“บุหรี่” มหันตภัยร้าย แม้มาในรูปแบบ “บุหรี่ไฟฟ้า”

ภาพจาก Pixabay

ฟิลิปปินส์ เป็นชาติล่าสุดที่บังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 111 ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ หลังจากได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชากรสูบบุหรี่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย

โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 7 ล้านคน  ในจำนวนนี้เป็นผู้เสพโดยตรงกว่า 6 ล้านคน ขณะที่อีก 890,000 คน เป็นผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง

ไทยบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ ปี 2551

ในบ้านเรานั้น มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะมาตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้เรายังเห็นคนสูบบุหรี่ตามที่สาธารณะกันอยู่ แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 กำหนดสถานที่ห้ามสูบไว้แล้วก็ตาม

โดย 5 สถานที่หลักที่ห้ามสูบบุหรี่ ได้แก่ 1.พื้นที่ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง 2.พื้นที่เปิดโล่งแต่มีหลังคา  เช่น ส่วนให้บริการอาหารของร้านอาหารไม่ติดเครื่องปรับอากาศ  จุดรอรถโดยสาร 3.พื้นที่เปิดโล่งไม่มีหลังคา เช่น สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา สถานที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น 4.ตลาด ทั้งที่ตั้งเป็นประจำและชั่วคราวตามวัน เวลาที่กำหนด และ 5.ยานพาหนะสาธารณะทุกประเภท (รถเมล์ รถไฟ เรือ แท็กซี่ ฯลฯ )

ปัจจุบันวัยรุ่นหันมาเสพ “บุหรี่ไฟฟ้า”

ขณะที่ในหมู่วัยรุ่น พบว่าปัจจุบันหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น จนกลายเป็นกระแสแฟชั่นที่เลียนแบบตามๆ กัน เพราะมีรูปลักษณ์ที่ดึงดูงใจ บรรจุภัณฑ์สวยงาม และมีการปรุงรสต่างๆ จนทำให้เกิดความอยากลอง แถมยังเชื่อกันด้วยว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่จริง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่าที่คิด

สาร “นิโคติน” ไม่มีประโยชน์ใดๆ  

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าจากข้อมูลงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่จะส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในรูปแบบละอองฝอย ซึ่งนิโคตินไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อร่างกายเลย อีกทั้งควันและละอองฝอยยังส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจด้วย

จากรายงานวิจัยดังกล่าว พบว่า บุหรี่ไฟฟ้า 1 มวน มีปริมาณนิโคติน 1.2 มิลลิกรัม หากสูบหนึ่งซองจะเท่ากับรับสารนิโคติน 24 มิลลิกรัม ซึ่งความน่ากลัวของสารนิโคตินไม่ว่าจะมาจากบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้านั้น หากเข้าสู่ถุงลมปอดแล้วจะใช้เวลาเพียง 7 วินาทีเท่านั้นในการเข้าสู่สมอง และหากได้รับสารนิโคตินเกิน 60 มิลลิกรัม ก็อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า สมองของคนเราจะมีศูนย์เสพติดอยู่ด้วย แม้จะเป็นนิโคตินในระดับอ่อนๆ ก็ทำให้ศูนย์เสพติดของสมองเกิดการบ่มเพาะได้ เมื่อไปเจอสารเสพติดประเภทอื่นก็จะเกิดความไวต่อการรับสารเสพติดได้ง่ายขึ้น นั่นหมายความว่า มีโอกาสเข้าหาสารเสพติดประเภทอื่นได้ง่ายตามไปด้วย

“นำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า” ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13 – 15 ปี  ที่จัดทำครั้งล่าสุด เมื่อปี 2558 พบว่าเยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 1.9 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า, บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

หากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้น รวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ที่ห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าด้วย  โดยมีโทษสำหรับผู้ขาย ผู้ให้บริการ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

ด้านสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จัดทำข้อมูลเผยแพร่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนด้วยเช่นกัน เนื่องจากยังมีคนส่วนใหญ่ที่มีความเชื่อผิดๆ ว่า สูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้, ไม่มีสารนิโคติน, ไม่มีสารก่อมะเร็ง, ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่มีสารอันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้

แต่ข้อเท็จจริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 10 เท่า เพราะนอกจากสารนิโคตินแล้ว ก็ยังมีสารโพรไพลีนไกลคอลจากการเผาไหม้, เกิดสารตกค้างที่ก่อให้เกิดมะเร็ง, อัตราการเต้นของหัวใจสูงและลดสมรรถภาพปอดและการหายใจ ไม่ต่างไปจากบุหรี่ทั่วไป

ข้อมูลทางการแพทย์ : รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด