เงินเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง วิกฤตินี้ฉันต้องรอด!

ช่วงเวลานี้นับว่าเป็นช่วงวิกฤติของแพงโดยแท้จริง ทุกคนต่างก็พิสูจน์สิ่งนี้ได้ด้วยตัวเองหมด เพราะราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายล้วนพร้อมใจกันเดินหน้าขึ้นราคาโดยไม่เหลียวหลังกลับมามองคนทำงานหาเงินเลยสักนิด ขนาดที่ว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่งปรับขึ้นมาสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาก็ยังไม่อาจต้านทานได้ เพราะส่วนต่างค่าแรงเก่ากับค่าแรงใหม่ สูงสุดอยู่ที่ 22 บาทเท่านั้น! ทว่าด้วยราคาข้าวของเกือบทุกอย่างที่แพงขึ้นนั้น ปรับราคาขึ้นมาอย่างละ 5 บาท 10 บาท ซึ่งเมื่อนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือน แพงเกินค่าแรงที่ขึ้นมาให้เสียอีก!

สำหรับวิธีรับมือ เบื้องต้นคงไม่มีวิธีไหนที่จะดีไปกว่า “การรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย” อีกแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องประหยัดกันให้มากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อันที่จริง วิกฤติเงินเฟ้อที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้เป็นวิกฤติที่โดนกันทั่วโลกไม่เฉพาะที่ไทย นโยบายของภาครัฐที่ใช้แก้ปัญหาก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือประชาชนตาดำ ๆ อย่างพวกเราก็ต้องดูแลตัวเองและเงินในกระเป๋าตัวเองด้วยเช่นกัน

ในช่วงวิกฤติเงินเฟ้อ ที่เงินเท่าเดิมแต่มีมูลค่าน้อยลง ทำให้อำนาจในการซื้อของน้อยลงตามไปด้วยแบบนี้ Tonkit360 มีวิธีการเอาตัวรอดมาฝากทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหานี้ ไปดูเลยว่าจะมีหนทางรับมือเพื่อความอยู่รอดในช่วงข้าวยากหมากแพงนี้ได้อย่างไรบ้าง

1. สำรวจค่าใช้จ่าย

เพื่อวางแผนทางการเงิน โดยต้องสำรวจก่อนว่าในแต่ละเดือนนั้นเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่จำเป็น เช่น ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่าโทรศัพท์ หรือในกรณีที่อยู่บ้านกับพ่อแม่โดยที่ตนเองไม่ได้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้าน จากนั้นต้องแบ่งสัดส่วนว่าใน 1 เดือนจะต้องใช้เงินในการไปทำงานแต่ละวันอยู่ที่วันละเท่าไร และถ้าไม่ลำบากจนเกินไป อย่าลืมแบ่งสัก 20% ของเงินเดือน เพื่อเก็บออมด้วยเผื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน นี่เป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรจะต้องทำ เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ใช้เงินเดือนชนเดือน หรือชักหน้าไม่ถึงหลัง

2. ลดรายจ่าย

การลดรายจ่ายเป็นวิธีที่ดีที่สุดและตรงจุดที่สุดวิธีหนึ่งเลยก็ว่าได้ ใช้ได้กับทั้งกรณีที่คุณจะอยากมีเงินเก็บมากขึ้น หรือเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็นก็ตามแต่ เนื่องจากรายจ่ายแต่ละอย่างย่อมมีระดับความสำคัญและจำเป็นที่ไม่เท่ากัน การใช้จ่ายที่ไม่ฟุ่มเฟือย จึงเป็นการใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตก่อน โดยพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญก็คืออย่าสร้างหนี้ การไปกู้ยืมเงินคนอื่นขอให้ไว้เป็นหนทางสุดท้ายแล้วจริง ๆ สำหรับการหาทางออกให้กับการเงินที่ติดขัดของตนเอง

3. ตั้งงบประมาณให้ตัวเอง

การประเมินจัดสรรงบให้กับตนเอง ก็ถือเป็นวิธีที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ดีเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะเป็นการควบคุมเงินในรายเดือนนั้น ๆ ของคุณแล้ว ยังฝึกให้คุณเป็นคนมีระเบียบ มีวินัยในการใช้เงิน แถมยังได้ฝึกความอดทน ในการไม่ใช้จ่ายตามใจตัวเองอีกด้วย เรียกว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวาน รู้จักตั้งสติในการช้อปปิง ทำให้มีเงินเหลือเก็บ และใช้ชีวิตอยู่รอดในวันต่อไปอีกด้วย ยับยั้งชั่งใจให้ผ่านช่วงเวลาที่กำลังหนัก ๆ นี้ไปก่อน เงินที่เก็บไว้ก็ไม่ได้ไปไหน สุดท้ายมันก็เป็นเงินของคุณเองอยู่ดี

4. เพิ่มรายรับ

มันก็ออกจะเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันนะ หากจะต้องบริหารจัดการรายได้เท่าเดิมหรือเพิ่มมาไม่กี่บาทให้เพียงพอในช่วงเงินเฟ้อ ที่ข้าวของเกือบทุกสิ่งอย่างขึ้นราคาหมดแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายโดยรวมมันมากขึ้น ดังนั้น เพื่อใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงน้อยที่สุด อาจต้องหาวิธีเพิ่มรายรับให้กับตนเอง สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ไม่อยากเอาเวลาของตัวเองเข้าแลก คุณก็ต้องเริ่มที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพิ่มมูลค่าของตัวเองให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สุดท้ายความสามารถที่คุณมี ก็จะส่งให้ผลตอบแทนของคุณเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

5. ประหยัด และอย่าลืมเก็บเงิน

ในช่วงที่อะไรก็แพงไปเสียหมดแบบนี้ ไม่มีวิธีไหนจะเวิร์กไปกว่าการประหยัดแล้ว ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีเทคนิคเก็บเงิน ตามไลฟ์สไตล์ ตามความชอบ และความสะดวกของตัวเองที่แตกต่างกันไป แถมยังมีเป้าหมายในการเก็บเงินที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย แต่สำหรับวิธีการเก็บเงินง่าย ๆ ที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน และรับรองว่าถ้าหากคุณหมั่นเพียร คุณจะต้องมีเงินเก็บก้อนใหญ่ให้ได้ชื่นใจอย่างแน่นอน คือ เก็บก่อนใช้, เก็บเศษเหรียญ, เก็บเงินทอน, เก็บธนบัตรใหม่ ๆ, เก็บธนบัตร 50 บาท, ฝากออมทรัพย์/ฝากประจำ ดอกเบี้ยสูง เป็นต้น

6. มีสติและพยายามสังเกตสถานการณ์ 

ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ คนส่วนใหญ่มักจะกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง โดยความกลัวดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะได้รับข่าวสารและการคาดการณ์จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ จนทำให้รู้สึกว่าอีกไม่นานจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วความเปลี่ยนแปลงจะเป็นแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปมากกว่า หลังจากนั้นก็จะกระเตื้องกลับมา ดังนั้น จงตั้งสติเพื่อรับมือให้ดีที่สุด และบอกกับตัวเองว่าอย่าเสี่ยงลงทุนในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย อย่าใช้เงินโดยไม่คิด เมื่อต้องตัดสินใจขอให้ถามความคิดเห็นจากคนรอบด้าน และพยายามติดตามข่าวสารที่ให้ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ตลอดเวลา

7. หันกลับมาใส่ใจและสร้างเกราะป้องกันตนเอง 

ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจวิ่งไปได้ด้วยดี คุณอาจจะคิดว่าเงินหาง่าย ก็ใช้ไปได้ง่าย ๆ แต่เมื่อถึงช่วงเวลานี้ สถานการณ์อาจกลับกัน ดังนั้น การหันกลับมาสำรวจตัวเอง เพื่อวางแผนอนาคตน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เริ่มจากงานที่ทำ ถ้าสายงานที่คุณทำอาจจะเริ่มไม่ยั่งยืนหรือมีแนวโน้มที่จะถูก Disrupt ในอนาคต คุณต้องปรับปรุงตัว ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงแผนเกษียณของตนเอง เลิก “ถึงเวลาแล้วค่อยคิด” เพราะเมื่อถึงเวลาจริงแล้วส่วนใหญ่จะสติแตกกันหมด

8. ลงมือวางแผนทางการเงิน 

ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร การวางแผนทางการเงินยังคงเป็นสิ่งสำคัญเสมอ พยายามสำรวจตัวเองว่าได้ตั้งเป้าอะไรไว้บ้างทางการเงิน และคุณบรรลุเป้านั้นขนาดไหน หรือถ้าคุณยังไม่ได้วางแผนเกษียณเพราะคิดว่าเรื่องนั้นยังอีกห่างไกลก็ขอให้ลงมือเสียเพราะการวางแผนเกษียณนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่คุณมีรายได้เดือนแรกเลยทีเดียว แผนทางการเงิน คือลายแทงที่จะทำให้คุณไม่ต้องกังวลใจกับวงโคจรของสภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือช่วงที่เงินเฟ้อหนัก ๆ มากนัก

9. เก็บเงินสดให้มากที่สุด 

เงินสดคือสิ่งที่ใช้แก้ปัญหาได้จริงในช่วงที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ และจะทำให้คุณไม่ต้องขายทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงสภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดีแบบนี้ ดังนั้นควรสำรองเงินสดตามจำนวนที่คุณต้องใช้ต่อเดือนให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเป็นการประกันว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นคุณจะมีเงินก้อนนี้สำรองไว้ใช้จ่าย และถ้าเป็นไปได้ ควรเพิ่มจำนวนเงินฝากสะสมรายเดือนเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย เพื่อให้เงินสำรองของคุณเป็นก้อนที่ใหญ่มากขึ้นและพร้อมรับมือกับสภาวะเงินเฟ้อในอนาคต

10. พยายามไม่ก่อหนี้จากบัตรเครดิต 

หลายคนบอกว่าจะเก็บเงินสำรองอย่างไร เพราะเวลานี้ผ่อนบัตรเครดิตแบบเดือนชนเดือน แถมเป็นการจ่ายขั้นต่ำด้วย ไหนจะดอกเบี้ยอีก ทำให้กลายเป็นคนที่มีหนี้อันไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้น พยายามเคลียร์หนี้บัตรเครดิตให้เรียบร้อย จากนั้นก็งดใช้บัตรเครดิตเสีย แล้วพยายามเก็บเงินต่อเดือนเพิ่มขึ้น พึงระลึกว่าบัตรเครดิตมีไว้เพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เดินทาง หรือซื้อของชิ้นใหญ่ ก่อนจะใช้เงินในอนาคต คุณเองก็ต้องคำนวณให้ดีว่าหนี้ในอนาคตก้อนนี้คุณจะมีปัญญาจ่ายคืนได้เต็มจำนวนตามเวลาที่กำหนดหรือไม่