เช็กสภาพธุรกิจ คุณอยู่ในโซน “ร่วงหรือรอด”

จากปลายปี 2019 จนถึงช่วงต้นปี 2020 ก่อนที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 จะรุนแรงระดับโลกอย่างที่เป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกก็ใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยอยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์ของโรคระบาดครอบคลุมไปทั่วโลก สภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือสิ่งที่คนทั้งโลกจะได้มีประสบการณ์ร่วมกันอย่างแน่นอน 

ไมค์ ลี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยโอคแลนด์ ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต และจะทำอย่างไรเพื่อให้รอดจากสภาวการณ์ที่หลายคนยังไม่เห็นทางออก  

เนื้อหาในบทความนี้จะแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็นสามแบบ คือ กลุ่มธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความถดถอย กลุ่มธุรกิจที่จะรอดจากวิกฤตในครั้งนี้ และกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต โดยวิเคราะห์จากลักษณะธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการรวมตัวของคนจำนวนมาก และธุรกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาการรวมตัวของกลุ่มลูกค้า และใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการมากขึ้น 

กลุ่มธุรกิจที่มีแต่ถดถอย

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด -19 คือ ธุรกิจการบิน ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม การจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา ร้านอาหาร และสถานการศึกษาในรูปแบบดั่งเดิม  ที่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่ลูกค้า จะต้องมาพบกับผู้ให้บริการ และอยู่ในที่เดียวกันในเวลาเดียวกันโดยมีผู้คนเป็นจำนวนมาก

สถานการณ์ปัจจุบันนั้น การระบาดของโรคทำให้ผู้คนต้องเว้นระยะความใกล้ชิด ทำให้ไม่สามารถรวมตัวผู้คนในที่เดียวกันได้เป็นจำนวนมากอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในสนามกีฬา โรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือเทศกาลงานต่าง ๆ เพราะอาจเป็นต้นเหตุแห่งโรคได้

ธุรกิจเหล่านี้ต้องรอให้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ออกมาก่อนเท่านั้นถึงจะดำเนินการต่อได้ แต่การคิดค้นวัคซีน ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปี และไม่ใช่ว่าหมดไวรัส โควิด -19 ไปแล้วจะไม่เกิดโรคระบาดประเภทอื่นอีก ดังนั้นขอให้มาพิจารณาในการปรับธุรกิจของท่านให้อยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสเติบโต หรือโอกาสรอดกันดีกว่า

กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสรอดในช่วงการระบาดของโควิด -19

การปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการให้บริการแบบช่วยตัวเอง (Self service station) อาทิ การไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เกต แล้วลูกค้าใช้เครื่องคิดเงินอัตโนมัติ หรือการสั่งอาหารในผ่านตู้สั่งสินค้า ซึ่งลักษณะของการให้บริการแบบช่วยตัวเอง เป็นลักษณะของการใช้บริการที่มีปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและลูกค้าน้อยลง หรือให้ลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์ จะทำให้ธุรกิจในรูปแบบค้าปลีก ร้านอาหาร รอดได้ 

ขณะเดียวกันธุรกิจท่องเที่ยวที่มีโอกาสรอด คือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติภายในประเทศ ที่จะให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ได้มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่

ขณะที่ธุรกิจบันเทิงนั้น มีทางรอดด้วยการให้บริการแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง เช่นเดียวกับการถ่ายทอดสดกีฬา ที่มาในรูปแบบของการแข่งขัน แบบไลฟ์สตรีมมิ่ง และสามารถพัฒนาให้ผู้ชมสัมผัสบรรยากาศโดยไม่ต้องไปที่สนาม ด้วยการรับชมในระบบ VR (Virtual Reality)

นอกจากนี้ การให้คำปรึกษาแบบออนไลน์ ทั้งนักกฎหมาย นักจิตวิทยา หรือแม้กระทั่งปรึกษาแพทย์ในรูปแบบเดียวกัน จะทำให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกังวลกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มากนัก 

กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต

ในบทวิเคราะห์ระบุว่าธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต และน่าจะรองรับธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิมได้ คือ การศึกษาออนไลน์ การท่องเที่ยวเสมือนจริง (VR Tourism) การรับชมกีฬาสดแบบเสมือนจริง (Live Sport on VR) การรับชมความบันเทิงในแบบสตรีมมิ่ง และชอปปิงออนไลน์ ที่มาพร้อมกับธุรกิจการจัดส่งสินค้าที่เติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตนั้น อยู่ในช่วงจังหวะพอดีกับที่เมืองไทยใกล้จะมีการใช้ระบบ 5G และการมาถึงของ IOT  หรือ Internet of Things ที่จะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการอยู่รอดการปรับธุรกิจเดิมของตนเอง อย่างร้านอาหาร โรงแรม การถ่ายทอดสดกีฬา ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ยังสามารถปรับตัวได้ทัน เพื่อให้คุณอยู่รอดได้แบบยั่งยื

เพราะ IOT จะมาพร้อมกับระบบการจัดการที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างชาญฉลาด ทำให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการลูกค้า ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว และใช้แรงงานคนน้อยลง ดังนั้น คนทำงานรุ่นใหม่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ 

บทวิเคราะห์นี้น่าจะทำให้คุณผู้อ่านได้มองเห็นภาพในอนาคตมากขึ้ หากคุณเป็นลูกจ้างประจำ การพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้ทำงานตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญมาก และนี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเรียนรู้ที่ปัจจุบันมีให้เรียนมากมายในรูปแบบออนไลน์

ส่วนเจ้าของกิจการ การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคตสำคัญมาก เพราะถ้ามัวแต่นั่งมองอดีต และฟูมฟายอยู่กับปัจจุบัโดยไม่ลงมือทำอะไรเลย โอกาสที่จะได้เห็นการเดินหน้าต่อในอนาคตก็แทบจะเป็นศูนย์ และไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือลูกจ้าง จงท่องให้ขึ้นใจว่า “ไม่มีใครจะช่วยเราได้ดีที่สุดเท่ากับเราช่วยตัวเราเอง

เรียบเรียงจาก newsroom.co.nz