สุนทรภู่ กับบทประพันธ์ไร้กาลเวลา

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมายถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ” …. นิราศภูเขาทอง

สวัสดีวันสุนทรภู่ค่ะ (26 มิถุนายน) และขอยกเอานิราศภูเขาทอง ขึ้นมาทักทายคุณผู้อ่าน นิราศเรื่องนี้เชื่อว่าหลายท่านน่าจะคุ้นหูคุ้นตากันไม่น้อย โดยเฉพาะท่อน “ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ” เพราะมักจะได้ยินในทุกวงเหล้าไม่ว่าจะไปนั่งวงไหน พอถึงช่วงจังหวะหนึ่งจะต้องมีคนร่าย นิราศภูเขาทอง ท่อนนี้ขึ้นมาทุกทีสิน่า

วันสุนทรภู่ นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากทาง ยูเนสโก (องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) และกระทรวงศึกษาธิการของไทยได้ประกาศยกย่อง “สุนทรภู่” ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ 200 ปีเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 โดยภายหลังการประกาศดังกล่าว บทประพันธ์ของ พระสุนทรโวหาร ก็กลายสมบัติของชาติและทำให้อีกหลายบทประพันธ์ เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วยังคงยืนยงอยู่มาได้จนปัจจุบัน

อันที่จริงแล้วหากย้อนกลับไปดูอดีตของ สุนทรภู่ ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงช่วงบั้นปลายของชีวิต จะเห็นได้ว่าเป็นชีวิตคนที่มีขึ้นมีลงอันเป็นสามัญของโลกใบนี้ โดยเมื่อครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 สุนทรภู่ลักลอบมีความสัมพันธ์กับข้าหลวงในวัง จนกระทั่งถูกจำคุก พอพ้นคุกก็กลับไปบ้านเกิดที่ระยอง แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งที่ตนเองชอบคือการเขียนโคลง กลอน จนกระทั่งได้กลับมารับราชการอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 กลายเป็นกวีที่ทรงโปรดปราน

แต่ชีวิตก็ต้องตกที่นั่งลำบากอีกครั้งเมื่อสิ้นแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนต้องไปบวชนานเกือบ 20 ปี และกลับมาได้รับราชการอีกครั้งในแผ่นดิน รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนกระทั่งได้เป็นพระยาสุนทรโวหาร

ด้วยประสบการณ์ที่โบยตีชีวิต ทำให้บทประพันธ์ของสุนทรภู่ นั้นนอกจากความสวยงามของภาษาแล้ว เนื้อหาของบทประพันธ์ได้ถ่ายทอดความรู้สึกของคนหนึ่งคนที่ผ่านโลกมาชนิดขึ้นสุดลงสุด แสดงให้เห็นสัจธรรมของการใช้ชีวิต และทำให้บทประพันธ์ของสุนทรภู่นั้นทรงคุณค่าเป็น “อกาลิโก” ไม่ขึ้นกับกาลเวลา

เพราะถึงแม้โลกจะเจริญทางวัตถุเพียงใด ใจมนุษย์ก็ไม่เคยเปลี่ยน ยังคงมีกิเลศ ตัณหา ความอิจฉา ริษยา และต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดมาทุกยุคทุกสมัย ดังเช่นบทประพันธ์จากพระอภัยมณี ที่พระฤาษีสอนสุดสาครเอาไว้ว่า “แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน”

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ