โอกาสเติบโตของ OTOP หลังคนต่างจังหวัดย้ายกลับถิ่นฐาน

ภาพจาก freepik.com

จากผลพวงของ COVID-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในตอนนี้ ทำให้หลายคนตัดสินใจย้ายกลับถิ่นฐานบ้านเกิดในต่างจังหวัด เนื่องด้วยบริษ้ท โรงงาน กิจการร้านค้าหลายแห่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนต้องปิดตัวลง บ้างก็ลดขนาดธุรกิจ ลดจำนวนพนักงานเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้ไม่มีการจ้างงานตามมา

หากมองในแง่ดี นี่ถือเป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องจากต่างจังหวัดจะได้กลับไปสร้างงานในบ้านเกิดอย่างที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ต้องการ แทนที่จะมาดิ้นรนหางานในเมืองกรุง แต่กลับมีเงินแค่ประทังชีวิตไปวัน ๆ เพราะค่าครองชีพในกทม.สูงกว่า แถมยังมีค่าใช้จ่ายรออยู่มากมาย ทั้งค่าเช่าห้อง, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และค่าเดินทาง

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจลักษณะการทำงานของประชากรเอาไว้เมื่อปี 2557 (อ้างอิงข้อมูลจาก moph.go.th) พบว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพ 38.07 ล้านคน โดยมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (เกษตรกร) 12.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของผู้ประกอบอาชีพในประเทศไทย

แต่หากดูจากข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจไว้ ในปี 2562 (อ้างอิงข้อมูลจาก nso.go.th) กลับพบว่าจำนวนผู้มีงานทำลดลงเหลือ 37.78 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 10.58 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 27.20 ล้านคน ซึ่งตัวเลขผู้ทำงานในภาคเกษตรรรมลดลงถึง 6.9 แสนคนเลยทีเดียว

จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคนที่มีถิ่นฐานอยู่ในต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนรับช่วงต่อในการทำเกษตรกรรมจากครอบครัว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วสินค้า OTOP จาก 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์นั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นได้อย่างมหาศาล ดูได้จากงาน OTOP City 2019 ที่รวบรวมสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนจากทั่วประเทศกว่า 20,000 รายการ เมื่อปลายปี 2562 สามารถสร้างยอดขายทะลุเป้าเป็นประวัติการณ์รวมกว่า 1,372 ล้านบาท

นอกจากนี้ ภาครัฐยังให้การสนับสุน ผุดโครงการ “สินค้าชุมชน สู่ชุมชน เพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ผ่านการสร้างตราสินค้า “อต. Select” เพื่อสู้วิกฤติ COVID-19 ด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ผลิตสินค้า OTOP ให้มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตที่เพิ่มขึ้น มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีการพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลผลิตที่ดี รวมถึงส่งเสริมให้สินค้าดังกล่าวได้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น

โดยองค์การตลาด กรมการพัฒนาชุมชน (อต.) และบริษัท โอทอปอินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จะร่วมกันพัฒนาและออกแบบรูปแบบการดำเนินงานในระบบการบริหารจัดการของการดำเนินโครงการ ด้วยการสรรหาผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน และผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย พร้อมสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง

นั่นหมายความว่า การกลับบ้านเกิดของพี่น้องชาวต่างจังหวัด เพื่อสานต่อผลิตภัณฑ์เด่น ๆ ในชุมชนยังมีทิศทางที่ดี และมีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และหากสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ในชุมชนของตนเอง มีความโดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่นได้ ความหวังที่จะก้าวไกลไปถึงการส่งออก ก็ไม่น่าจะเป็นเเพียงฝันลม ๆ แล้ง ๆ อีกต่อไป!