๙ เหตุการณ์ที่สุดแห่งรัชสมัย “ในหลวง รัชกาลที่ ๙”

ภาพจาก wallpaperscraft.com

๙ เหตุการณ์แห่งความทรงจำ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรชาวไทยมายาวนานถึง ๗๐ ปี

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ : ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙

ขณะทรงมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่  ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ในวันที่ ๙  มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตในวันดังกล่าว และทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช” ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ กรุงโลซานน์ โดยในช่วงระหว่างนั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการบริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส : ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓

ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า เสด็จออกห้องพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามโบราณราชประเพณี

เสร็จแล้วเสด็จลงห้องรับแขก โปรดเกล้า ฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาสมเด็จพระอัครมเหสีเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์” และทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานขัตติยราชอิศสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แด่สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ด้วย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓

ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ในการนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสีเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”

พระประสูติกาล ในหลวง รัชกาลที่ ๑๐” : ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕  

ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕  เวลา ๑๗ นาฬิกา ๔๕ นาที เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรสพระองค์แรก ซึ่งมีพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

เมื่อมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

และเมื่อราชบัลลังก์ว่างลงหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล จึงขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ และมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร”  ณ  วันที่  ๑  ธันวาคม ๒๕๕๙

ทรงพระผนวช : ๒๒ ตุลาคม  – ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาย์ และมีสมณนามว่า “ภูมิพโลภิกขุ” ก่อนเสด็จฯ ประทับจำพรรษา ณ  วัดบวรนิเวศวิหาร นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สองแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ที่ทรงพระผนวชในขณะดำรงสิริราชสมบัติ

ระหว่างที่ทรงพระผนวชเป็นเวลา  ๑๕ วัน จนถึงวันที่  ๕ พฤศจิกายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และภายหลังทรงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน

เหรียญทองเรือใบ กีฬาแหลมทอง : ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๐ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาซีเกมส์) ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ ๙-๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๐ โดยมีนักกีฬาเกือบหนึ่งพันคน จาก ๖ ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน

พระองค์ทรงแข่งขันกีฬาเรือใบประเภทโอเค ซึ่งเป็นเรือใบที่พระองค์ทรงต่อเอง และด้วยพระปรีชาสามารถส่งผลให้พระองค์ชนะเลิศและทรงคว้าเหรียญทองในประเภทดังกล่าว

โดยฝ่ายจัดการแข่งขันทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลในวันที่ ๑๖ ธันวาคม หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบให้วันที่ ๑๖ ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันกีฬาแห่งชาติ”

พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี : ๘-๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙

พระราชอาคันตุกะจาก ๒๕ ประเทศ  ร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในระหว่างวันที่ ๘-๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ ซึ่งมีทั้งองค์พระประมุขที่เสด็จฯ โดยพระองค์เอง และผู้เสด็จฯ แทนพระองค์ ทั้งพระสวามี หรือพระราชินี หรือพระราชวงศ์ระดับสูง ตลอดจนมกุฎราชกุมารทั้งหลาย

โดยพระราชอาคันตุกะจาก ๒๕ ประเทศ ได้แก่ บรูไน สวีเดน สวาซิแลนด์ ญี่ปุ่น กาตาร์ เลโซโท จอร์แดน ลักเซมเบิร์ก มาเลเซีย กัมพูชา โมนาโก คูเวต ลิกเตนสไตน์ สเปน โมร็อกโก บาห์เรน ตองกา ภูฏาน เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เบลเยี่ยม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ โอมาน ซึ่งในจำนวนนี้มีองค์ประมุขจาก ๑๓ ประเทศ ที่เสด็จฯ มาด้วยพระองค์เอง จึงนับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก

โครงการพระราชดำริ คลองลัดโพธิ์” :  ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓

“ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์” เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในปี ๒๕๔๕ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อช่วยบริหารจัดการน้ำในการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสร้างแล้วเสร็จในวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙

นอกจากประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างแท้จริงแล้ว ก็ยังมีศักยภาพในด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำด้วย ซึ่งเป็นโครงการที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ด้วยพระองค์เอง

เสด็จออกมหาสมาคม :  ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากโรงพยาบาลศิริราช ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ก่อนเสด็จออกออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม.๒๕๕๕

โดยเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ประชาชนชาวไทยจากทั่วทุกสารทิศนับแสนๆ คน ต่างพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระองค์ ไปเฝ้ารอรับเสด็จและชื่นชมพระบารมีของพระองค์กันจนเต็มพื้นที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนท้ายแถวยาวไปเกือบถึงสนามหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนตอนหนึ่งด้วยว่า “ความปรารถนาดีและความพร้อมเพรียงกันของทุกท่านอย่างที่ได้เห็นกันในวันนี้ ทำให้ข้าพเจ้าปลื้มใจ มีกำลังใจมากขึ้น ด้วยมีความเชื่อเสมอมาว่า ความเมตตาปรารถนาดีต่อกันนี้ เป็นปัจจัยอย่างสำคัญ ที่จะยังความพร้อมเพรียงให้เกิดมีขึ้น ทั้งในหมู่คณะและชาติบ้านเมือง และถ้าคนไทยเรายังมีคุณธรรมข้อนี้ประจำอยู่ในจิตใจ ก็มีความหวังได้ว่า บ้านเมืองไทยไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็จะอยู่รอดปลอดภัยและดำรงมั่นคงต่อไปได้ตลอดรอดฝั่งอย่างแน่นอน”