ติดมือถือระบาด ถึงวันที่ผู้ใหญ่มีความต้องการให้ลูกหย่ามือถือ

ชีวิตที่ผูกติดกับโลกออนไลน์เป็นส่วนมากทำให้วิถีชีวิตของผู้คนต่างเปลี่ยนไป จริงอยู่ที่เทคโนโลยีและความทันสมัยนั้นมีประโยชน์อยู่หลายประการและเหลือล้น แต่ในทางกลับกันมันก็สะท้อนผลเสียกลับมาอยู่มากมายไม่ต่างกัน โดยเฉพาะกับโทรศัพท์มือถือหรือที่ตอนนี้เรียกติดปากกันว่าสมาร์ทโฟน

และยิ่งกับเด็ก ๆ และเยาวชนที่เกิดและโตในยุคสมัยนี้ สามารถเรียกได้เลยว่าสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดายคล้ายเกิดมาคู่กัน เด็ก ๆ เหล่านี้ต่างเติบโตขึ้นมากับการคลุกคลีกับมือถือตั้งแต่แรก ด้วยความไม่ประสีประสาและไม่เท่าทันเด็กจึงอาจเข้าใจว่าโทรศัพท์มือถือคือของเล่น ยิ่งผู้ปกครองในทุกวันนี้ที่นิยม ใช้โทรศัพท์เลี้ยงลูกแทน เพราะเล็งเห็นว่าง่ายไม่เปลืองแรง เด็กก็จดจ่ออยู่กับโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต ส่วนตัวพ่อแม่เองก็จะได้มีเวลาทำอย่างอื่น พูดง่าย ๆ คือ ใช้โทรศัพท์ล่อไม่ให้เด็กก่อกวนนั่นเอง

ส่งผลให้ความคุ้นเคยกับการคลุกคลีอยู่กับโทรศัพท์มือถือบ่อยครั้ง ทำให้เกิดอาการเสพติดขึ้น เด็กจะขาดประสบการณ์วัยเด็กที่ควรจะได้รับสำหรับพัฒนาการที่เหมาะสม เพราะทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่างที่วัยเด็กพึงทำน้อยลง ซึ่งผลเสียจากการหมกมุ่นอยู่กับการใช้มือถือและแท็บเล็ตของเด็กมีดังนี้

  • ขาดพัฒนาการตามวัย : เด็ก ๆ ในวัย 1-5 ขวบเป็นวัยที่ต้องมีพัฒนาการทางการเติบโตเยอะ การขยับร่างกายอย่างการออกไปวิ่งเล่น มีประสบการณ์นอกบ้าน ซึ่งถ้าเอาแต่นั่งจ้องโทรศัพท์ก็ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายได้ เช่น ป่วยบ่อย ร่างกายไม่แข็งแรง
  • ส่งผลด้านอารมณ์ : เมื่อเกิดอาการติดมือถือก็อาจทำให้กลายเป็นคนที่มีอารมณ์ร้อนโมโหง่าย ไม่อดทน รอคอยไม่เป็น ถึงเวลาเมื่อเราไม่อยากให้เขาใช้ก็สายเกินไปเพราะจะเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งสุดท้ายการจะทำให้เขาสงบได้ก็ด้วยการยื่นมือถือ กลายเป็นวงเวียนที่ถอยออกไม่ได้
  • ขาดการเข้าสังคม : การเข้าสังคมพื้นฐานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่เด็กที่ติดการใช้มือถืออาจขาดการพัฒนาตรงส่วนนี้ไปเนื่องจากเลือกที่จะจมอยู่กับมือถือและแท็บเล็ตมากกว่าการสุงสิงหรือเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ

หย่ามือถือ

ด้วยอาการติดมือถือที่แพร่หลายในสังคมยุคนี้ทั้งกับเด็กและวัยรุ่นรวมไปจนถึงผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนก็ยังไม่คำนึงถึงการจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือที่มากจนเกินไป

มีตัวอย่างของการจัดแคมป์เพื่อเลิกอาการติดมือถือสำหรับวัยรุ่นในประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากประชากรวัยรุ่นในประเทศกว่า 98% มีสมาร์ทโฟนในครอบครอง และมีเยาวชนระหว่าง 30% จากจำนวนประชากร 10-19 ปี มีอาการเสพติดมือถือและส่วนที่เหลือก็มีแนวโน้มที่จะติด

โดยแคมป์หย่ามือถือสำหรับเยาวชนจากการสนับสนุนของรัฐบาลเกาหลีใต้มีมาตั้งแต่ปี 2550 แล้วและถูกยกระดับขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา และในปีนี้แคมป์ช่วยเหลือการหย่ามือถือสำหรับเยาวชนเปิดขึ้นทั้งสิ้น 16 แคมป์ทั่วประเทศและสามารถช่วยเหลือเยาวชนในระดับมัธยมที่มีอาการติดมือถือไปแล้วกว่า 400 คน ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เข้าร่วมแคมป์ล้วนฟรีนอกจากค่าอาหารเท่านั้น กับกิจกรรมส่วนใหญ่ที่เป็นเกม งานศิลปะ เล่นกีฬา พูดคุยกับจิตแพทย์

ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เข่าร่วมโครงการจะเกิดความเครียดในช่วง 3 วันแรกเนื่องจากขาดการใช้มือถือแต่หลังจากนั้นก็ดีขึ้น เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการรายหนึ่งกล่าวว่าเธอติดมือถือเพราะความเครียด เมื่อเครียดก็หันหน้าหามือถือเพื่อคลายเครียด และทุกครั้งที่หยุดเล่นความเครียดก็จะกลับมา

กระทรวงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้มีความเห็นว่า ปัญหาเหล่านี้ต้องเริ่มรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากอาการนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อตัวบุคคลเท่านั้นแต่ยังกระทบต่อเรื่องของทรัพยากรบุคคลของประเทศอีกด้วย ซึ่งมองเป็นการสูญเสียที่ซับซ้อน

ด้วยคำว่าเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยความสามารถครอบคลุม หากเราใช้ด้วยความพอดิบพอดีอย่างเหมาะสมไม่หมกมุ่นจนเกินไป หรือมองหาประโยชน์ที่จะได้อย่างมากมายจากมันพร้อมกับการทำกิจกรรมอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย มากกว่าการหมกมุ่นและไม่แยกแยะยอมให้เทคโนโลยีควมคุมบงการชีวิตประจำวันที่จะส่งผลเสียได้อย่างมากมายไม่ใช่เพียงแต่ตัวคุณเท่านั้นแต่ส่งผลด้านลบอีกหลายอย่างต่อสังคมส่วนรวมอีกด้วย

ที่มา : https://edition.cnn.com/2019/10/20/asia/smartphone-addiction-camp-intl-hnk-scli/index.html