เมื่อ Influencer Marketing เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า Influencer Marketing นั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับนักการตลาดยุคใหม่ เพราะนอกจากความน่าเชื่อถือที่ได้จากเหล่า Influencer แล้ว การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ผู้คนจำแบรนด์ได้ในเวลาชั่วข้ามคืน ยิ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ด้วยแล้ว เหล่านักการตลาดบอกว่านี่เลยคือสิ่งที่ต้องการ

ที่ผ่านมาค่าตัวของ Influencer อันหมายถึงผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดนั้น มีราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น จะมีในช่วง 5 ปีหลังนี่เอง ที่บางรายค่าตัวไปหลักแสน และมีบางเจ้าที่อยู่ในหลักครึ่งล้าน

ทั้งนี้ตลาดการใช้ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ไม่ได้จบที่คำว่า Influencer นะคะ หากถูกจำแนกออกเป็นระดับ Micro, Macro ไปจนถึงระดับ Celebrity ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวน Follower ยังค่ะ ยังไม่หมด ด้วยความที่การสร้างเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ในปัจจุบันมีความหลากหลาย นอกเหนือจากกลุ่ม Influencer ยังมีกลุ่ม KOL หรือ Key Opinion Leader ที่จะเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ขายความน่าเชื่อถือเฉพาะทาง

แต่ถ้าใครอยากให้สินค้า Tie In แบบไม่ต้องลงทุน โปรดักชันเอง Youtuber กับ TikToker ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะกลุ่มนี้จะถนัดในการสร้างไวรัล อันหมายถึงคลิปที่จะถูกแชร์ไปเรื่อย ๆ ส่งผลต่อ Engagement ของแบรนด์

เมื่อมองภาพรวมแล้ว ทั้ง Influencer, KOL, Youtuber และ TikToker ล้วนแล้วเป็นกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดของคนในยุคปัจจุบัน เพราะนอกเหนือจากการันตีด้วยจำนวน Follower หรือ Subscriber แล้ว บรรดาผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ต่างทำให้คนที่ได้อ่านเนื้อหาหรือได้ชมคลิป ต่างก็อยากทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายท่านคงรู้สึกว่า Influencer, KOL, Youtuber และ TikToker นั้นเป็นเครื่องมือชั้นดีในการทำการตลาดออนไลน์ แต่ก็อย่างคำพระท่านว่า “ในดีมีเสีย ในเสียมีดี” แม้จะเป็นเครื่องมือที่สามารถจุดพลุให้กับสินค้าหรือแบรนด์ได้ แต่เหล่านักการตลาดที่คิดจะใช้สื่อนี้ต้องเข้าใจด้วยว่าการผลิตเนื้อหาเพื่อประชาสัมพันธ์ หรือส่งเสริมการตลาด ต้องตรวจสอบและมองให้ครบรอบด้าน

เพราะอะไรต้องตรวจสอบและมองให้รอบด้าน เพราะเหล่าผู้มีอิทธิพลทางความคิดทั้งหมดนี้ เราไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม ทัศนคติ และการสร้างเนื้อหาของพวกเขาได้เลย กลุ่มคนเหล่านี้จะต่างจากผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคมอยู่แล้วอย่างศิลปินนักแสดงหรือนักร้อง ที่มีต้นสังกัดคอยดูแล และถึงไม่มีต้นสังกัด แต่ก็มีผู้จัดการที่เป็น “มืออาชีพ” คอยดูแล

ที่ผ่านมาเราได้เห็นดราม่าจากผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนโลกโซเชียลมีเดียหลายต่อหลายครั้ง และเป็นหลายต่อหลายครั้งที่ทำให้แบรนด์เสียหาย เป็นหลายต่อหลายครั้งที่ เหล่า Influencer ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายใด ๆ เป็นหลายต่อหลายครั้งที่กลายเป็นว่า แบรนด์ต้องจ่ายเงินจำนวนมากเกินความจำเป็น แต่ยอด Engagement ที่ได้รับกลับกลายเป็นด้านลบ

ในช่วงหลังมานี้การขายความน่าเชื่อถือของ Influencer เริ่มไม่เนียน และผู้คนในโลกโซเชียลต่างจับได้ไล่ทันว่า ความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นแค่ Advertorial ชิ้นหนึ่งที่เชื่อถือไม่ได้ อาการ Influencer เสื่อมมนต์ขลังเริ่มมีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Facebook YouTube TikTok หรือแม้แต่ Google เริ่มใช้ระบบอัลกอริธึม ของตนเองในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และเรียกให้แบรนด์ไปใช้บริการ มากกว่าจะไปซื้อไวรัล หรือโพสต์ที่การันตีไม่ได้

มีขึ้นก็ย่อมมีลง มียุครุ่งเรืองก็ย่อมมียุคเสื่อม แม้ว่าตลาด Influencer ยังไม่ได้วายไปเสียทีเดียว แต่จากนี้การใช้เครื่องมือทางการตลาดแบบอื่นจะเข้ามาเป็นตัวเลือกในการสร้าง Engagement หรือการมีส่วนร่วมกับแบรนด์จะมีทางเลือกมากขึ้น

อย่างที่บอกไว้ในข้างต้นนะคะ ว่า Influencer คือผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด และขายความน่าเชื่อถือ เมื่อวันหนึ่งผู้คนรู้ทันว่า ความน่าเชื่อถือนั้นมัน “ปลอม” ก็ไม่แปลกที่ตลาด Influencer จะเสื่อมมนต์ขลังได้ไม่ยาก

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ