อย่าชินชา! จนทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติ

“การใช้ความรุนแรง” ถือเป็นปัญหาที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมไทยและสังคมโลก แต่กลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนและส่งเสริมปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทย เพราะอาชญากรผู้ก่อเหตุอาชญากรรมจำนวนไม่น้อยเคยมีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นแค่คนที่เคยเห็นความรุนแรงซ้ำ ๆ หรือเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเสียเอง สิ่งที่น่าตกใจก็คือ คนเหล่านี้มีความเฉยชาต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น รู้สึกชินชากับความรุนแรง ไม่ได้มองว่ามันเป็นการกระทำผิดแต่อย่างใด รวมถึงสามารถความก่อรุนแรงได้โดยมองว่าเป็นเรื่องธรรมปกติที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน

ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนทัศนคติให้ได้ก็คือ ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ ไม่ควรมีใครที่จะต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงไม่ว่าจะกรณีใด และอย่ามองความรุนแรงด้วยสายตาที่คุ้นชิน เพราะนั่นอาจนำมาซึ่งปัญหาที่มากกว่าความรุนแรง

ความรุนแรงถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน

สังคมไทยพยายามลดทอนการตระหนักถึงประเด็นเรื่องความรุนแรงมานานแล้ว โดยการทำให้มันกลายเป็นเรื่องตลกเสีย และหลายคนก็มองความรุนแรงในมุมตลกขบขันจนชินชา ย้อนไปหลายปีก่อน มุกตลกยอดฮิตที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้มากและเล่นกันบ่อย ๆ คือ มุกที่คนหนึ่งจะกระทำความรุนแรงกับอีกคนหนึ่งในเชิงตลกขบขัน ไม่ว่าจะเป็นการรังแก กลั่นแกล้งให้อีกฝ่ายเจ็บตัวเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือมุกตลกคาเฟ่ที่จะใช้ถาดหรือท่อยางสีดำ ๆ ฟาดหัวอีกฝ่าย หรืออาจเป็นแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสี ๆ ที่นำมาพับเป็นพัดฟาดใส่อีกฝ่าย การดีดหนังยางใส่อีกฝ่าย และการกลั่นแกล้งรูปแบบอื่น ๆ

อันที่จริง เป็นไปได้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการแสดง ที่ฟาดลงไปแล้วเน้นให้เกิดเสียงดังมากกว่า ซึ่งคนที่โดนฟาดอาจจะไม่เจ็บหรือเจ็บแค่นิดหน่อย (เข้าใจได้ว่าเป็นการแสดง) แต่สิ่งที่ค่อย ๆ ถูกปลูกฝังหยั่งรากลึกลงไปในจิตใต้สำนึกคนดู คือเรื่องการใช้ความรุนแรงมากกว่า และรายการตลกแบบนี้ก็มีผู้ชมเป็นเด็กและเยาวชนไม่น้อยเลยด้วย หากคนดูไม่มีวิจารณญาณมากพอว่านั่นเป็นการแสดง ก็จะเข้าใจว่าการใช้ความรุนแรงแกล้งคนอื่นสามารถเรียกเสียงหัวเราะได้ เพราะนักแสดงตลกทำแล้วมีคนขำ ตามหลักพฤติกรรมศาสตร์ พฤติกรรมไหนที่ทำแล้วมีคนสนใจ ได้รับคำชื่นชม ได้รับการยอมรับ พฤติกรรมนั้นก็จะถูกกระทำมากขึ้น คนจะเลียนแบบโดยไม่คิดหรอกว่าคือการแสดง

เราถูกหล่อหลอมให้รู้สึกว่าความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตปกติ

ด้วยสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ทำให้เราได้สัมผัสกับความรุนแรงประเภทต่าง ๆ ทุกวัน หลายคนก็ค่อย ๆ ซึมซับเอาความรุนแรงที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันเข้าไว้กับตัว ความคุ้นเคยที่เห็นทุกวันจนชินตา และไหนความรุนแรงจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลกในบางกรณีอีก ได้ดูได้เห็นแล้วก็ชอบ ขำขันกันไป ในที่สุดก็ทำให้เรามองว่าความรุนแรงมันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ซึ่งชุดความคิดเช่นนี้น่ากลัวมาก เพราะถ้าเราชินชากับความรุนแรงจนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ เราก็จะไม่รู้สึกว่าความเบื้องหลังของรุนแรงนั้นสร้างความเจ็บปวดให้กับคนที่ตกเป็นเหยื่อมากแค่ไหน รวมถึงเราเองก็อาจทำพฤติกรรมเช่นนั้น เพราะไม่คิดว่ามันเป็นความรุนแรงที่ทำร้ายใครได้

การที่คนเราได้สัมผัสกับความรุนแรงซ้ำ ๆ จนคิดว่ามันเป็นเรื่องทั่วไป จะกลายเป็นปัญหาสำหรับทุกคน ในเมื่อเราเห็นคนที่กำลังถูกกระทำความรุนแรงอยู่ตรงหน้า เราก็สามารถเมินเฉยใส่ได้โดยไม่ให้ความช่วยเหลือหรือแจ้งตำรวจ เพราะไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นความรุนแรงที่เหยื่อต้องการความช่วยเหลือ อย่างเด็กที่เติบโตมาโดยเห็นพ่อแม่ใช้ความรุนแรงกันบ่อย ๆ หรือตัวเด็กอาจโดนกระทำความรุนแรงเอง แต่พอเวลาผ่านไปประเดี๋ยวเดียว พ่อแม่ก็กลับมาดีกัน หรือหันมาซื้อขนมซื้อของเล่นมาให้ บอกรักกันในบ้าน เด็กก็จะเข้าใจว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่ “ไม่เห็นจะมีอะไร” เมื่อเด็กเติบโตมาแบบนี้ ในอนาคตเด็กที่โตเป็นผู้ใหญ่ก็นำไปใช้กับครอบครัวตัวเอง เป็นวังวนไม่จบสิ้น

“เหยื่อ” คือคนที่เจ็บปวด บาดแผลที่รักษาไม่หายตลอดชีวิต

การใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไรก็ตาม ถือเป็นการทำร้ายและลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกกระทำ สำหรับความรุนแรงทางวาจา คนพูดลืมแต่คนฟังจำฝังใจ ส่วนความรุนแรงทางร่างกาย ได้รับการรักษาแล้วอาจจะหายหรือไม่หายก็แล้วแต่ว่าถูกกระทำความรุนแรงมามากน้อยแค่ไหน อย่างบางกรณีที่ตกเป็นเหยื่อของการหึงหวง ทั้งการสาดน้ำกรดหรือราดน้ำมันจุดไฟเผาทั้งเป็น บาดแผลทางร่างกายไม่มีทางรักษาหายได้แน่นอน ในขณะเดียวกัน มันยังกลายเป็นความรุนแรงทางจิตใจที่ทำให้แหลกสลาย จากคนร่าเริงสดใส กลายเป็นคนจิตตกที่หวาดกลัวผู้คน บาดแผลทั้งกายและใจที่ถูกทิ้งไว้กับ “เหยื่อ” จะเป็นความเจ็บปวดที่ต้องทนทุกข์ทรมานโดยไม่สามารถลืมได้ลง

และทั้งที่เหยื่อต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางจิตใจไปตลอดชีวิต รวมถึงบางรายไม่ได้รับความยุติธรรมในทางคดีความ แต่เหยื่อกลุ่มนี้บางรายยังโดนซ้ำเติมจากสังคม ด้วยพฤติกรรมที่เรียกว่า “การกล่าวโทษเหยื่อ” หรือ Victim Blaming อีกด้วย นั่นเท่ากับว่าเหยื่อไม่ได้ทนทุกข์ทรมานจากประสบการณ์เลวร้ายที่ถูกใช้ความรุนแรงเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องทนรับแรงกระแทกจากการถูกซ้ำเติมจากสังคมอีกด้วย สำหรับบางคน ชีวิตไม่อาจกลับไปเป็นเหมือนก่อนหน้าที่จะเจอเข้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงได้อีกเลย และบาดแผลทั้งหมดทั้งมวลนี่คือสิ่งที่คนคนหนึ่งอาจเจอได้ เมื่อตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

ทุกคนต้องการได้รับความปลอดภัยทั้งกายและใจ

ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ Abraham Maslow เชื่อว่ามนุษย์จะมีลำดับความต้องการแบ่งออกเป็น 5 ขั้น ขั้นแรกคือความต้องการพื้นฐาน หลัก ๆ คือปัจจัย 4 ขั้นที่สอง มนุษย์ต้องการความปลอดภัย ขั้นที่สาม มนุษย์ต้องการเป็นการเป็นที่รักและได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ขั้นที่สี่ มนุษย์ต้องการการมีคุณค่าในตัวเอง และในขั้นที่ห้า มนุษย์ปรารถนาที่จะสามารถเติมเต็มภายในตนเองได้อย่างสมบูรณ์ เราจะพบว่า “ความปลอดภัย” เป็นความต้องการที่มนุษย์พึงปรารถนา ไม่ว่าจะความปลอดภัยทางกายหรือความปลอดภัยทางใจ เพราะฉะนั้น ความรุนแรงจึงกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถได้รับความปลอดภัยได้ตามที่ต้องการ

ดังนั้น นอกจากการที่ต้องระบุต้นตอที่แท้จริงของปัญหาและพฤติกรรมความรุนแรงในสังคมให้ได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร และพยายามที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ความรุนแรงมันน้อยลงแล้ว การพยายามเป็นส่วนหนึ่งที่จะหยุดความรุนแรงตรงหน้า ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม แค่เป็นหูเป็นตาก็สามารถช่วยเหลือให้คนที่กำลังจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงหลีกพ้นจากสถานการณ์นั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ เราต้องประเมินความสามารถของตนเองก่อนด้วยว่าจะช่วยเหลือได้แค่ไหน หากไม่สามารถช่วยเหลือได้ด้วยตนเอง ควรขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องปรับเปลี่ยนที่ทัศนคติของเราเองด้วยว่าไม่มีใครสมควรต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรง เพราะมันล้วนสร้างบาดแผลในใจได้ไปตลอดชีวิต

ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม

บ่อยครั้งที่ความรุนแรงเลยเถิดไปเป็นปัญหาอาชญากรรม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่ “ผิดกฎหมาย” ยกตัวอย่างที่ความรุนแรงในครอบครัว สามีซ้อมภรรยาบางตาย พ่อแม่ทำร้ายลูก ไม่เพียงเท่านั้น ความรุนแรงยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนให้ “อาชญากร” ลงมือก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญได้ ในหลาย ๆ กรณีที่เคยเกิดขึ้น อาชญากรที่ก่อคดีร้ายแรง ล้วนมีประวัติในเรื่องที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมาก่อน อาจจะเป็นความรุนแรงในครอบครัวเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ความรุนแรงในที่ทำงาน หรือแม้แต่การถูกปลูกฝังให้ชินชากับความรุนแรง คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน มันจะเป็นระเบิดเวลา ที่จะระเบิดโครมใหญ่เมื่อได้เวลาอันสมควร

คนที่เคยเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง แม้กระทั่งพวกเขาเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำเสียเองจากความรุนแรงในครอบครัว สามารถสร้างให้คนดี ๆ คนหนึ่งกลายเป็นฆาตกรได้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่คนที่เคยตกเป็นเหยื่อมาโดยตลอดลุกขึ้นมาตอบโต้ด้วยความคับแค้นใจ ส่วนใหญ่จะขาดสติถึงขั้นคลุ้มคลั่ง ก่อเหตุโดยไร้สามัญสำนึกที่รู้สึกเกรงกลัวต่อบาปกรรมในทันที อาจจะลุกขึ้นมาก่อโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ทำการสังหารหมู่ทั้งคนที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องเลยก็ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน สังคมไทยมีปัญหาจากอาชญากรรมร้ายแรงค่อนข้างสูง การที่คนหันมาตระหนักว่าเรื่องของความรุนแรงที่ส่งต่อกันมาเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ก็จะช่วยทำให้ปัญหาอาชญกรรมเบาลงได้