ในยุคที่อินเตอร์เนตยังต้องต่อโมเด็ม ในยุคที่ยังไม่มีเฟสบุ๊ค ในยุคที่สังคมออนไลน์ส่วนใหญ่จะตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ด และกระแสสังคมส่วนใหญ่เริ่มต้นจากเว็บ Pantip ผมลงสนามทำข่าวครั้งแรกในชีวิตให้กับหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยและเว็บไซต์ BUCA ONLINE ในฐานะนักศึกษาปี 4 ด้วยการสัมภาษณ์แกนนำกลุ่มเชียร์ไทยที่ชื่อว่า พินิจ งามพริ้ง บนอัฒจันทร์ฝั่งไม่มีหลังคาของสนามราชมังคลากีฬาสถาน
ย้อนกลับไปสมัยเรียนอยู่ปีสุดท้าย ภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในยุคนั้นฟุตบอลระดับสโมสรของไทยยังไม่เป็นอาชีพเต็มตัว จำได้แม่นว่าในแต่ละนัดที่ผมเข้าไปชม ต้องมีคณะตลกเพื่อเรียกคนดู บางนัดนักเตะ 2 ทีมรวมกันมีมากกว่าคนดู แต่ทุกครั้งที่ทีมชาติไทยเราลงสนาม กลับมีกองเชียร์กลุ่มหนึ่ง เข้าสนามไปร้องเพลงเชียร์ทีมชาติไทยกันแบบไม่หยุดปาก!
กองเชียร์กลุ่มที่ว่าก็คือกลุ่ม “เชียร์ไทย” ซึ่งก่อตั้งโดยพี่พินิจ งามพริ้ง รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพของกระผมเองครับ ซึ่งผมเองและเพื่อนๆในภาควิชาวารสารศาสตร์ที่ปกติก็เฮฮาบ้าดูบอลทั้งบอลไทยและบอลนอกตามประสาวัยรุ่น ไม่ลังเลที่จะตามลายแทงแหล่งข่าวจากเว็บบอร์ดเชียร์ไทย ตามไปสัมภาษณ์พี่กองเชียร์กลุ่มนี้ถึงขอบสนาม
ผมยังจำได้แม่นกับภาพเมื่อ 16 ปีที่แล้ว กับบรรยากาศในสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่ทีมชาติไทยมีโปรแกรมลงสนามในศึกฟุตบอลโลก 2002 โซนเอเชียรอบคัดเลือก รอบสอง (รอบ 10 ทีมสุดท้ายของเอเชีย) พบกับซาอุดิอาระเบีย ผมและเพื่อนๆ นั่งสัมภาษณ์กับพี่พินิจท่ามกลางเสียงกลองบนสแตนกลุ่มเชียร์ไทย
ประเด็นสำคัญในช่วงเวลานั้น คือช่วงที่ฟุตบอลระดับสโมสรของไทยค่อนข้างที่จะซบเซาและมืดมนในแง่มูลค่าการตลาดและยอดผู้ชม เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจไปกับฟุตบอลลีกฝั่งยุโรปจนมีวลีเด็ด “บอลนอกแค่สะใจ บอลไทยอยู่ในสายเลือด” ที่สื่อหลายสำนักยังใช้หยิบยืมใช้มาจนถึงทุกวันนี้
นี่ยังไม่รวมถึงวลีโดนใจแฟนบอลหลายคนอย่าง “VJ GET OUT” ที่ทางกลุ่มเชียร์ไทยใช้เป็นวลีในการเสียดสีและกดดันการทำงานของผู้บริหารสมาคมกีฬาฟุตบอลในยุคนั้น และอีกหนึ่งประโยคที่ว่า “ฟุตบอลไทย เอาไงดี” ซึ่งฟังแล้วมันแสดงถึงภาพรวมของวงการฟุตบอลไทยในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ว่าจะเดินไปในทิศทางใด
หลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์แกนนำกลุ่มเชียร์ไทยในวันนั้น ผมและเพื่อนๆยังอดไม่ได้ที่จะซื้อเสื้อยืดสีแดงสกรีนข้อความ “ฟุตบอลไทย เอาไงดี” ติดไม้ติดมือกลับบ้าน กับการลงสนามสัมภาษณ์แหล่งข่าวครั้งแรกในชีวิต ซึ่งหนึ่งในบุคคลที่ โฆษณาและโน้มน้าวให้ ผมต้องควักเงินอุดหนุนกลุ่มเชียร์ไทยในวันนั้นก็คือพี่เบิร์ด ณัชฐพงศ์ มูฮำหมัด ผู้ประกาศข่าวคนดังทางช่อง 7 สี นั่นเองครับ (พี่เบิร์ดโน้มน้าวเก่งมากครับ ฮา)
ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ผมนึกถึงพี่ชายคนนี้ที่ชื่อพินิจ งามพริ้ง ซึ่งไม่ว่าวันนี้ เขาหรือเธอ จะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสิ่งสำคัญกว่านั้น คือเขาหรือเธอผู้นี้ คือหนึ่งในผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลไทยในหลายๆแง่มุม ตอบโจทย์ที่ว่าฟุตบอลไทยจะเอายังไงดีเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะต้นแบบการเชียร์ในสนามมาจนถึงทุกวันนี้