เราอยู่ในยุคที่สุจริตชนต้องไฝว้กับ แก๊ง Call Center (เอาจริงดิ!!)

หลายวันก่อนเพื่อนสนิทของผู้เขียนที่หน้าที่การงานอยู่ในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โทรมาเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงขบขัน หลังเจอโทรศัพท์จากแก๊ง Call Center กับตัวเอง เพื่อนเล่าด้วยความสนุกกับการกวนประสาทแก๊ง 18 มงกุฎด้วยการต่อปากต่อคำกลับไป ผู้เขียนนั่งฟังที่เพื่อนเล่าใจหนึ่งก็ขำ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดตามไปด้วยว่าทำไมเราต้องมาทำอะไรกันแบบนี้

ทำไมคนทำมาหากินสุจริตต้องเจอกับมิจฉาชีพโดยตรงโดยที่ไม่มีหน่วยงานภาครัฐหน่วยไหนแก้ไขเลยหรือ เพราะไม่เพียงแต่เพื่อนของผู้เขียน คนรอบข้าง หรือแม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็เจอโทรศัพท์สายแปลก โชว์เบอร์แปลก บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ Call Center จากธนาคารบ้าง จากสำนักงานตำรวจบ้าง หรือแม้กระทั่งจาก กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่ระบุเอาไว้ในข้อที่ 14 ว่า

“คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ และคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม”

ขณะเดียวกัน กสทช. คือหน่วยงานที่อยู่ในการกำกับของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีวิสัยทัศน์ระบุไว้ในเว็บไซต์กระทรวงว่า “เป็นผู้นำและผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0” แถมมีเจ้ากระทรวงคนปัจจุบันที่อายุยังไม่มากอยู่ในวัย 50 ต้น ๆ แต่ดูเหมือนว่าการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง แก๊ง Call Center และ SMS หลอกลวงนั้นจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า และทำงานในระบบราชการที่เราท่านเมื่อมองตากันก็รู้ดีว่าเป็นอย่างไร

หลายคนอาจชี้นิ้วไปที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ แต่ถ้าดูในรายละเอียดแล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นด้วยถึงจะทำให้ปัญหาทุเลาได้ เพราะเรื่องของแก๊ง Call Center อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลฯ อย่าง กสทช. ขณะเดียวกันภาคเอกชน ที่อยู่ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย ไม่ว่าจะค่ายไหน ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน

จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีคนไทยถูกแก๊ง Call Center โทรหาและสร้างความเดือดร้อนรำคาญถึง 95% นั่นเท่ากับว่ามีคนเสียเงิน เสียเวลา ไปจนถึงเสียสติ กับเหล่ามิจฉาชีพไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น น่าจะถึงเวลาที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กสทช. กระทรวงดิจิทัลฯ และค่ายมือถือควรจะพิจารณาจัดการเรื่องนี้อย่างตั้งอกตั้งใจกันเสียที

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ลงนาม MOU กับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้มีโครงการรับแจ้งความออนไลน์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ขณะที่กสทช. ขอความร่วมมือและกำชับให้ค่ายมือถือตรวจสอบสายที่มีการโทรเข้าจากต่างประเทศไปหาผู้ใช้บริการ

ซึ่งความพยายามทั้งหมดที่ทำกันไปแล้วตั้งแต่เดือน มีนาคม นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นความพยายามประเภท “ทำเพื่อให้มันมี” มากกว่า “ทำเพื่อจัดการให้ปัญหามันจบ” เพราะปัญหาแก๊ง Call Center และ SMS ต้มตุ๋น ไม่ได้บรรเทาลงไปจากเดิม และออกจะหนักมากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

มาถึงบรรทัดนี้คงต้องขอร้องหน่วยงานภาครัฐทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กสทช. และดีอีเอส ให้ลงมือทำอะไรจริงจังบ้างเถอะค่ะ เพราะทุกวันนี้คนเดือดร้อนจากปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ก็มากพออยู่แล้ว ถ้าต้องมานั่งระวังโจรที่ประชิดตัวชนิดโทรหากันได้เลยแบบนี้ เราจะมีหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบไว้ทำไม

เช่นเดียวกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครือข่าย ซึ่งไม่ต้องบอกหรอกนะคะว่ามีกี่เจ้า ก็รู้ ๆ กันดีอยู่ ที่กุมข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้ถึง 60.5 ล้านคน (รายงานปี 2563) นับว่าเป็นข้อมูลที่มีมูลค่ามหาศาลในยุคที่อัลกอริธึมเป็นใหญ่ ถ้าผู้ให้บริการยังไม่สามารถปกป้องข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น จนทำให้แก๊ง Call Center หรือ SMS ต้มตุ๋น สามารถโทรหรือส่งข้อความได้อย่างง่ายดายขนาดนี้ ไอ้เจ้าข้อความ Disclaimer (ข้อความจำกัดความรับผิดชอบ) ที่ส่งมาให้เมื่อวันที่เริ่มต้นใช้กฎหมาย PDPA ก็ไม่ต่างอะไรจากข้อความปัดความรับผิดชอบ และมัดมือชกให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการต่อไป

ปัญหาแก๊ง Call Center และ SMS ต้มตุ๋น เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยและต้องการ การแก้ไขที่มีวิธีชัดเจน เป็นรูปธรรม มากกว่าที่เป็นอยู่ รบกวนทำงานให้ได้งานทีนะคะ อย่าทำแค่สักแต่ว่าให้เสร็จ และอย่ามองว่ามันเป็นเรื่องตลกเหมือนคลิปที่แชร์การต่อปากต่อคำกับแก๊ง Call Center ในโซเชียลมีเดีย เพราะความเดือดร้อนของคนในสังคมไม่ใช่เรื่องตลกและคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงควรจะรู้สึก ชา ๆ ที่หน้าด้วยซ้ำ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ