เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าประเทศไทยไม่มีการล็อกดาวน์ แต่การจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ปีใหม่ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนหมู่มากจำเป็นต้องยกเลิกในบางพื้นที่ที่ถูกกำหนดว่าเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดใหม่ของ COVID-19 (โควิด-19) ส่งผลให้มีจังหวัดที่สามารถจัดงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ได้ราว 30-40 จังหวัดเท่านั้นจากทั้งหมด 76 จังหวัด
“เซ็นทรัลเวิลด์-ไอคอนสยาม” ยกเลิกเคาท์ดาวน์
สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์เป็นประจำทุกปี ถือเป็น “พื้นที่ควบคุม” ที่มีคำสั่งออกมาชัดเจนแล้วว่าให้งดกิจกรรมที่เป็นสาธารณะ ซึ่งบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ประกาศออกมาแล้วว่างาน “Thailand & centralwOrld Bangkok Countdown 2021” ที่เซ็นทรัลเวิลด์ จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานส่งความสุขแบบไม่เปิดให้คนเข้างาน โดยงดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ในรูปแบบคอนเสิร์ตใหญ่ แต่ยังคงมีความตระการตาจากการจุดพลุ “A SYMBOL of Hope” สัญลักษณ์แห่งความหวังจากคนไทยสู่ผู้คนทั่วโลก
ส่วนรูปแบบการชมงานจะเป็นการดูบรรยากาศผ่านการไลฟ์ทางเพจเฟซบุ๊ก centralwOrld และเพจของเซ็นทรัลทุกสาขาทั่วประเทศ รวมถึงชมการถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง One 31 และ LINETV
ขณะที่บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ซึ่งจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพันธมิตร จัดงาน “Amazing Thailand Countdown 2021” ที่ริเวอร์พาร์ค ไอคอนสยาม ก็ตัดสินใจยกเลิกงานเคาท์ดาวน์เช่นกัน แต่ยังคงมีการจุดพลุดอกไม้ไฟรักษ์โลกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ดูกันตามกำหนดการเดิม โดยเปลี่ยนมาจัดในรูปแบบไลฟ์หรือถ่ายทอดสดแทน
เช่นเดียวกับ ททท.ที่ประกาศเลื่อนการจัดงานเคาท์ดาวน์ที่เชียงใหม่ออกไปแล้ว ซึ่งดำเนินการเป็นโต้โผจัดงานเอง นอกเหนือจากงานที่ให้การสนับสนุนภาคเอกชนอีก 10 แห่งทั่วประเทศ
ห้ามจัดเคาต์ดาวน์ สูญเม็ดเงินมหาศาล
เมื่อ พื้นที่ควบคุมสูงสุด อย่างสมุทรสาคร ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดครั้งใหม่ถูกสั่ง “งดกิจกรรมฉลองทุกชนิด”, พื้นที่ควบคุม อาทิ กทม. นครปฐม สมุทรสงคราม “งดกิจกรรมที่เป็นสาธารณะ” และ พื้นที่เฝ้าระวังสูง อาทิ สมุทรปราการ นนทบุรี อนุญาตให้สามารถ “จัดกิจกรรมได้ แต่ลดขนาดของงานให้เล็กลง” จึงส่งผลให้บรรยากาศฉลองการส่งท้ายปีต้อนรับปีใหม่ของหลายจังหวัดต้องเงียบเหงาไปโดยปริยาย
แค่เฉพาะสมุทรสาครจังหวัดเดียวที่ปกติมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 1.6 ล้านคน/ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยจากกทม. และจังหวัดอื่น ๆ นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในช่วง 1 เดือนนี้ จะสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 180-200 ล้านบาท ขณะที่การยกเลิกกิจกรรมเคาท์ดาวน์ โดยเฉพาะในพื้นที่กรงเทพฯ ก็คาดว่าจะสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาทเลยทีเดียว!
ระบาดระลอกใหม่ทำคนหวั่นเดินทาง
นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ยังทำให้ททท.คาดการณ์ด้วยว่าในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่จะมีการเดินทางท่องเที่ยวในระหว่างวันที่ 31 ธ.ค.2563-3 ม.ค.2564 ในปริมาณที่ลดลงจากปีก่อน
โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวจะเดินทาง 2.75 ล้านคน/ครั้ง คิดเป็นรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางอยู่ที่ 3.4 ล้านคน/ครั้ง รายได้ประมาณ 12,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังประเมินว่า การชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยจะทำให้สูญรายได้ไปราว 17,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้นับรวมการห้ามเดินทางข้ามจังหวัดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไม่เลวร้ายไปกว่านี้ สามารถสกัดกั้นการระบาดให้อยู่ในวงแคบได้มากที่สุด และมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในปริมาณมาก รวมถึงทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการดูแลสุขอนามัยของตนเองอย่างเคร่งครัด ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็อาจจะต่ำกว่าตัวเลขที่ททท.และศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเอาไว้