ท็อป 5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ COVID-19

ภาพจาก freepik.com

แม้ว่าเราจะรู้จักโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กันมานานเกือบ 3 เดือนแล้ว นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดที่ประเทศจีนเป็นแห่งแรก เมื่อช่วงเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว แต่ทุกวันนี้ยังมีคนที่มีความเชื่อผิด ๆ เกี่่ยวกับโรคนี้อยู่จำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างตามไปด้วย

และนี่คือท็อป 5 ความเชื่อผิด ๆ พร้อมความเข้าใจที่ถูกต้องว่าความจริงแล้วควรเป็นเช่นไร

1. โควิด-19 ฟุ้งกระจายในอากาศ หายใจเข้าไปได้ง่าย

โควิด-19 ไม่ได้แพร่เชื้อผ่านละอองฝอย และเชื้อไวรัสไม่ได้ฟุ้งอยู่ในอากาศได้นาน แต่จะเกาะติดออกมากับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น ละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ซึ่งสารคัดหลั่งเหล่านี้สามารถแพร่กระจายได้ไกลถึง 2 เมตรก่อนจะร่วงลงพื้น หรือสิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ  ไม่ได้ฟุ้งกระจายในอากาศ

2. การฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อในอากาศช่วยได้

การฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อสามารถช่วยได้ในกรณีที่ไม่มีผู้คนอยู่ในบริเวณนั้น และต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณนั้นอย่างน้อย 1 วันด้วย เนื่องจากละอองของสเปรย์จะไปกระทบกับเชื้อโรค ทำให้เชื้อไวรัสยิ่งฟุ้งกระจายในอากาศ จึงควรใช้วิธีเช็ดทำความสะอาดในแนวราบแทน เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจาย

3. ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ที่หน้ากากอนามัยช่วยฆ่าเชื้อ  

ไม่ควรฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ที่หน้ากากอนามัยอย่างเด็ดขาด เพราะแอลกฮอล์มีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลาย เมื่อฉีดแอลกอฮอล์ไปที่หน้ากากอนามัย จึงไปละลายสารเคลือบที่ช่วยป้องกันการซึมผ่านของน้ำและสารคัดหลั่ง (สังเกตได้จากด้านที่มีลักษณะมัน ๆ) ทำให้ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยเสื่อมลง

4. มีเฟซชิลด์ ไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยก็ได้

ห้ามใช้เฟซชิลด์โดยไม่มีหน้ากากอนามัยเด็ดขาด เนื่องจากการป้องกันฝอยละอองขนาด 5 ไมครอนที่เชื้อไวรัสโควิด-19 เกาะอยู่นั้นจะต้องป้องกันจากทุกทิศทางเสมอในทุกกรณี การใช้เฟซชิลด์เพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถป้องกันได้ทุกทิศทาง ต้องใช้ร่วมกับการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องเท่านั้นจึงจะสามารถป้องกันได้

5. แอลกอฮอล์ล้างมือ ยิ่งเข้มข้นยิ่งดี

แอลกอฮอล์ที่เข้มข้นมากไป เช่น ความเข้มข้นที่ 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปนั้นอาจฆ่าเชื้อไม่ได้ เพราะจะทำลายแค่เปลือกนอกของเซลล์ไวรัส แต่ยังไม่ได้ทำลายทั้งเซลล์จนกว่าจะซึมผ่านเข้าไป ในขณะที่แอลกอฮอล์ความเข้มข้นที่ 70 เปอร์เซ็นต์ กลับใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ดีกว่า เพราะการเจือจางด้วยน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้แอลกอฮอล์ซึมผ่านเปลือกไวรัสได้ดีกว่า