หรือความสัมพันธ์แบบคนรักก็ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความสัมพันธ์จะเป็นสายใยที่เหนียวแน่นหรือเปราะบาง ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่มีหน้าที่ดูแล รักษา และทะนุถนอมมัน จะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน
แต่ก่อนที่จะดูแล รักษา และทะนุถนอมความสัมพันธ์ได้นั้น เราจำเป็นจะต้องรู้ก่อนว่ารากฐานของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนยาวนานเป็นอย่างไร และมีพื้นฐานอะไรบ้างที่จำเป็นในการรักษาความสัมพันธ์ เพราะความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดถึงแต่ตัวเราคนเดียวเท่านั้น แต่ต้องคิดเผื่อไปที่คนอื่นด้วย ถ้าความรู้สึกของเราสำคัญ ความรู้สึกของเขาก็สำคัญ มีอะไรที่เราคาดหวังว่าจะได้จากเขา มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่เขาจะคาดหวังจากเราเช่นกัน และอะไรที่เราไม่อยากให้เขาทำกับเรา เราก็ไม่ควรจะไปทำกับเขาด้วย เพราะเขาก็คงไม่ชอบเหมือนกัน นี่จึงเป็นกฎ 7 ข้อที่พึงมีสำหรับการรักษาความสัมพันธ์
1. การเคารพและให้เกียรติกัน
การเคารพและให้เกียรติกันและกัน จัดว่าเป็นหัวใจของการรักษาความสัมพันธ์เลยก็ว่าได้ เพราะคนเราทุกคนมีอัตตา มีเกียรติ มีคุณค่าที่รู้สึกอยู่ในใจตัวเอง ซึ่งอัตตานั้น ๆ ก็มีความต้องการขั้นพื้นฐานทั่วไปของมนุษย์ด้วย โดยเฉพาะความต้องการการเคารพและให้เกียรติ ใคร ๆ ก็อยากมีตัวตนในสายตาของใครสักคน ต้องการการยอมรับจากใครสักคน อยากให้ใครสักคนเห็นคุณค่า และไม่ต้องการถูกทำลายความไว้วางใจ ทั้งหมดนี้จะถูกตอบสนองได้ด้วยการเคารพและให้เกียรติกัน เคารพและให้เกียรติในที่นี้คือ ไม่ละเมิด ไม่ทำร้ายความรู้สึก มันจึงนำไปสู่การทะนุถนอมความรู้สึกและจิตใจกัน แสดงออกและปฏิบัติต่อกันในทางที่ดี ก็จะไม่มีเหตุแห่งความไม่พอใจ ปราศจากปัญหาและความขัดแย้ง
2. ความซื่อสัตย์และจริงใจ
การมีความซื่อสัตย์และมีความจริงใจให้กัน คือการสร้างคุณค่าให้กับความสัมพันธ์ เพราะมันเป็นสิ่งที่คนเราทุกคนคาดหวังในทุกความสัมพันธ์ เป็นพื้นฐานของการเชื่อและไว้วางใจ ไม่ต้องหวาดระแวงอยู่เสมอ สามารถเปิดเผยทุกเรื่องต่อกันได้อย่างตรงไปตรงมา เป็นพื้นที่ปลอดภัยของกันและกัน ดังนั้น จงเป็นคนที่คู่ควรแก่การได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่สนิทใกล้ชิดหรือมีบทบาทสำคัญในชีวิต หากความสัมพันธ์ไม่มีพื้นฐานเป็นความซื่อสัตย์และจริงใจ มันก็จะบั่นทอนความสัมพันธ์ลงอย่างช้า ๆ เพราะคนเรารู้จักหลาบจำและเข็ดขยาด หากรู้สึกถึงความไม่ซื่อสัตย์หรือมีความไม่ไว้ใจเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว มันสามารถทำลายความสัมพันธ์อันดีที่สร้างมานับสิบ ๆ ปีได้ทันที
3. การสื่อสาร
การสื่อสาร เป็นหัวใจของการสร้างความเข้าใจระหว่างกันและกัน ซึ่งมันจำเป็นต้องมีการให้ข้อมูล มีการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความเห็น ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจและไม่มีข้อขัดแย้งที่ไม่เข้าใจกัน บ่อยครั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับใครสักคนระหองระแหง หรือจบลงง่าย ๆ เพียงเพราะการสื่อสารมีปัญหา การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการที่ไม่เคยรับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่ายเลย การที่ไม่รู้อะไรเลยนี่แหละที่อันตราย เพราะมันจะนำไปสู่การคิดไปเองโดยอนุมานเอาจากท่าทีของอีกฝ่าย ที่อาจจะแสดงความรู้สึกออกมาไม่ตรงกับใจ ความสัมพันธ์ที่ดีจึงต้องมีการสื่อสารกันด้วยใจที่อยากจะรับฝัง อยากจะเข้าใจ และอยากจะแก้ปัญหาร่วมกัน
4. การยอมรับในตัวตน
การยอมรับในตัวตน เป็นหัวใจในการสร้างความสุข อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าคนเราทุกคนล้วนมีอัตตาเป็นของตัวเอง มีความภาคภูมิใจ มีเกียรติ หรือมีคุณค่าที่ต้องการให้คนอื่นยอมรับ ต้องการมีตัวตน ต้องการให้คนอื่นเห็นคุณค่า เมื่อคิดที่จะเริ่มความสัมพันธ์แบบจริงจัง หลังจากที่รู้แล้วว่าตัวตนของคนคนนั้นเป็นอย่างไร มันก็ต้องเริ่มที่การยอมรับในตัวตนของเขาให้ได้ก่อน ไม่ใช่ไปเปลี่ยนตัวตนที่เขาเป็นมาตลอดของเขา อย่างไรก็ตาม การยอมรับในตัวตนของอีกฝ่ายไม่ได้หมายความว่าต่างคนจะต่างเข้าหากันแบบ “สะดวกแบบนี้” แสดงตัวตนของตัวเองเต็มที่ชนิดที่ไม่เกรงใจกัน เพราะความสัมพันธ์ที่ดี เราต่างก็ต้องเสียสละปรับบางสิ่งบางอย่างที่มันแตกต่างกัน เพื่อให้มันลงล็อกเข้ากันพอดีจะดีกว่า
5. ความเข้าอกเข้าใจ
ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มาพร้อมความพยายามจะเข้าอกเข้าใจกัน ยากที่จะไปกันรอด บ่อยครั้งทีเดียว ที่การที่เราไม่เข้าใจคนอื่น มันไม่ใช่เพราะเราไม่รู้เรื่องหรือไม่รู้ความหมายในสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อสารมา หรือเพราะมีประสบการณ์ มีพื้นฐานชีวิตที่ไม่เหมือนกันเลยไม่เข้าใจมุมนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ แต่มันอาจมาจากทิฐิ ความใจแคบ ความไม่ยอมเปิดใจของเรามากกว่า ยึดมั่นในมุมมองของตนเองจนไม่เปิดใจจะฟังอีกฝ่ายด้วยหัวใจที่อยากจะเข้าใจจริง ๆ เสแสร้งว่าฟัง แต่ในใจรู้สึกขัดแย้ง เถียงกลับอยู่เสมอ แล้วจะไปเข้าใจคนอื่นจริง ๆ ได้อย่างไร ในความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข การจะเข้าอกเข้าใจคนอื่น เราต้องฟังอย่างตั้งใจ ฟังมากกว่าพูด รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และมองในมุมคนอื่นบ้าง
6. การชื่นชมและการแสดงความขอบคุณ
การชื่นชมและการแสดงความขอบคุณ สำคัญในแง่ที่แสดงให้เห็นถึงการเติมเต็มความสัมพันธ์ให้แก่กัน ทำให้การเห็นถึงคุณค่าของความสัมพันธ์ จริง ๆ แล้ว ความสัมพันธ์มันมีความงดงามในตัวของมันเอง แต่มันจะงดงามยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมีการเติมเต็มอยู่เป็นประจำ ถ้ารู้สึกขอบคุณที่มีใครสักคนอยู่ในชีวิตและคอยเคียงข้างกัน ก็พูดไปเลยว่าขอบคุณ เขาจะได้รู้ว่าตัวเองมีความสำคัญแค่ไหน ถ้ารู้สึกว่าใครสักคนเป็นเรื่องดี ๆ เป็นเรื่องที่สร้างความสุข เป็นอะไรที่น่าสรรเสริญ ก็พูดก็บอกให้เขารู้ เขาจะได้รู้ว่าตัวเขามีคุณค่าต่อใครสักคนมากขนาดไหน การจะได้เจอใครสักคนที่ทำให้เรารู้สึกดีมีความสุขมันคงไม่ง่ายนัก ที่สำคัญ มันช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ด้วย
7. การใช้เวลาร่วมกันและการให้พื้นที่ส่วนตัว
ทุกคนอยากมีช่วงเวลาที่ได้ใช้เวลาร่วมกับคนที่ตนรัก แต่ในขณะเดียวกัน บางครั้ง ทุกคนก็ต้องการช่องว่างและเวลาส่วนตัวสำหรับตนเอง การเว้นห่างจากกันบ้างมีความสำคัญพอ ๆ กับการใช้เวลาร่วมกัน เพราะเมื่อใกล้กันมากเกินไป นานวันเข้ามันจะทำให้เกิดภาวะกระอักกระอ่วน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่ถ้าไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันเลย ช่องว่างจะค่อย ๆ ขยับห่างออกจากกัน ความห่างเหินและชินชาในความรู้สึกเข้ามาแทนที่ แล้วจะมีความสัมพันธ์ไปเพื่ออะไร ข้อนี้มันจึงเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน ต้องทำให้มันมีความสมดุลกัน ทั้งการหาเวลาที่จะได้ใช้ด้วยกัน อบอุ่นหัวใจ และช่องว่างสำหรับหายใจสบาย ๆ อยู่กับตัวเอง เพื่อให้ได้มีความรู้สึกคิดถึงและโหยหากันมากขึ้น