เวลานี่เดินเร็วจริง ๆ เลยเผลอแป๊บเดียวนี่ก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 2565 แล้วสำหรับใครที่มีเป้าหมายทางการเงินในการเก็บออมปีนี้ แต่ 6 เดือนผ่านมาแล้ว ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เก็บได้บ้างไม่ได้บ้าง เป้าหมายการเงินดูเลือนราง ยังมองไม่เห็นโอกาสทำให้สำเร็จ ในเดือนนี้ลองกลับมารวบรวมความตั้งใจใหม่อีกครั้ง และวางแผนเก็บเงินสู่หลักแสนภายในครึ่งปีหลัง หรือหลักหมื่นในครึ่งปี ไม่ว่าจะได้ก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ก็เพื่อเป็นของขวัญดี ๆ ให้ชีวิตในช่วงปีใหม่ อยากใช้ลงทุนทำธุรกิจ หรือเก็บเงินซื้อของตามฝัน แค่ทำตามวิธีนี้ เงินแสนปลายปีรอเราอยู่
เรามาเริ่มต้นทบทวนวางแผนการเงินกันก่อนว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดอะไร และจะนำไปปรับใช้อะไร
ทบทวนเป้าหมายที่วางไว้
ต้องบอกว่าปีนี้เป็นปีที่สาหัสอีกปีเลยทีเดียว สำหรับใครที่ต้นปีเคยตั้งเป้าหมายการออมไว้ค่อนข้างสูง แต่ในระหว่างทางไม่สามารถทำได้ อาจเพราะสถานการณ์โควิด-19 ภาวะเงินเฟ้อ หรือเพราะรายได้ลดลง แต่มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว หรืออาจเป็นเพราะการบริหารเงินส่วนตัวที่ผิดพลาด ใช้เงินนอกแพลน ทำให้การเก็บเงินไม่เป็นไปตามเป้า ในเดือนนี้ลองมาทบทวนเป้าหมายทางการเงินใหม่ สำหรับใครที่รายได้ลดลง และภาระหนี้สินเยอะ สามารถปรับลดเป้าหมายทางการเงินลง เก็บเงินรายเดือนในจำนวนที่ไม่ตึงมือเกินไป เอาใหม่ เริ่มใหม่
โดยออม 20-30 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือตามกำลังความสามารถ ถึงปลายปีจะได้เงินก้อนน้อยกว่าเดิม แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเงินเก็บเลย การทบทวนเป้าหมายการออมให้เหมาะกับรายได้ ช่วยวางแผนใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายรับในปัจจุบัน ถึงไม่ได้เงินก้อนตามเป้าหมายที่วางไว้ในครั้งแรก แต่ยังสามารถมีเงินเก็บได้ตามที่ตั้งใจ ปลายปีมีเงินก้อนเก็บไว้ ไม่ต้องแบกภาระหนักมากจนทำให้ชีวิตขาดความสุข
จัดระเบียบเงิน แยกบัญชี
ความสับสนของการใช้เงินในแต่ละเดือน เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเก็บเงินตามเป้าหมายไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การแบ่งสัดส่วนของเงินแต่ละประเภทให้ชัดเจน จะช่วยให้เราสามารถใช้เงินได้ตามแผนที่วางไว้
1. บัญชีค่าใช้จ่ายประจำเดือน ในแต่ละเดือนเราต้องมีค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และภาระหนี้ เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายความบันเทิงต่าง ๆ ในส่วนนี้ควรแยกเก็บไว้ในบัญชีที่เราใช้ประจำ
2. บัญชีออมตามฝัน เป็นบัญชีที่ใช้สำหรับเก็บเงินออมระยะสั้น และระยะยาว เพื่อทำตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น เก็บเงินสำหรับท่องเที่ยว ดาวน์รถ ลงทุนธุรกิจ หรือวางแผนเกษียณ
3. บัญชีฉุกเฉิน สำหรับบัญชีประเภทนี้ ใช้เพื่อกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น การรักษาพยาบาล อุบัติเหตุ ตกงานกะทันหัน ดังนั้น ควรเก็บเงินไว้ในบัญชีที่มีสภาพคล่องสูง หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถนำออกมาใช้ได้ง่าย
เริ่มวางแผนเรื่องการลดหย่อนภาษีแล้วหรือยัง
กลางปีถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องเริ่มเตรียมตัวในเรื่องของการลดหย่อนภาษี แทนที่จะไปศึกษาช่วงโค้งสุดท้ายของปลายปี โดยจะมีประเภทการลดหย่อนภาษีที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งกองทุน ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ การบริจาค และอื่น ๆ ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับคงไม่ใช่แค่เรื่องการลดหย่อนภาษีเพียงเท่านั้น แต่ยังได้ในเรื่องของการลงทุน ความคุ้มครองชีวิตด้วย และหากเราศึกษาไว้ล่วงหน้า ช่วงปลายปีที่เริ่มมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมา ก็จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกได้ง่ายยิ่งขึ้นนั่นเอง
การลดหย่อนภาษีจะเป็นอีกตัวช่วยที่จะทำให้เราได้ภาษีเงินคืน และเซฟค่าใช้จ่ายได้อีก หากเราเลือกวิธีในการลดหย่อนภาษีได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี หรือไม่เคยยื่นภาษีก็ควรศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียด
เลือกวิธีเก็บเงินใหม่ ๆ
ผ่านมาแล้วครึ่งปี แต่หากเรายังใช้วิธีเก็บเงินแบบเดิม ๆ แต่ไม่ได้ผลสักที ควรเปลี่ยนวิธีเก็บเงินใหม่ ๆ ได้แล้ว เพื่อให้เราถึงเป้าหมายได้ตามต้องการ
เก็บเงินรายสัปดาห์ ยกตัวอย่างหากคุณมีเงินเดือน 20,000 บาท อยากออมให้ได้สัปดาห์ละ 2,000 บาท 1 เดือนมี 4 สัปดาห์ ก็หักไว้ก่อน 2,000 × 4 = 8,000 บาท จะเหลือเงินไว้ใช้จ่ายต่อเดือน คือ 20,000 – 8,000=12,000 บาท และพยายามบริหารจัดการเงินจำนวน 12,000 นี้ให้อยู่รอดจนถึงสิ้นเดือน หรือสามารถเก็บได้เท่าที่ตัวเองไหว เช่น เก็บอาทิตย์ละ 1,000 บาทก็ได้ แบบนี้เป็นต้น
เก็บเงินรายเดือน การออมเงินรายเดือนในครึ่งปีหลัง แบบเห็นผลจริง ๆ ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น อยากเก็บเงินให้ได้ 1 แสนบาทครึ่งปีหลัง ก็ให้เอา 1 แสนหาร 6 เดือน จะได้เท่ากับ 16,000 บาท และเลือกวันเก็บเงินตามความต้องการของเรา เพื่อเพิ่มสนุกสนานในการออมเงิน เช่น วันเงินเดือนออก วันออกสลากกินแบ่งรัฐบาล วันเกิดของเราทุกเดือน โดยเลือกวิธีการหักบัญชีอัตโนมัติในวันที่เลือกไว้ เพื่อป้องกันการลืมเก็บออมเงินตามแผน
เก็บเงินโบนัส สำหรับใครที่ยังมีโบนัสจากการทำงานประจำปี อีกวิธีที่จะช่วยให้ถึงเป้าหมายการเงินเร็วขึ้น คือ การออมจากเงินโบนัสที่ได้รับ โดยเลือกออมในจำนวน 50 เปอร์เซนต์ขึ้นไป หรือเก็บเงินจากค่าคอมมิชชั่นก็ได้ ได้เท่าไรเก็บให้หมด แบบนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ไม่เบียดเบียนเงินเดือนที่ได้รับ แถมยังได้เก็บเงินเป็นก้อนอีกด้วย
เมื่อเก็บเงินไปได้สักพัก แน่นอนว่าจะมีเงินออมก้อนแรก เงินก้อนนี้ล่ะเปรียบเสมือนต้นกล้าอ่อนที่รอเรานำไปลงปลูก เพื่อหวังจะให้มันงอกงามขึ้นมาเป็นต้นไม้ใหญ่ให้เราได้อิงแอบอาศัยในภายภาคหน้า
หมั่นตรวจสอบสุขภาพการเงินอย่างสม่ำเสมอ
การที่สุขภาพร่างกาย สุขภาพใจจะดี สุขภาพการเงินของเราก็ต้องดีก่อนด้วย ซึ่งวิธีตรวจสอบสุขภาพการเงินก็มีหลายวิธี เช่น สำรวจภาระหนี้สิน เงินออมฉุกเฉินมีเพียงพอหรือไม่ ตรวจเครดิตบูโรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเอง หรืออาจมี “หนี้งอก” จากภัยไซเบอร์ทางการเงิน เป็นต้น
ทั้งนี้มีเราตั้งเป้าหมาย แต่ไม่สามารถทำตามที่วางแผนไว้ได้ ก็ต้องกลับมาทบทวนโดยละเอียดว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร และเริ่มปรับเปลี่ยนในเรื่องของวินัยใหม่ เคร่งครัดในเรื่องของการออมเงินมากขึ้น หรือแผนที่วางไว้มากขึ้นเพื่อที่เราจะทำตามอย่างที่ตั้งใจได้สำเร็จ