หนึ่งในประเด็นด้านการศึกษาที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ คือการประกาศผลการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือ TCAS ที่เกิดความผิดพลาดขึ้นในการประกาศผล TCAS รอบ3 ของคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในวงกว้าง และเป็นผลให้ ผศ.ดร. อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
คำนวณคะแนนไม่ครบปัญหาเกิด
ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการคำนวณคะแนนรวม PAT7 ผิดพลาด ซึ่งเป็นคะแนนความถนัดทางภาษาต่างประเทศ ที่มีให้เลือกสอบ 7 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อาหรับ, บาลี แต่เจ้าหน้าที่กลับดึงคะแนนเฉพาะผู้สมัคร PAT7.7 ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้นำคะแนนของผู้สมัครที่ใช้ PAT7 ภาษาอื่น ๆ มาคำนวณด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้สมัครจำนวนหนึ่งที่ควรผ่านการคัดเลือกจึงไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าศึกษาต่อ และมีผู้สมัครจำนวนหนึ่งซึ่งมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ได้รับสิทธิ์เข้าศึกษาต่อ ส่งผลให้ทางคณะวารสารศาสตร์ฯ ต้องออกแถลงการณ์ให้สิทธิ์ผู้สมัครทุกรายที่มีคะแนนรวมสูงกว่าคะแนนของผู้สมัครคนสุดท้ายที่ได้รับสิทธิ์ในการศึกษาต่อในหลักสูตรวารสารศาสตร์บัณฑิต เพื่อเป็นการเยียวยาให้กับผู้สมัครที่เสียสิทธิ์จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นเท่าตัว!
การแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้ทางคณะต้องรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นจาก TCAS รอบ 3 อีก 198 คน จากที่ประกาศผู้มีสิทธิ์ไปแล้ว 87 คนในรอบนี้ และเมื่อรวมกับ TCAS รอบ 4 (กำหนดรับ 120 คน) ส่งผลให้ปีการศึกษาใหม่ คณะวารสารศาสตร์ฯ จะมีจำนวนนักศึกษาใหม่ร่วม 400 คน จากที่กำหนดรับต่อปีที่ 220 คน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในอนาคต เพราะการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อาจส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนได้ ในเมื่อคณาจารย์ อุปกรณ์การเรียน และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ยังคงมีจำนวนเท่าเดิม
นอกจากนี้ นักศึกษาที่รับเข้ามาส่วนหนึ่งมีคะแนนสอบที่ต่ำกว่าเกณฑ์ในการรับเข้าศึกษาต่อที่คณะด้วย ซึ่งในจำนวน 198 คนที่รับเพิ่มเข้ามานั้น มีเพียง 78 คนเท่านั้นที่สมควรได้รับสิทธิ์ดังกล่าว ส่วนอีก 120 คนนั้น เป็นผู้ที่อยู่ในข่ายมีคะแนนสูงกว่าผู้ที่มีคะแนนต่ำสุดจากการประกาศผลผิดพลาดไป
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการทักท้วงตามมาจากประชาคมคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่มองว่าเป็นการเยียวยาที่ไม่ได้ประเมินผลกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านหรือแก้ไขจากต้นตอของปัญหา ซึ่งอาจจะส่งผลระยะยาวตามมา พร้อมทั้งมองว่าการเยียวยาด้วยการรับผู้สมัครที่ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนที่กำหนดนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องภายใต้ระบบของการสอบคัดเลือกที่ตั้งไว้เป็นมาตรฐาน
ทางเลือกเพื่อแก้ปัญหานศ.ล้นคณะ
เมื่อมีเสียงจิ้งจกทักจึงทำให้ทางมหาวิทยาลัยเปิดให้ตัวแทนจากประชาคมคณะวารสารศาสตร์ฯ มาหารือทางออกร่วมกัน แต่ยังคงยืนยันชัดเจนว่าทั้ง 198 คน ได้สิทธิ์ในการเป็นนักศึกษาม.ธรรมศาสตร์แล้ว เพื่อเป็นการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย แต่ยังมีข้อเสนอทางเลือกเพื่อแก้ปัญหานักศึกษาล้นคณะ ดังนี้
- ให้นักศึกษาสามารถเลือกคณะอื่นได้ โดยให้เวลาตัดสินใจจนกว่าจะเปิดภาคเรียน แต่จะพิจารณาจากคะแนนด้วยว่าถึงเกณฑ์หรือไม่
2. ให้นักศึกษาเข้าโครงการ Thammasat Frontier School ซึ่งเป็นการเรียนแบบไม่สังกัดคณะในภาคเรียนที่ 1-3 เพื่อจะได้ค้นหาตัวตน ก่อนตัดสินใจเลือกคณะที่ชอบ หลักสูตรที่ใช่ในภาคเรียนที่ 4
3. ให้นักศึกษาสามารถสละสิทธิ TCAS รอบ 3 แล้วไปสมัครในระบบ TCAS รอบ 4 ได้ ซึ่งจะเปิดรับสมัครถึงวันที่ 20 พ.ค.นี้
แต่หากสุดท้ายแล้ว นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกที่จะเรียนคณะวารสารศาสตร์ฯ ตามเดิม ทางมหาวิทยาลัยจะพิจารณาให้ทางคณะขออัตรากำลังเพิ่มได้ตามสมควร, เพิ่มงบประมาณในการจ้างอาจารย์พิเศษ และจัดทำแผนจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ที่จำเป็นในการสอน การพัฒนาห้องเรียนและห้องปฏิบัติเพื่อรองรับนักศึกษากลุ่มนี้ได้
ทั้งหมดนี้คือหนทางเยียวยาที่ยังรอทางออกจากการประชุมออนไลน์กับว่าที่นักศึกษาทั้ง 198 คน ว่าพวกเขาจะเลือกแนวทางใด จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน ที่ส่งผลต่ออนาคตในการเลือกทางเดินของตนเอง!