สถานที่เสี่ยงเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 หลังคนกลับจากหยุดยาว

ก่อนที่เราจะหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ โควิด-19 ในไทยได้กลับมาระบาดเป็นระลอกที่ 3 เพียงไม่กี่วันก็กลายเป็นพื้นที่สีแดง พบผู้ป่วยทั่วประเทศ ยิ่งในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ภาครัฐไม่ได้ประกาศห้ามเดินทางหรือยกเลิกเป็นวันหยุดอย่างเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อคนเดินทางไปทั่วประเทศ ก็เป็นไปได้ว่าหลังเทศกาลจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอาจพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นคลัสเตอร์โควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ

คลัสเตอร์โควิด-19 (Cluster) เป็นคำที่นักระบาดวิทยาใช้เรียกกรณีที่ตรวจพบผู้ติดโควิด-19 ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ในรอบ 14 วัน โดยผู้ติดเชื้อทุกคนมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน และอาจมีช่วงเวลาสัมผัสใกล้กัน โดยจะใช้เรียกแหล่งที่มาของการแพร่เชื้อ

ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนระวังความปลอดภัยของตนเองให้มากขึ้น Tonkit360 รวบรวมสถานที่ที่เสี่ยงจะเป็นคลัสเตอร์การระบาดในช่วงหลังเทศกาล ซึ่งถ้าไม่จำเป็น ประชาชนควรหลีกเลี่ยงที่จะไปสถานที่เหล่านี้ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องระวังตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตลาดสด

ช่วงที่ผ่านมา มีคลัสเตอร์ตลาดสดเกิดขึ้นมากมายหลายครั้ง เนื่องจากตลาดสดเป็นสถานที่ที่คนพลุกพล่าน มีผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งตลาดส่วนมากจะมีแผงขายของติด ๆ กัน อากาศไม่ถ่ายเท ร้อนอบอ้าว ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหรือลูกค้าหลายคนอึดอัดที่จะสวมหน้ากากตลอดเวลา มีการตะโกนคุยกันระหว่างแผง การคุยกันระหว่างผู้ค้าและลูกค้า ไม่มีการทำความสะอาดจุดสัมผัสต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเรื่องของการจ้างแรงงานข้ามชาติด้วย ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้น

โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม

ช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ แรงงานส่วนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัด โดยช่วงที่ COVID-19 กลับมาระบาดรอบ 3 ภาครัฐก็ไม่ได้ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แรงงานหลายคนที่เดินทางไปต่างจังหวัดก็อาจจะติดเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว หรือแม้แต่เอาเชื้อไปติดญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัดโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน หลังเทศกาล แรงงานจะกลับมาทำงานตามปกติ ที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานฝ่ายผลิต เพราะไม่สามารถ Work from Home ได้ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดคลัสเตอร์ในโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก

สถานที่ราชการ

สถานที่ราชการก็เป็นอีกสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่บางรายต้องทำหน้าที่บริการประชาชนอยู่ในสถานที่ราชการ ไม่สามารถ Work from Home ได้ ประชาชนหลายรายก็เดินทางมาติดต่อทำเอกสารราชการ เพราะตกค้างจากการหยุดยาวและประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัด ทำให้ในช่วงวันแรก ๆ ที่เปิดทำการ อาจจะมีคนไปรอติดต่อเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ดังนั้น เพื่อลดความแออัดและลดความเสี่ยงที่จะเกิดคลัสเตอร์การระบาด เอกสารใดที่สามารถจองคิวก่อนไปได้ก็ควรจองคิวไว้ก่อน แล้วค่อยไปตามเวลา ก็จะลดจำนวนคนที่มาติดต่อได้

ธนาคาร

ปกติแล้วธนาคารก็เป็นสถานที่ที่คนพลุกพล่าน และมีคิวรอทำธุรกรรมทางการเงินมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะธนาคารในสังกัดของรัฐบาล ในช่วงวันหยุด ธนาคารสาขานอกห้างสรรพสินค้าปิดทำการ ก็อาจทำให้มีลูกค้าสะสม ถ้ามีเรื่องเร่งด่วน ก็จะรีบมาในวันเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความแออัด แม้ว่าทางธนาคารจะมีมาตรการป้องกันอยู่แล้วแต่ก็ยังเสี่ยงอยู่ดี ดังนั้นถ้าพบว่าคิวยาว หลังรับบัตรคิวก็อาจจะออกมารอข้างนอก ประเมินเวลาแล้วค่อยกลับเข้าไป หรือธุรกรรมใดที่สามารถทำออนไลน์หรือทำผ่านตู้ได้ก็ใช้งานไปก่อน ถ้าสะดวกอาจไปสาขาใกล้เคียงที่คนน้อยกว่า

ห้างสรรพสินค้า

เมื่อผู้คนเริ่มกลับเข้ามา ห้างสรรพสินค้าก็จะกลายเป็นที่ที่มีคนพลุกพล่าน คนเข้าออกตลอดเวลาเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ต้องไปสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ เช่น ตะกร้าใส่ของหรือรถเข็นในซูเปอร์มาร์เก็ต ราวจับบันไดเลื่อน ปุ่มกดบนตู้เอทีเอ็ม ห้องน้ำสาธารณะ รวมถึงสิ่งของในร้านที่มักมีคนเข้ามาหยิบจับจำนวนมาก แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่พนักงานจะมาเช็ดทำความสะอาดของบนชั้นอยู่ตลอด และบางคนเดินห้างโดยสวมใส่หน้ากากไว้ใต้จมูกหรือใต้คาง ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันอะไรเลย ทั้งคนแพร่เชื้อและคนติดเชื้อ

ร้านอาหาร

ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในร้านอาหารมีอยู่มากเลยทีเดียว หลัก ๆ เลยเพราะเราต้องถอดหน้ากากออกเวลากินอาหาร รวมถึงการบังเอิญไปสัมผัสเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ในร้าน แล้วเราก็ไม่ได้หมั่นทำความสะอาดมือเท่าที่ควร โดยเฉพาะก่อนที่จะนำอาหารเข้าปากดังนั้นจึงอาจนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ แม้ว่าขณะนี้ ภาครัฐจะมีมาตรการคุมเข้ม อนุญาตให้นั่งกินที่ร้านได้ถึงเวลา 21.00 น. เท่านั้น และคงมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวด แต่ทางที่ดีในช่วงนี้ซื้อกลับมากินที่บ้านน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

โรงพยาบาล

โรงพยาบาล เป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะปกติโรงพยาบาลก็เต็มไปด้วยคนป่วย มีเชื้อโรคกระจายอยู่ในอากาศโดยที่เราไม่เห็น และยิ่งการระบาดระลอก 3 ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อมากขึ้นวันละเป็นพันคน ผู้ป่วยก็จะเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จนหลายโรงพยาบาลเตียงเต็ม และอาจมีเชื้อหลงเหลืออยู่บ้างตามจุดสัมผัสที่ผู้ป่วยสัมผัส และบุคลากรทางการแพทย์หลายคนต้องกักตัว เพราะผู้ป่วยบางรายปกปิดประวัติหรือไม่รู้ตัว ฉะนั้น หากอาการไม่รุนแรง หรือหมอนัดไปติดตามอาการเฉย ๆ ถ้าเลื่อนได้ก็ขอให้เลื่อนนัดไปก่อน

บนรถประจำทาง

หลายคนจำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้านไปทำงาน เนื่องจากองค์กรไม่ได้ประกาศให้ทำงานที่บ้าน เป็นงานที่ทำจากบ้านไม่ได้ หรือคนที่ต้องออกมาเพื่อทำมาหากิน โดยต้องพึ่งรถประจำทาง ทำให้รถประจำทางกลายเป็นอีกที่ที่เสี่ยงต่อการระบาด เพราะความแออัดของการโดยสารดังที่หลาย ๆ คนรู้และสัมผัสอยู่ทุกวัน อากาศบนรถประจำทางที่ไม่ถ่ายเท และมีคนขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะมีการทำความสะอาดในทุกรอบการเดินทาง แต่ระหว่างนั้นอาจมีผู้ที่ติดเชื้อไปสัมผัสตามที่ต่าง ๆ แล้วก็มีคนมาสัมผัสต่อ ก็อาจเกิดการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว