จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนสะกาย รอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่พาดผ่านกลางประเทศเมียนมา จนส่งผลกระทบรุนแรงมาถึงกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ในชีวิตของใครหลายคนเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่เคยรับรู้ถึงประสบการณ์ความสั่นไหวของการเกิดแผ่นดินไหวมาก่อน เพราะที่ผ่านมา หากเกิดแผ่นดินไหวที่ส่งผลมาถึงกรุงเทพฯ จะมีเพียงผู้คนบนอาคารสูงเท่านั้นที่สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้มีขนาดรุนแรงมากขนาดที่ผู้คนที่อยู่บนพื้นถนนเท้าติดพื้นยังสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนดังกล่าวได้อย่างชัดเจน
เนื่องจากหลายคนไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวมาก่อน เมื่อมีประสบการณ์ครั้งแรกก็สามารถรับรู้ได้ถึงความรุนแรงว่าน่ากลัวขนาดไหน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่หรือทำงานบนตึกสูง ๆ ที่จะรับรู้แรงโยกของตึกได้ชัดเจน อีกทั้งยังมีเหตุการณ์น่าเศร้าอย่างตึกถล่มกลางกรุงอีก แผ่นดินไหวครั้งนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนมีอาการหลอนและแพนิคไม่น้อย รู้สึกว่าตึกสั่นหรือพื้นไม่มั่นคงแทบจะตลอดเวลา กลัวว่ามันจะเกิดขึ้นอีกในเร็ววันนี้และมีความรุนแรงเทียบเท่าหรือมากกว่าครั้งนี้ แล้วต้องวิ่งหนีตายจากชั้นสูง ๆ ลงมาข้างล่าง ต้องอยู่ให้ห่างตึกสูง ๆ ที่มีอยู่ทุกตรอกซอกซอยของกรุงเทพฯ หรือกลัวแม้กระทั่งตึกที่ตัวเองอยู่จะถล่มลงมาแบบตึกในข่าว
นั่นทำให้หลายคนนึกสงสัยและเริ่มหาความรู้แล้วว่าจริง ๆ ในประเทศไทยเองมีพื้นที่ไหนบ้างที่มีโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหว หรือบริเวณรอบ ๆ ประเทศไทย มีรอยเลื่อนไหนบ้างที่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวแล้วจะส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยได้รุนแรงอย่างในครั้งนี้ Tonkit360 จึงได้รวบรวมรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยที่ควรเฝ้าระวัง รวมถึงรอยเลื่อนที่อยู่บริเวณรอบ ๆ ประเทศไทย ที่มีโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหวแล้วกระทบมาถึงไทย (โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางตึกสูงมากมาย) ได้อย่างครั้งที่ผ่านมาบ้าง
16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี (2566) ระบุว่าประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่เป็นรอยเลื่อนมีพลัง (รอยเลื่อนที่มีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต) อยู่ด้วยกันทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด 124 อำเภอ 421 ตำบล 1,520 หมู่บ้าน ดังนี้
1. รอยเลื่อนแม่จัน ในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่
2. รอยเลื่อนแม่อิง ในจังหวัดเชียงราย
3. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และตาก
4. รอยเลื่อนเมย ในจังหวัดตาก และกำแพงเพชร
5. รอยเลื่อนแม่ทา ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย
6. รอยเลื่อนเถิน ในจังหวัดลำปาง และแพร่
7. รอยเลื่อนพะเยา ในจังหวัดพะเยา เชียงราย และลำปาง
8. รอยเลื่อนปัว ในจังหวัดน่าน
9. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ในจังหวัดอุตรดิตถ์
10. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในจังหวัดกาญจนบุรี
11. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ในจังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร อุทัยธานี ตาก และสุพรรณบุรี
12. รอยเลื่อนระนอง ในจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา
13. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต
14. รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ และเลย
15. รอยเลื่อนแม่ลาว ในจังหวัดเชียงราย
16. รอยเลื่อนเวียงแหง ในจังหวัดเชียงใหม่
โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้จัดทำ สมุดแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับล่าสุด พ.ศ. 2566 (ในรูปแบบ e-book จำนวน 32 หน้า) เพื่อนำเสนอข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในอนาคต ซึ่งสมุดแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยฉบับนี้จะเน้นภาพแผนที่เป็นหลักว่า 16 กลุ่มรอยเลื่อนแต่ละกลุ่มนั้นพาดผ่านบริเวณพื้นที่ใดบ้าง พร้อมทั้งรายละเอียดอย่างละเอียดของกลุ่มรอยเลื่อนทั้ง 16 กลุ่มว่ามีความยาวเท่าไร มีลักษณะการวางตัวอย่างไร พาดผ่านอำเภอใดของจังหวัดใดบ้าง และข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตว่ามีขนาดเท่าไร มีความรุนแรงหรือสร้างความเสียหายมากน้อยแค่ไหน
รอยเลื่อนมากมายใกล้ไทยที่อาจส่งผลกระทบถึงไทย
ข้อมูลจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ มิตรเอิร์ธ โดย ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังให้ความรู้เกี่ยวกับรอยเลื่อนโดยรอบประเทศไทยที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว และอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยพบว่ามีหลายสิบรอยเลื่อน เช่น
- รอยเลื่อนสะกาย ที่ผ่ากลางประเทศเมียนมา ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวกว่า 1,200 กิโลเมตร และเป็นรอยเลื่อนที่เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ด้วย
- รอยเลื่อนก่าวบาง-เตียนเยน บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนาม
- รอยเลื่อนชองชาน บริเวณตอนเหนือของประเทศเมียนมา ตอนใต้ของประเทศจีน
- รอยเลื่อนเดียนเบียนฟู ในประเทศเวียดนาม ลาว และไทย
- รอยเลื่อนด่งจิว บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนาม
- รอยเลื่อนคาวตวง บริเวณตอนใต้ของประเทศเมียนมา ติดกับภาคตะวันตกของไทย
- รอยเลื่อนกุงยากาเล บริเวณตอนใต้ของประเทศเมียนมา ติดกับภาคตะวันตกของไทย
- รอยเลื่อนลาเชียว บริเวณตะวันออกของประเทศเมียนมา
- รอยเลื่อนลิเบอร์ บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมาเลเซีย
- ตะเข็บธรณีเลย บริเวณตอนเหนือของประเทศลาว และจังหวัดเลยของไทย
- รอยเลื่อนเม็งซิง บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ใกล้จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่
- รอยเลื่อนเมย-ตองยี บริเวณตะวันออกของประเทศเมียนมา ใกล้ภาคเหนือของประเทศไทย
- รอยเลื่อนน้ำมา บริเวณชายแดนไทย-ลาว ใกล้ภาคเหนือของประเทศไทย
- รอยเลื่อนน้ำเป็ง บริเวณชายแดนไทย-ลาว ใกล้ภาคเหนือของประเทศไทย
- รอยเลื่อนผาปูน บริเวณตะวันออกของประเทศเมียนมา
- รอยเลื่อนพานหลวง บริเวณตะวันออกของประเทศเมียนมา
- รอยเลื่อนฉาน บริเวณตะวันออกของประเทศเมียนมา
- รอยเลื่อนแม่น้ำคา บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนาม
- รอยเลื่อนแม่น้ำเช บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนาม
- รอยเลื่อนแม่น้ำดา บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนาม
- รอยเลื่อนแม่น้ำมา บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนาม
- เขตมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน บริเวณนอกชายฝั่ง ทะเลอันดามัน เป็นแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย และแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย เป็นแนวรอยเลื่อนที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547
- รอยเลื่อนทวาย บริเวณตอนใต้ของประเทศเมียนมา ติดกับภาคตะวันตกของไทย
- รอยเลื่อนตะนาวศรี บริเวณตอนใต้ของประเทศเมียนมา ติดกับภาคตะวันตกของไทย
- รอยเลื่อนท่าแขก บริเวณชายแดนไทย-ลาว ใกล้จังหวัดบึงกาฬและนครพนม
- รอยเลื่อนวันนาออน บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ใกล้จังหวัดเชียงราย
- รอยเลื่อนวันดิง บริเวณตะวันออกของประเทศเมียนมา
- รอยเลื่อนสุมาตรา เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย
- แอ่งอันดามัน บริเวณนอกชายฝั่ง ทะเลอันดามัน
สามารถอ่านรายละเอียดข้อมูลของแต่ละรอยเลื่อนได้ที่โพสต์ รอยเลื่อน รอบบ้าน เพจมิตรเอิร์ธ – mitrearth
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี, FB: มิตรเอิร์ธ – mitrearth