ข่าว “คดีฆ่าหั่นศพ” ให้อะไรกับสังคม

ภาพจาก pixabay

ข่าว  “คดีฆ่าหั่นศพสาวคาราโอเกะ” โดยกลุ่มฆาตกรวัยรุ่นหญิง กำลังเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวจากสื่อหลักที่ทำให้หลายคนมองว่า เหตุใดจึงให้ความสำคัญกับข่าวนี้มาก จนเกิดคำถามตามมาว่า “ข่าวนี้ให้อะไรกับสังคม”

อีกทั้งยังมีการนำเสนอชีวิตของผู้ต้องหาคนสำคัญในทุกแง่มุมราวกับเป็น “คนดัง” หรือ “เน็ตไอดอล” เนื่องจากผู้ต้องหามีภาพลักษณ์เป็นหญิงวัยรุ่น รูปร่างหน้าตาดี ต่างจากฆาตรกรฆ่าหั่นศพที่คนส่วนใหญ่คุ้นตา

ขณะที่ในวันเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าได้รับการปฏิบัติราวกับไม่ใช่ผู้ต้องหาคดีร้ายแรงที่มีโทษหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ที่ระบุว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ต้องระวางโทษ “ประหารชีวิต”

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การติดตามข่าวสารในยุคโซเชียล ไม่ได้มีข้อจำกัดเหมือนในอดีต ที่ต้องรออ่านจากหนังสือพิมพ์ ดูจากโทรทัศน์ หรือฟังจากวิทยุเท่านั้น ขอแค่มี “อินเตอร์เน็ต” และ  “สมาร์ทโฟน” ก็เชื่อมโลกได้ทั้งใบแล้ว

ด้วยเหตุนี้ สื่อหลักจึงไม่ใช่สื่อที่ผูกขาดการนำเสนอข่าวอีกต่อไป  ยิ่งถ้าข่าวนั้นๆ มีเพจสายดาร์ก หรือเพจดังในเฟซบุ๊กร่วมวงขุดคุ้ย หรือนำเสนอจนเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจแล้ว ก็ยิ่งต้องตามติดประเด็นนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง จนเกิดการแข่งขันระหว่างสื่อต่างๆ ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า  การเสนอข่าวของสื่อขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้รับข่าวสารในสังคมด้วยเช่นกัน  ถ้าเป็นข่าวที่เรียกว่า  “Human Interest” หรือข่าวที่คนให้ความสนใจจนเกิดอารมณ์ร่วมตามไปด้วย ก็เป็นธรรมดาที่สื่อต้องเสนอข่าวนั้นๆ เพื่อตอบสนองความสนใจของผู้คน

แต่ความเหมาะสมในการเสนอข่าวสาร ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องคัดกรองด้วยเช่นกัน หากสนใจเพียงแค่เรตติ้ง ยอดไลก์ หรือยอดแชร์ในโลกออนไลน์ ก็เป็นการลดทอนคุณค่าและวิชาชีพของตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว

เพราะถึงอย่างไรเสีย การเสนอข่าวที่มีคุณภาพ ได้สาระ เนื้อหา และเป็นประโยชน์ต่อรอยหยักสมองของคนในสังคม ก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนที่ดี เพื่อร่วมกันจรรโลงสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น

ขณะที่คนในสังคมก็ควรเลือกรับข่าวสารที่มีประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะการเสพแต่ข่าวอาชญากรรม หรือข่าวในเชิงลบ ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจโดยไม่รู้ตัว ทั้งเกิดความเครียด เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรือเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม จนไม่รู้สึกว่าเป็น “ภัยสังคม”

หากผู้นำเสนอข่าวและผู้รับข่าวสารต่างรู้หน้าที่ของตัวเอง อย่างน้อยสักวันหนึ่ง คำถามที่ว่า “ข่าวนี้ให้อะไรกับสังคม” ก็คงจะลดน้อยลง และไม่เหลือพื้นที่ให้ข่าวทำนองนี้ในหน้าสื่ออีกต่อไป