“อย่า กลับ บ้าน” เริ่มเรื่องหนังผีดาษ ๆ กลางเรื่องเหม่อ ตอนจบร้องไห้

ภาพจาก FB: Netflix

มีคนเขาว่ากันว่า “ถ้าต่อต้านไม่ได้ ก็ให้เข้าร่วมซะ” นี่ท่าจะจริงนะ พอเข้าร่วมปุ๊บก็ติดใจจนมูฟออนไม่ได้เลย ที่พูดถึงอยู่นี่คือซีรีส์ไทยใน Netflix เรื่องล่าสุดที่กำลังเป็นกระแสร้อนในโซเชียลมีเดียนั่นเอง ที่ปล่อยสตรีมในวันฮาโลวีน 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยความที่หลายคนน่าจะรอดูอยู่ด้วยความคาดหวังต่าง ๆ นานา หลังจากที่ดูจบกันก็เลยมาเขียนรีวิวกันเยอะแยะมากมาย ไถฟีดอ่านข่าวก็เจออยู่เรื่อย ๆ ด้วยความที่รู้มาเบื้องต้นว่า อย่า กลับ บ้าน (Don’t Come Home) เป็นซีรีส์ผี ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยจะดูหนังผีเท่าไร (ไม่ใช่เพราะกลัว แต่หนังผีไทยมันไม่ค่อยน่ากลัว) เลยคิดว่าจะผ่านเรื่องนี้ไปเฉย ๆ แต่เพราะรีวิวที่ผ่านตามันเยอะมาก เลยลองกดเข้าไปอ่าน ถึงรู้ว่าไม่ควรจะต่อต้าน

จากการที่กดเข้าไปอ่านการวิเคราะห์ การตีความตามเพจต่าง ๆ แล้วพบว่าเออ มันไม่ใช่หนังผีดาษ ๆ ว่ะ แล้วรีวิวก็ไปในทางบวกแทบจะ 100% (เท่าที่เห็นผ่านตา) เลยแบบว่าซีรีส์ผีไทยมันไปได้ขนาดนั้นแล้วเนอะ ก็น่าจะลองดูสักหน่อย ถ้าทำไม่ถึง ไม่ชอบ ก็กลับไปดูซีรีส์เกาหลีเหมือนเดิมก็ได้ แต่ก็ดันดูจนจบ มันดีอย่างที่ใครหลาย ๆ คนบอกจริง ๆ ถ้าตีความสัญญะต่าง ๆ ในเรื่องออก แต่ต้องตั้งใจดูนะ มันเหมือนการค่อย ๆ ตามเก็บจิกซอว์อะ ก้มหน้าเล่นมือถือแป๊บเดียวก็อาจจะพลาดสัญลักษณ์พวกนั้น แล้วงงว่ามันปรากฏตอนไหนหว่า

ภาพจาก FB: Netflix

อย่า กลับ บ้าน (Don’t Come Home) เป็นซีรีส์ไทยที่จัดอยู่ใน genre ไหนดีหว่า คือมันผสมผสานหลาย genre เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งดราม่า สืบสวนสอบสวน ลึกลับ ระทึกขวัญ แฟนตาซี วิทยาศาสตร์ มีความ Sci-Fi ที่ถูกห่อหุ้มเอาไว้ด้วยความสยองขวัญ แต่นอกจากอีพีแรกที่มีผีตุ้งแช่ออกมาแค่รอบเดียว มันก็ไม่มีแบบนั้นอีก เมื่อดูไปเรื่อย ๆ ก็จะพบกับสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เพราะมันไม่ใช่ความกลัวหรือหลอนของการเปิดหนังผีขึ้นมาดู แต่มันเศร้า หดหู่ สงสาร ด้วยความเจ็บปวดแทนตัวละครตัวหนึ่งที่รับจบทุกอย่างในเรื่อง วนลูปไปแบบนี้ไม่จบสิ้น

เรื่องย่อคร่าว ๆ ของ อย่า กลับ บ้าน (Don’t Come Home) จากวิดีโอตัวอย่างก็คือ หญิงสาวคนหนึ่งที่สภาพยับเยินเหมือนหนีผัวซ้อม ขับรถพาลูกกลับไปซ่อนตัวที่บ้านเก่าสมัยตัวเองยังเด็ก ทว่าที่บ้านหลังนี้มีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ สองแม่ลูกพบเจอกับเรื่องราวแปลกประหลาดที่หาคำอธิบายไม่ได้อยู่นานหลายวัน จนกระทั่งลูกสาวหายตัวไป เธอแจ้งความให้ตำรวจช่วยตามหา แต่ยิ่งตามสืบ ตำรวจก็เจอเข้ากับเรื่องที่อิหยังวะมาก ๆ เหมือนกัน ดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้เป็นแค่บ้านผีสิงอย่างที่คนอื่นเขาร่ำลือซะแล้ว แต่มันยังมีเรื่องราวของช่วงเวลาในอดีตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ภาพจาก FB: Netflix

อาจจะเพราะได้อ่านสปอยล์มาบ้างนิดหน่อยมั้ง ถึงจะหักมุมหลายช่วง แต่รู้สึกว่าเรื่องมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรและดูง่ายกว่าที่คิด ดูจบไม่ติดใจหรือค้างคาในประเด็นอะไร ยังไงดีล่ะ คือมันก็อาจจะให้คำตอบไม่ได้นะว่าทำไมถึงเป็นงั้นเป็นงี้ แต่ในความรู้สึกมันปะติดปะต่อได้หมดว่าเรื่องราวต่าง ๆ มันเชื่อมโยงกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบอธิบายออกมา เหมือนจิกซอว์มันครบแล้ว จับมันลงล็อกได้หมด รูปภาพมันสมบูรณ์ มันก็คงไม่ต้องมานั่งอธิบายใช่ไหมล่ะว่าทำไมชิ้นส่วนนี้ต้องเอาลงช่องนี้ แค่เข้าใจโดยไม่ติดค้างอะไรก็คือจบ

พ่อเป็นอะไรนักหนาฮะ! เขาอยู่ก็ตีเขา พอเขาตายเพิ่งอยากทำดีกับเขาเหรอ

สัญญะอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากซีรีส์เรื่องนี้ คือการที่ใช้ตัวละครหญิงเป็นคนตัวละครหลักในการเดินเรื่องทั้ง 4 ตัวละคร ทั้งวารี พนิดา ฟ้า และน้องมิน พวกเธอแต่ละคนล้วนติดอยู่ในวังวนบางอย่างของตัวเอง และวังวนเหล่านั้นมีผู้ชายเข้ามาเกี่ยวข้อง วารีกับน้องมินนี่วังวนเดียวกัน วังวนของ “ปิตานันต์” ซึ่งเป็นนามสกุลของสามีวารี และเมื่อน้องมินเป็นลูกก็ใช้นามสกุลพ่อ น่าจะเป็นคำสนธิระหว่าง ปิตา+นันทะ แปลได้ว่า “ความยินดี/ความสุขของพ่อ” แต่ถ้าดูตามบริบทของเรื่องที่สื่อถึงชายเป็นใหญ่และการที่ผู้หญิงถูกกดทับ มันก็อาจจะตีความเป็น การยินดีในระบบปิตา (ปิตา=พ่อ=ผู้ชาย) ก็เข้าเค้านะ จากการที่วารีแต่งงานกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่พบกันหลังเหตุการณ์รัฐประหาร

ภาพจาก FB: Netflix

วังวนของวารีและน้องมินเป็นวังวนที่โคตรน่าสงสาร ดูจบแล้วนั่งร้องไห้เลย วารีถูกเลี้ยงดูโดยแม่ที่ถูกกดทับในช่วงสมัยที่สังคมยังไม่ได้ให้โอกาสผู้หญิงมากนัก การเป็นผู้หญิงเก่ง เป็นช้างเท้าหน้า ก็ดันผิดขนบที่ว่าผู้หญิงต้องอ่อนหวาน ต้องมีความเป็นแม่ ต้องตามสามี หลังจากเหตุการณ์ความสูญเสีย พนิดาคิดได้ว่าต้องทำหน้าที่แม่ให้ดีกว่าเดิมจะได้ไม่สูญเสียอีก พนิดาจึงเลี้ยงวารีมาให้โตมาเป็นผู้หญิงที่ตรงตามขนบสุด ๆ แต่วารีก็โตมาในสังคมที่การรัฐประหารกลายเป็นเรื่องปกติ เธอแต่งงานกับทหารและกลายเป็นสมบัติของผู้มีอำนาจ (ถ้าไม่มีรัฐประหาร วารีกับยุทธชัยอาจไม่เจอกัน วังวนนี้ก็อาจไม่เกิด) ถูกทำร้าย พาลูกหนีกลับบ้านเก่า ลูกหาย และเกิดเหตุการณ์แบบในเรื่องวนไป

แอบคิดว่า “คุณนุ่น-วรนุช” นี่เธอเข้าใจเลือกบทนะ แต่ละเรื่องแต่ละตัวละครทำเราร้องไห้ตามหลายเรื่อง ที่จำได้คือเปรตวัดสุทัศน์, แม่อายสะอื้น, ทองเนื้อเก้า, พิษสวาท เป็นตัวละครร้าย ๆ ที่ตอนจบร้องไห้ตาม

ภาพจาก FB: Netflix

ส่วนพนิดา เป็นวังวนของความคาดหวังในความเป็นผู้หญิงที่เธอควรจะมีต่อสามีต่อเธอ และความเป็นแม่ที่ต้องมีให้ลูกสาว เธอคือผู้หญิงที่ทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานจนละเลยครอบครัว ไม่มีเวลาให้กับลูกเท่าไรนัก เธอคือผู้หญิงไม่กี่คนที่จะโดดเด่นได้ในสังคมสมัยนั้น ถ้าสมัยนี้เธอคือผู้หญิงที่น่าชื่นชมและเป็นต้นแบบของผู้หญิงด้วยกัน ความสำเร็จของผู้หญิงได้รับการยอมรับมากขึ้น ถึงจะมีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่อิจฉาและไม่ชอบที่ผู้หญิงเจริญเติบโตในหน้าที่การงานได้ดีกว่าก็เถอะ (แบบที่สารวัตรฟ้าโดน) แต่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ความสำเร็จของพนิดามันผิดขนบความเป็นผู้หญิงไปหน่อย เธอมีอำนาจในบ้านจากการที่เป็นคนหาเงินเข้าบ้าน บ้านก็เป็นของตระกูลเธอ

ทุกความสำเร็จของพนิดาจะยังคงดำเนินต่อไป ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียนั้น หลังเธอสูญเสีย เธอมีอาการซึมเศร้า โทษตัวเองว่าเป็นเพราะเธอเป็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่แม่ ทำหน้าที่ภรรยาไม่ดี มันถึงเกิดเรื่องขึ้น เธอติดอยู่ในวังวนของการโทษตัวเอง ไม่ให้อภัยตัวเอง จนมูฟออนไม่ได้ จนในที่สุด เธอก็ทำการทดลองด้วยเครื่องไฟฟ้านั่น เที่ยวไปดูดใครต่อใครมา และเกิดเหตุการณ์แบบในเรื่องวนไป แต่จะเห็นว่าหลังจากเธอได้วารีมา เธอเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เป็นแม่ที่ดีกว่าเดิม ให้เวลากับลูกเท่าที่ลูกต้องการ เลี้ยงดูลูกอย่างดี เพราะไม่ต้องการจะสูญเสียลูกไปอีก

ภาพจาก FB: Netflix

สารวัตรฟ้า คือผู้หญิงอีกคนที่มีวังวนเป็นของตัวเองจากการถูกกดทับจากผู้ชายเช่นกัน ปูมหลังของเธอมีพ่อขี้เมาที่พอเหล้าเข้าปากก็ใช้ความรุนแรง ทำร้ายแม่ (และก็น่าจะทำร้ายเธอด้วย) มีเติบโตมา เธอทำงานในสายงานที่เป็นพื้นที่ของผู้ชาย และพยายามไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นหัวหน้าและมีลูกน้องเป็นผู้ชายหลายคน แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังถูกกดทับจากเจ้านายที่มีอำนาจเหนือกว่า ยอมถูกหลอกล่อด้วยคำลวงเพื่อแลกกับตำแหน่งสูงในหน้าที่การงาน และเพราะ (เคย) เชื่อว่าเขาจะดูแลเธอกับลูกได้ เธอจึงเก็บลูกไว้เพื่อที่จะสวมบทบาทความเป็นแม่และเป็นตำรวจที่ดีไปพร้อมกัน

ในเรื่องจะเห็นว่าเธอพยายามยืนหยัดจากแรงกดดันสารพัดจากผู้ชายที่รายล้อม ทั้งพ่อที่เมามายไม่ได้เรื่อง เจ้านายที่เล่นชู้และอยากครอบครองเพราะต้องการใช้อำนาจ และเพื่อนร่วมงานขี้อิจฉาที่ไม่พอใจเมื่อเห็นผู้หญิงเติบโตในหน้าที่การงานดีกว่า นินทาว่าร้ายเสีย ๆ หาย ๆ ด้วยเรื่องจริงบ้างใส่ไข่เพิ่มบ้าง มีเพียงเพื่อนชายคนเดียวที่ดีกับเธอเสมอมา แต่เพราะเธอได้รับบทเรียนมากมายจากผู้ชายไม่ได้เรื่องพวกนั้น เธอจึงเลือกที่จะมีชีวิตเป็นของตัวเอง ดูแลตัวเองไม่พึ่งพาใคร เห็นจากการที่เธอยังยืนยันด้วยคำพูดเดิม ๆ ว่าเธอไม่เป็นไร สารวัตรฟ้าเป็นตัวละครผู้หญิงที่โคตรเท่ และเป็นตัวละครเดียวที่หลุดจากวังวนของตัวเองได้ ด้วยประสบการณ์ที่เจอเอง และเรื่องราวของวารี

เราคงแก้ไขสิ่งที่มันเกิดขึ้นไปแล้วไม่ได้หรอกว่ะ

จริง ๆ แล้ว ประโยคนี้นี่แหละที่ควรจะเป็น “บทสรุป” ของทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง ไม่สิ! ต้องบอกว่ามันควรจะเป็นบทสรุปของเหตุการณ์ที่เป็น “จุดเริ่มต้น” ที่ทำให้เกิดเรื่องราวประหลาดมากมายที่หาคำอธิบายไม่ได้นี่ต่างหาก ลองคิดดูสิว่า ถ้าตอนนั้นพนิดาปล่อยวางทุกอย่าง ยอมจำนนว่ามันเป็นอดีตที่กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ และมูฟออนไปข้างหน้า ตัวละครหลาย ๆ ตัวก็จะไม่พบพานกับเรื่องราวที่น่าเศร้า วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบนี้หรอก มันก็ใช่แหละ ที่การสูญเสียมันไม่ง่ายที่จะทำใจยอมรับ กว่าจะผ่าน 5 ขั้นของความเสียใจไปได้ จนสามารถยอมรับและทนอยู่กับความเป็นจริงได้น่ะ มันต้องใช้เวลา ค่อย ๆ ผ่านความเจ็บปวดเจียนตายไปให้ได้

ภาพจาก FB: Netflix

แต่ก็นะ อาจเพราะคาแรกเตอร์ของพนิดาด้วยแหละที่ทำให้เธอไม่ยอมจำนนต่อความจริงที่อยู่ตรงหน้า “พนิดา” ความหมายตามพจนานุกรมแปลว่า “หญิงสาว” แต่เธอหาใช่หญิงสาวธรรมดานี่นา แรกเริ่มเดิมทีเธอก็แตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปอยู่หลายขุมอยู่แล้ว เธอสวย เธอรวย เธอเป็นลูกหลานของเจ้าของเหมือง พอเติบใหญ่หน้าที่การงานของเธอก็ไม่ได้กระจอก เธอไม่ใช่แม่บ้านที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก หรือเป็นช้างเท้าหลังให้สามีเดินนำเป็นช้างเท้าหน้า แบบที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วเป็น

แต่เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิง (ถ้าให้แคบลงก็คิดว่าน่าจะเป็นวิศวกร) เธอเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในพังงา อยู่ในระดับผู้บริหารที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน จะเรียกว่าบ้างานเลยก็ได้คิดว่าไม่ผิด working woman สุด ๆ และที่สำคัญเธอเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเจ้าของบ้าน เป็นคนหาเงินเข้าบ้าน ความเป็นหญิงเก่งและแกร่งเกินชาย บวกกับภาระมากมายที่เธอแบกไว้ในหลายบทบาทนี่แหละ ที่ทำให้เธอทำงานจนละเลยครอบครัว ดูผิดแผกจากการทำหน้าที่แม่และภรรยา ที่เป็นกรอบครอบบทบาทหน้าที่ของความเป็นผู้หญิงในช่วงยุคสมัยหนึ่ง

ภาพจาก FB: Netflix

แจกแจงมาซะขนาดนี้แล้ว พอจะเห็นความไม่ธรรมดาของเธอหรือยัง คือถ้าเธอโลดแล่นอยู่ในปี 2567 เนี่ยคงไม่แปลกหรอก สมัยนี้ผู้หญิงที่เป็นแบบพนิดามีอยู่เกลื่อน แต่อย่าลืมว่าตอนนั้นมันคือช่วงปี 2534-2535 หรือก็คือเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วนู่นแน่ะ ในสมัยนั้นผู้หญิงที่จะมีที่ยืนในสังคมได้แบบพนิดานั้นมีน้อยมาก และกว่าจะมายืนจุดนี้ได้ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองมากมายถึงจะได้รับการยอมรับ เพื่อให้ทุกคนยอมรับว่าเธอเป็นผู้หญิงเก่ง ทำงานได้ เธอจึงไม่ได้ใส่ใจกับบทบาทความเป็น “แม่” เท่าที่ควร ลูกสาวก็มีทั้งพ่อและพี่เลี้ยงคอยเลี้ยงอยู่แล้ว เธอจึงละเลยความเป็นแม่ไปมากพอสมควร ทำให้สุดท้าย เธอต้องเจ็บปวดแสนสาหัสจากการที่เธอเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ แบบที่เธอเฝ้าโทษตัวเอง

และก็ด้วยความเป็นผู้หญิงที่ไม่ธรรมดาของเธอนี่แหละ เธอจึงไม่ยอมจำนนต่อความจริงตรงหน้าง่าย ๆ เธอเลือกที่จะ “ฝืน” กฎของธรรมชาติในเรื่องของ “เวลา” ที่โดยทั่วไปก็คือ “อดีต” มันผ่านไปแล้ว “แก้ไขไม่ได้” แต่เธอก็พยายามบิดเบือนมันเพื่อแก้ไขอดีตที่เธอไม่พึงปรารถนา เพื่อย้อนกลับไปสู่ห้วงเวลาที่มีความสุข หรือเพื่อดึงคนที่เธอรักกลับมา ไม่ยอมปล่อยวาง ไม่ยอมมูฟออน เพราะเธออยากทำหน้าที่แม่อีกครั้ง จนเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดนี้ ซึ่งพอดูเรื่องนี้จบ ก็ทำให้นึกถึงคำพูดหนึ่งจากสถานการณ์ที่คล้ายกัน ในภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาคที่ 3 ที่ตัวละครเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์บอกกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ว่า “สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับพ่อมดที่ไปยุ่งกับ ‘เวลา'”

สารวัตร เอาเวลาไปตามจับคนร้ายเถอะ อย่าเสียเวลาตามเราเลย

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งบทสรุปของซีรีส์เรื่องนี้ คำพูดของสารวัตรฟ้าที่พูดไว้ในอีพีสุดท้าย ไม่กี่นาทีก่อนที่ซีรีส์จะจบลงอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าเธอจะพูดกับเพื่อนของเธอที่เป็นตำรวจด้วยกัน ในบริบทที่เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องความรัก โดยเธอขอให้เพื่อนที่แอบรักเธอข้างเดียวมานานตัดใจจากเธอซะ อย่าเสียเวลาตามเธออีกเลย ด้วยเธอรู้อยู่แก่ใจว่าเขาคงเสียเวลาเปล่า จริง ๆ มันไม่ใช่แค่การปฏิเสธความรู้สึกของเพื่อนที่ให้เธอมามากกว่าเพื่อน แต่มันยังตีความได้ว่าตัวเธอกำลังจะออกเดินทางสู่อิสรภาพอีกครั้ง และเธอก็ไม่ต้องการให้ใครมาพัวพันกับเธออีก ต่อจากนี้เธอจะมีแค่ตัวเธอและลูกเท่านั้น เธอเอาตัวเองออกจากลูปที่ถูกกดทับด้วยผู้ชายอย่างสมบูรณ์

ภาพจาก FB: Netflix

จะเห็นว่าเหตุการณ์ตลอด 6 อีพี เธอเรียนรู้หลายเรื่องจากเรื่องของวารี จริง ๆ นี่ว่าเธอรู้ตัวมาตั้งนานแล้วแหละ อาจจะรู้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำว่าวังวนที่เธอวนเวียนอยู่มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกที่ควร และรู้ด้วยว่าคำพูดของผู้ชายคนนั้นคือคำหลอก รู้ว่าตัวเองตกเป็นขี้ปากของผู้ชายคนอื่นที่นินทาว่าร้ายเธอ แต่เธอคงมีเหตุผลอะไรสักอย่างที่ยังทน ยังยอม ยังดันทุรังที่จะไปต่อ แต่พอมีเรื่องคดีของวารีแทรกเข้ามา และสุดท้ายเธอก็เป็นคนเดียวที่ปะติดปะต่อเรื่องราวที่น่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับวารีได้ทั้งหมด มันจึงอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเดินออกมาจากวังวนนั้นก็เป็นได้

อีกอย่างนะ ด้วยสัญญะชื่อของ “ฟ้า” ก็เป็นภาพสะท้อนของ “น้ำ” (วารี) ด้วย มันก็ทำให้นึกไปได้ว่าสมมติฟ้าไม่เอาตัวเองออกจากวังวนนี้ ยังคงอดทนอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ชายคนนั้นต่อไปทั้งเรื่องส่วนตัวและหน้าที่การงาน ตัวเธอเองก็อาจจะมีชะตากรรมบางอย่างไม่ต่างจากวารีก็เป็นได้ เหมือนมีลูปของตัวเองที่จะวนเวียนอยู่แบบนั้นไม่จบไม่สิ้น แต่ในตอนจบเธอกลายเป็นตัวละครที่ฝืนการวนลูปได้สำเร็จ เลือกที่จะเดินออกมา แน่วแน่ว่าฉันสามารถมีชีวิตของตัวเองได้ แบบที่เธอลั่นวาจาไว้ว่า “กู ดูแลตัวเองได้” สุดท้ายเธอก็พาตัวเองและลูกออกมาจากลูปเส็งเคร็งได้ พร้อมที่จะมีชีวิตใหม่ และหยิบยื่นชีวิตใหม่ให้กับเพื่อนที่ติดอยู่ในลูปแอบรัก ให้ตัดใจและออกจากลูปนั้นเช่นเดียวกัน

ภาพจาก FB: Netflix

แต่ถ้ากลับมามองที่ลูปของวารี ตัวละครนี้โคตรน่าสงสาร วังวนของเธอมีตัวละครที่เกี่ยวข้องด้วยมากเกินไป และจุดเริ่มต้นของวังวนที่แท้จริงมันก็ไม่ใช่ตัวเธอเองด้วย เธอจึงกลายเป็นตัวละครที่หาทางออกจากวังวนนี้ไม่ได้เลย เหมือนทุกอย่างมันถูกกำหนดไว้แล้วโดยไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ได้แต่ภาวนาว่ามันอาจจะมีวังวนไหนสักวังวนที่เธอจะเจออะไรที่มัน “ตรงกันข้าม” ไม่แต่งงาน เชื่อแม่ ไม่กลับบ้าน เจอผู้ชายที่ดี มีลูกชาย ฟังที่ลูกบอก หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อที่จะได้หลุดออกจากวังวนที่น่าเศร้านี้เสียที หรือพนิดาที่ยอมรับความจริงให้ได้ว่าทุกอย่างไม่ผ่านไปแล้ว อาจจะพูดไม่ได้ว่าเธอพยายามทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ก็อย่าเสียเวลาจมอยู่กับอดีตเลย อย่าพยายามเอาอดีตที่ผ่านไปแล้วกลับมา

เวลานี้ อย่า กลับ บ้าน (Don’t Come Home) เลยกลายเป็นซีรีส์ไทยอีกหนึ่งเรื่องที่ยกพื้นที่ส่วนหนึ่งบนหิ้งไว้ให้เลย ส่วนตัวดูจบแล้วไม่รู้สึกว่ามันมีช่องโหว่อะไรที่ทำให้รู้สึกสงสัยหรือติดค้างนะ มันเคลียร์หมดแล้ว ถึงหลาย ๆ อย่างมันจะไม่มีคำตอบ ก็ใช่ว่าเราต้องไปพยายามที่จะตอบมันให้ได้ แค่ปล่อยให้มันเป็นไป ไม่ใช่ว่าเพราะมันเป็นแค่ละครที่เป็นจินตนาการของคนเขียนบท แต่หลายอย่างในชีวิตจริงของคนเรามันก็ไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัว หรือมีคำตอบที่ไร้ช่องโหว่ให้เถียงกลับไม่ได้ และบางเรื่องก็ปวดหัวเกินไปที่จะต้องมานั่งหาคำตอบให้ได้ แบบไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน เราเกิดมาทำไม เราตายแล้วไปไหน ทุกวันนี้ก็เหมือนจะยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบชัด ๆ จนเลิกเถียงกันนี่นา 🏡