พรสวรรค์ ต้องไปพร้อมกับ “พรแสวง”

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสนั่งดูภาพยนตร์สารคดีของผู้กำกับที่ได้ชื่อว่ามีฝีมือในการกำกับสารคดีอาหารคนหนึ่งของวงการ อย่าง “เดวิด เกลบ์” (David Gelb) ผู้ที่สร้างสรรค์ซีรี่ย์อาหารอันลือลั่นใน Netflix อย่าง Chef’s Table

ส่วนที่ผู้เขียนดูเพิ่งจบไป เป็นภาพยนตร์สารคดีอาหารในยุคแรกของ เดวิด เกลบ์ ในฐานะผู้กำกับ เป็นงานตั้งแต่ปี 2011 กับ Jiro Dreams of Sushi เรื่องราวของ จิโระ อูโนะ เจ้าของร้านซูชิ 10 ที่นั่ง ผู้อุทิศชีวิตให้กับการทำซูชิ จนได้รับมิชลิน 3 ดาว

ในภาพยนตร์สารดคี Jiro Dreams of Sushi นั้นงานชิ้นแรก ๆ ของ เกลบ์ เขาได้แสดงความเป็นตัวตนของตนเองผ่าน Storytelling ได้อย่างชัดเจน จนกลายเป็นลายเซ็นในสารคดีและซีรีส์เกี่ยวกับอาหารของเขาในเวลาต่อมาอีกหลายเรื่อง เหนืออื่นใด งานของเกลบ์ก็ได้กลายเป็นแนวทางที่ทำให้คนทำรายการอาหาร หรือแม้กระทั่งยูทูบเบอร์หลายเจ้านำมาใช้ในการเล่าเรื่องผ่านภาพเช่นกัน

สำหรับ Jiro Dreams of Sushi นั้นเปิดด้วยปรัชญาการทำงานของ จิโระ อูโนะ เชฟวัย 85 (ณ เวลาที่ถ่ายทำสารคดี) ที่ได้กล่าวว่า “เมื่อเราตัดสินใจว่าจะทำอาชีพอะไร เราก็ต้องอุทิศตัวให้กับมัน เราต้องรักงานที่เราทำ เราต้องไม่บ่นงานที่เราทำ เราต้องอุทิศชีวิตเพื่อพัฒนาฝีมือ นั่นล่ะคือเคล็ดลับความสำเร็จ และเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การได้รับการยอมรับ”

เป็นการเปิดหัวการเล่าเรื่องที่ทำให้คนดูรู้ว่าเราจะได้เห็นการทำงานแบบคนญี่ปุ่นแล้วล่ะ ดูไปแล้วน่าจะกลับมาฮึกเหิมได้พักใหญ่ แต่เอาเข้าจริงจะมาสะดุดตรงคำพูดจากลูกชายคนโตของคุณปู่จิโระ ที่จะต้องเป็นผู้สืบทอดร้านต่อไป  เป็นคำพูดที่เรียบง่าย ถ่ายทอดออกมาในระหว่างที่ โยคิคาซึ กำลังนั่งทำงานอยู่ในร้าน เขากล่าวว่า

“บางคนเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ อันหมายถึงประสาทรับรสและกลิ่นที่ไวกว่าคนอื่น และในธุรกิจนี้ ถ้าคุณตั้งใจและทุ่มเท ฝีมือก็จะพัฒนา แต่ถ้าอยากไปในระดับโลก นอกจากพรสวรรค์แล้วคุณต้องมีพรแสวงร่วมด้วย”

เป็นคำพูดง่าย ๆ ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ นะคะ แต่มีความหมายซ่อนอยู่มากทีเดียว ทุกวันนี้คนที่มีพรสวรรค์นั้นหาได้ไม่ยากและเหมือนพวกเขาก็รู้ตัวว่าชีวิตมีแต้มต่อ แต่กลับกลายเป็นว่าพรสวรรค์ที่ได้รับนั้นทำให้พวกเขาประมาทในการลงมือทำ เพราะเชื่อมั่นตัวเองมากไป คิดว่าอย่างไรเสียก็ไปถึงจุดหมายได้ แต่พอเอาเข้าจริง คนมีพรสวรรค์แต่ไม่ลงมือทำ กับคนที่ใช้พรแสวงและฝึกฝนอย่างหนัก เราจะเห็นว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างกันนัก

การเล่าเรื่องของ เกลบ์ ในสารคดีเรื่องนี้ทำให้เห็นชัดเจนระหว่างเรื่องของพรสวรรค์และพรแสวง จากธรรมเนียมของร้าน ซึกิยาบาชิ จิโระ ที่เชฟฝึกหัดในร้านต้องฝึกฝนเป็นเวลายาวนานถึง 10 ปี เพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็น “โชคุนิน” (ความหมายคือช่างฝีมือที่ยอดเยี่ยมและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ ในที่นี้หมายถึง เชฟซูชิ)

คำบอกเล่าผ่านเชฟฝึกหัดในร้านที่ทำงานมานานถึง 10 ปี แม้ว่าเขาไม่ได้มีพรสวรรค์ติดตัวสักเท่าไร แต่การฝึกฝนอย่างหนัก แสวงหาวิธีการเพื่อพัฒนาฝีมือตนเอง ไม่หาทางลัดเพื่อก้าวกระโดด ทำให้เขาได้รับการยอมรับจาก จิโระ อูโนะ และถึงจะได้รับการยอมรับแล้ว เขายังคงยืนยันว่าต้องพัฒนาฝีมือตนเองต่อไป และนี่คือคุณสมบัติสำคัญสำหรับคนที่มีเพียงพรแสวง แต่ถ้าคุณมีพรสวรรค์ด้วย คุณก็อาจจะไปได้ถึงจุดที่ใกล้เคียงกับเชฟจิโระ

ลองไปหาชมกันนะคะ สำหรับ “Jiro Dreams of Sushi” ใครดูแล้วจะดูซ้ำอีกก็ได้ หรือถ้าอยากดูเรื่องใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจในลักษณะใกล้เคียงกัน ก็สามารถข้ามไป Chef’s Table ได้เลยค่ะ เพราะมี Storytelling ที่ไม่แตกต่างกัน ดูแล้วน่าจะช่วยเยียวยาความรู้สึกได้อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง ในสภาวการณ์ที่คนมีพรสวรรค์ ก็เอาพรสวรรค์ไปใช้ในทางที่ผิด ส่วนพวกที่มีพรแสวงและดันได้โอกาส ก็แสวงหาแต่ผลประโยชน์เข้าพวกพ้องของตนเอง “วงการ……อะนะ”

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ