สุขแบบสามัญที่ไม่อยู่อย่าง “อยาก”

ช่วงเวลานี้สำหรับผู้เขียนแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวสำหรับการเปิดฤดูกาลใหม่ของการแข่งขันพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (2017-18) ตามสายอาชีพก็ต้องเตรียมทั้งหน้าฉาก และ หลังฉาก ทำให้ได้พูดคุยกับผู้คนและทีมงานที่ได้ร่วมงานกันมาก่อน และ ที่กำลังจะมาร่วมงานกันใหม่ จะว่าไปการได้พูดคุยและทำงานกับผู้คนมากหน้าหลายตา ก็เหมือนได้เจอกับปลาหลายน้ำ ต่างความคิด ต่างสังคม ต่างทัศนคติ ก็เลยทำให้ได้ฟังความคิดเห็นแบบหลากหลายรูปแบบ

แต่หัวข้อหนึ่งที่เรียกได้ว่า ได้พูดซ้ำกันเกือบทุกวันต่างกันแค่ผู้คนและสถานที่ คือเรื่องของการแข่งขันระหว่างคลื่นลูกเก่าและคลื่นลูกใหม่ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีคนอยากเกิด อยากเป็น อยากทำ มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงแสดงตัวอย่างเปิดเผยบ้างไม่เปิดเผยบ้าง เล่นเอาคนที่ยังรักษาเก้าอี้อยู่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวงว่าตัวเองจะต้องตกจากสถานะที่เป็นอยู่ ฟังแล้วเหนื่อยนะคะ แต่ถ้าได้เข้ามาสัมผัสจริงๆคุณผู้อ่านจะรู้ว่าเหนื่อยยิ่งกว่า

และพอฟังมากๆเข้าก็นึกถึงเพลง Loser เพลงที่ 11 จากอัลบั้มหมายเลข 9 ของ ร็อบบี้ วิลเลี่ยมส์ Take the Crown ในปี 2012 อันที่จริงออกจะลืมๆเพลงนี้ไปแล้วด้วยซ้ำจนกระทั่งวันหนึ่งที่รถติดสาหัส (อันที่จริงก็ติดทุกวัน) บังเอิญที่ซีดีอัลบั้มนี้ค้างอยู่ในเครื่องเสียงรถยนต์ รอบแรกก็ฟังแบบผ่านๆ แต่พอวนกลับมาถึงรอบที่สอง ก็เหมือนมีคนมาสะกิด เพราะเนื้อเพลงพาให้คิดถึงเรื่องราวของผู้คนที่่ต่างพากันตะเกียกตะกายหาสิ่งที่เรียกว่า “ชื่อเสียง” หรือ ความพยายามจะขึ้นไปยืนอยู่บนจุดที่เหนือกว่าคนอื่น

เพลง Loser เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า There will always be Someone better than you Even if you’re the best. เป็นประโยคที่ฟังแล้ว เหมือนมีใครมาเตือนสติบอกเราว่า “เฮ้ย เก่งแค่ไหนก็มีคนเหนือกว่าอย่างได้ผยองนักเลย” และบอกต่อแบบให้คิดว่า “หยุดที่จะแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตายกันก่อน แล้วหันมามองหน้ากัน ไม่อย่างนั้นเราก็จะกลายเป็นผู้แพ้ทั้งคู่” So let’s stop the Competition now Or we will both be losers.

ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เราต่างก็ต้องแข่งขันในทุกๆเรื่อง เพียงแต่ปัจจุบันการแข่งขันรุนแรงขึ้น “ความอยาก” ของคนมีมากขึ้นเลยทำให้หลายคนสามารถใช้ทุกวิธีเพื่อไปสู่จุดที่สูงที่สูดโดยไม่สนใจว่า วิธีการเหล่านั้นจะสร้างความเดือดร้อนให้ใครไหม เป็นการแข่งขันที่ทำให้คนหนึ่งคนสามารถ หมดความนับถือตนเองเพียงเพื่อให้ได้ที่ยืนอยู่กลางแสงไฟที่แม้ไม่ได้สาดส่องลงมาโดนเต็มตัว หากขอแค่ปลายแสงทอดมาโดนเพียงเล็กน้อยก็ยังเอา

เหมือนในเพลง Loser ที่เนื้อหาในเพลงนั้นเล่าว่า “ทุกคนต่างก็อยากขึ้นไปอยู่บนจุดที่สูงที่สุด แต่พอเอาเข้าจริงแล้วการอยู่บนจุดที่สูงที่สุดนั้นไม่มีใครรับประกันให้คุณได้ว่าจะมีความยั่งยืนไม่ว่าคุณจะเป็นจะใครก็ตาม ต่อให้เก่งแค่ไหน มีความสามารถมากขนาดไหนวันหนึ่งก็ต้องลงมาจากจุดสูงที่สุดที่ตนเองเคยคิดว่าอยู่เหนือกว่าคนอื่น และเมื่อลงมาแล้วจะสามารถเข้าใจความธรรมดาสามัญของชีวิตได้เพียงใด”

การเป็น Loser หรือ ผู้แพ้ ในเพลงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไปไม่ถึงจุดที่สูงกว่าคนอื่น แต่เป็นการมองชีวิตด้วยความเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เก่งที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีคนมารักมากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นคนโปรดของใคร หากเราเคารพในความเป็นตนเองก็แค่เดินออกมา แล้วมองโลกด้วยความเข้าใจ เพราะการใช้ชีวิตอย่างสามัญในโลกใบนี้ก็มีความสุขได้เช่นกัน

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ