ลาก่อน “เบนนิงตัน” การต่อสู้กับปิศาจในใจเธอได้จบลงแล้ว

“Hallelujah” บทเพลงของ เลียวนาร์ด โคเฮน บทเพลงที่ตั้งคำถามเรื่องความรักกับความศรัทธาผ่านชื่อเพลงที่มีความหมายถึงการ “สรรเสริญพระเจ้า” เป็นบทเพลงที่ เชสเตอร์ เบนนิงตัน เลือกร้องเพื่อไว้อาลัยให้กับเพื่อนสนิท คริส คอร์เนลล์ นักร้องนำวง ซาวด์การ์เด้น ที่เสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการร้องเพลง “Hallelujah” ของ เบนนิงตันในครั้งนั้นจะสะท้อนความรู้สึกที่อยู่ในใจของเขาได้เป็นอย่างดี

การจากไปของ เบนนิ่งตันในวัย 41 ปีโดยถูกระบุว่า “เป็นการฆ่าตัวตาย” ทำให้หลายคนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ของเขาเมื่อปี 2008 เมื่อเบนนิงตัน เปิดเผยกับสื่อว่ามีชีวิตวัยเด็กอันเลวร้ายและเป็นผลให้เขาติดเหล้าอย่างหนักเพราะต้องการลืมภาพอดีตเหล่านั้น อันเกิดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ จากน้ำมือของเพื่อนรุ่นพี่ ในเวลานั้นเขาสารภาพว่าไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือเพราะไม่อยากให้ใครคิดว่าเขาเป็นเกย์ และ กลัวว่าสิ่งที่เล่าไปจะไม่มีใครเชื่อ

เบนนิงตัน ถูกล่วงละเมิดทางเพศอยู่จนกระทั่งอายุ 13 ปี ขณะที่ปัญหาภายในครอบครัวก็รุมเร้าสร้างความกดดันให้กับเขาอย่างหนัก นักร้องนำของวงดนตรีที่ได้ชื่อว่าโด่งดังที่สุดในยุค 2000 บอกว่าการได้วาดภาพ เขียนบทกวี และ เขียนเพลง คือหนทางเดียวที่ทำให้เขาได้หลุดออกจากโลกแห่งความจริงอันแสนเลวร้าย

หลังจากทั่วทั้งโลกได้ทำความรู้จักกับ ลินคิน ปาร์ค ในฐานะวงที่มีสไตล์แบบ NU Metal ในปี 2000 กับอัลบั้ม Hybrid Theory ชื่อเสียงเงินทอง ก็ถาโถมเข้ามาหาสมาชิกทุกคนในวงรวมไปถึง เชสเตอร์ เบนนิงตันที่ได้ส่งบทเพลงเพื่อบรรเทาความเศร้าและสร้างความหวังให้กับคนทั่วโลก หากแต่บทเพลงเหล่านั้นไม่ได้บรรเทาบาดแผลที่อยู่ภายในของเชสเตอร์ได้แม้แต่น้อย

ชยุติ เชษฐสันติคุณ เจ้าของคอลัมน์ “หลังจอกระจก” ของ Tonkit360 กล่าวถึงการจากไปของ เชสเตอร์ เบนนิงตัน ที่มีสื่อในต่างประเทศระบุว่าอาจเกี่ยวโยงกับการจากไปของ คริส คอร์เนลล์ว่า “ส่วนตัวแล้วผมว่ามันยากที่คนนอกจะสามารถรู้ได้ว่าทำไมเชสเตอร์ถึงทำอย่างนั้น ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เขาฆ่าตัวตาย แต่การตายของคริส คอร์เนลคงมีส่วนอย่างไม่น้อย เวลาเราเสียเพื่อนแบบนั้น เพื่อนที่ก็กำลังต่อสู้กับปัญหาที่ตัวเราเองก็เผชิญอยู่ มันคงทำให้การต่อสู้ของเชสเตอร์เองยิ่งยากลำบากขึ้นอีกสำหรับตัวเขา

และอีกครั้งที่โรคซึมเศร้า ที่กลายมาตัวต้นเหตุของการเสียชีวิตจนทำให้เกิด “ดราม่า” อีกครั้งขึ้นในโลกโซเชียลเมืองไทยซึ่งเรื่องนี้ ชยุติ ให้มุมมองซึ่งเป็นบทสรุปของวันแห่งความเศร้าของแฟนเพลงได้เป็นอย่างดีว่า

“วงการดนตรีก็เป็นพื้นที่ที่คงอยู่ยากไม่ต่างกับวงการบันเทิงอื่นๆ การที่คนเราต้องมาอยู่ในสายตาของคนเป็นล้านที่คอยมองทุกย่างก้าวและการกระทำมันคงก่อให้เกิดความเครียดไม่น้อย ยังไม่นับว่าสถานการณ์แบบนี้ก็ยิ่งโหดร้ายสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า การที่ต้องสู้ยิ้มให้ทั้งครอบครัวและเพื่อนสนิท และแฟนๆ ทั่วโลก”

“การหาพื้นที่ให้ตัวเองคงเป็นเรื่องยาก แต่ในทางกลับกัน ดนตรีก็เป็นทางออกสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากมาย และผมว่าคนเราชอบที่จะฟังเพลงของคนเหล่านี้เพราะน้อยคนนักที่จะเข้าใจความเศร้าจนสื่อออกได้อย่างตรงใจผู้คนมากเท่าพวกเขา วงการดนตรีโหดร้ายหรือไม่อาจจะแล้วแต่คน

แต่คนที่ประสบความสำเร็จ ระดับที่ได้เป็นที่พักใจ หรือพูดแทนคนเป็นล้านๆ มักจะเป็นคนที่ต้องต่อสู้กับปิศาจในใจอยู่เสมอ”