เพื่อนยาก

เวลาใครเอ่ยคำว่า “เพื่อน” ขึ้นมาผู้เขียนก็ไพล่ไปนึกถึงชื่อ “เพื่อนยาก” หรือ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Of Mice and Men วรรณกรรมอมตะของ จอห์น สไตค์เบ็ค นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันที่สร้างตัวละครอย่าง จอร์จ มิลตัน แล เลนนี่ สมอลล์ เพื่อนที่แตกต่างกันด้วยสรีระ และ ระดับสติปัญญา แต่ทั้งคู่ก็อาศัยจุดแข็งของแต่ละคนเติมเต็มให้กับจุดอ่อนของทั้งสองฝ่ายแม้ว่าท้ายที่สุด กระสุนที่ จอร์จ ปลิดชีพ เลนนี่ นั้นก็ยังเป็นกระสุนที่ยิงไปด้วยความรักที่ไม่ต้องการเห็นเพื่อนพบกันความทรมาน

การจับโยงกันทางความรู้สึกของผู้เขียนระหว่างวรรณกรรมอมตะอย่าง “เพื่อนยาก” กับคำว่า “เพื่อน” ในชีวิตจริง เพราะเรื่องราวความสัมพันธ์ในวรรณกรรมที่ จอห์น สไตค์เบ็ค ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรนั้นอธิบายความของคำว่าเพื่อนและมิตรภาพได้อย่างครบถ้วน ทั้งความฝัน ความหวัง และ การเสียสละ ที่คนหนึ่งคนพึงจะมีให้กับคนอีกหนึ่งคน ผ่านทางความสัมพันธ์ที่มิใช่ความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้

ในชีวิตจริง คุณผู้อ่านหรือผู้เขียนเอง อาจมีคนรู้จักนับร้อยนับพัน แต่จะมีสักกี่คนที่เราสามารถระบุชื่อออกมาได้ว่าเขาเป็น “เพื่อนยาก” ของเราอย่างแท้จริง เพื่อนที่มีความฝันและทำฝันร่วมกัน เพื่อนที่คอยฉุดรั้งไม่ให้อีกคนหลงไปในทางที่ผิด เพื่อนที่กล้าจะยอมขัดใจเมื่อเราตามใจตัวเองมากเกิน หรือ เพื่อนที่กลายเป็นลมใต้ปีกให้กับอีกคนหนึ่งเพื่อให้เขาได้บินขึ้นไปสูงกว่า เชื่อว่าเมื่อลองนับนิ้วกันดูแล้วแต่ละคนคงมีจำนวนไม่เกินนิ้วในสองมือ

สังคมปัจจุบันเรื่องราวชนิดที่เกิดขึ้นใน “เพื่อนยาก” นั้นอาจไม่มีหรือมีอยู่ในจำนวนที่น้อยลงไปแล้ว หลายคนสามารถฉกฉวยความฝันของคนที่ตนเองเรียกว่าเพื่อนได้อย่างหน้าตาเฉย หลายคนสามารถโยนความผิดของคนที่ตนเองบอกว่าคบกันมาตั้งแต่เด็กได้แบบไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ และ อีกหลายคนที่สามารถทอดทิ้งมิตรภาพยาวนานนับปี เพียงเพื่อให้ตนเองได้อยู่ท่ามกลาง “Spotlight”

คำว่ามิตรภาพในสังคมปัจจุบันกลายเป็นการแลกเปลี่ยนมูลค่า เราใช้คำว่ามิตรภาพในการสร้างเพื่อนทางโลกโซเชียล เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตนเองกลายเป็น Somebody ของสังคมเสมือนจริง เราใช้คำว่ามิตรภาพในการจัดงานเลี้ยงรุ่นเพื่อให้ใครหลายคนได้ใช้คำว่า Connection และคำว่า มิตรภาพ ก็ถูกนักโฆษณาตีความให้มีเปลือกที่สวยงาม มีความหมายอยู่ที่การรวมตัวกันกลุ่มชายหนุ่มหญิงสาวที่มีเพียงชีวิตด้านสนุกร่วมกัน

เมื่อมีคนถามผู้เขียนว่า “พี่มีเพื่อนเยอะไหม” คำตอบที่ที่ผู้เขียนตอบกลับไปเสมอคือ “เพื่อนพี่ไม่เยอะนับไม่เกินนิ้วมือหนึ่งข้าง” คนถามต่างทำหน้าแปลกใจ อาจเป็นเพราะหน้าที่การงานที่ได้เจอคนเป็นร้อยเป็นพัน ทว่าในจำนวนนั้นคือ “คนระหว่างทาง” ส่วนคนที่เป็น “เพื่อนยาก” อย่างแท้จริงแล้วนั้นมีตามจำนวนที่ตอบและถือว่าตนเองโชคดีมาก เพราะ “เพื่อนยาก” นั้นจะปรากฏตัวขึ้นเสมอในยามที่เราต้องการแสงสว่าง และแม้จะห่างหายกันไปนานเพียงใดเวลาก็ไม่เคยทำให้ “เพื่อนยาก” เปลี่ยนความรู้สึกที่มีให้กัน