โมโตจีพี เมืองไทย จัดไปเพื่อ?


โมโตจีพี เมืองไทย จัดไปเพื่อ?

สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นร้อนในวงการกีฬาไทย นอกจากจะลุ้นกันว่า “โค้ชซิโก้” จะได้อยู่ต่อหรือไม่แล้ว อีกหนึ่งข่าวที่น่าสนใจสำหรับคนในแวดวงมอเตอร์สปอร์ต ก็คือข่าวที่มีเสียงคัดค้านจากสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ ในการที่ไทยเตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือที่เรียกกันว่า “โมโตจีพี”

ไหนๆก็มีฝั่งคัดค้านแล้ว ผมเองในฐานะคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงนี้สมัยตั้งแต่เป็นนักข่าวภาคสนาม ขออนุญาตงัดเอา “5 เหตุผล” ที่ไทยเราควรที่จะเป็นเจ้าภาพโมโตจีพีมาคุยกันสักหน่อย

1.นักบิดไทยต้องไประดับโลก
การแข่งขันในระดับโมโตจีพี ถือเป็นขั้นสุดของวงการจักรยานยนต์ทางเรียบบนโลกใบนี้ จะมีการแข่งขัน 3 รุ่น เริ่มจาก โมโตทรี 250 ซีซี ,โมโตทู 600 ซีซี และโมโตจีพี 1,000 ซีซี ที่ผ่านมา เราเคยมี รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ และ ฐิติพงษ์ วโรกร เข้าแข่งขันระดับโมโตทูแบบเต็มฤดูกาล และปัจจุบันเรากำลังจะมี นครินทร์ อธิรัฐภูวภัทร เข้าแข่งโมโตทรี แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับนักบิดเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ถือว่านักบิดไทยอยู่ในเวทีโลกน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมาเลเซีย คิดเร็วทำเร็ว เป็นเจ้าภาพโมโตจีพีมาตั้งแต่ปี 1991 สมัยที่ยังไม่สร้างสนามเซปังด้วยซ้ำไป

2.ประชาสัมพันธ์ประเทศไทย
ประเด็นหลักที่มีการคัดค้านคืองบประมาณมหาศาล รวมถึงที่มาของงบประมาณ ซึ่งตามรายงานบอกเฉพาะค่าลิขสิทธิ์ตกปีละ 300 ล้านบาท แน่นอนล่ะครับ อีเวนท์ระดับโลกแบบนี้ต้องใช้เงิน ที่ต้องระวังคือการคอรัปชั่น แต่หากจัดได้จริงๆ อยากให้มองอีกมุมหนึ่งว่า การได้ต้อนรับแฟนความเร็วและทีมแข่งจากทั่วโลก การที่ภาพของประเทศไทยได้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก ต่อยอดให้คนรู้จักเมืองไทย มันคืองบประมาณในการประชาสัมพันธ์ประเทศไปในตัว

3.ได้เห็น “รอสซี่” ตัวจริงก่อนเลิกขี่
หากมีคำพูดที่ว่า See Angkor Wat and Die. สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ผมเองในฐานะคนบ้ามอเตอร์สเปอร์ตก็ อยากจะบอกเช่นกันว่า See Rossi and Die. เพราะหากพูดถึงยอดนักบิดระดับโลก “เดอะ ด็อกเตอร์” วาเลนติโน่ รอสซี่ คือนักบิดระดับสุดยอดตำนานวัย 37 ปี ที่ยังแข่งขันอยู่ และกำลังจะหมดสัญญากับทีมยามาฮ่าหลังปีจบปี 2018 ซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ รอสซี่ มาบิดโมโตจีพีในเมืองไทย

4.มีสนามแข่งมาตรฐานโลกรองรับ
แม้จะมีกระแสข่าวว่ากำลังจะมีสนามแข่งในระดับมาตรฐานเอ็มไอเอ็มเกรดเอ ผุดขึ้นในแถบจังหวัดชลบุรี แต่หากจะเอาแบบสำเร็จรูปใส่น้ำร้อนแล้วทานได้เลย ก็คงหนีไม่พ้นสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีใบผ่านงานในการจัด เวิลด์ซูเปอร์ไบค์ มาแล้วถึง 2 ครั้ง ที่สำคัญทำยอดผู้ชมทะลุ 1 แสนคนชนิดที่หลายๆสนามเวิลด์ซูเปอร์ไบค์ในยุโรปยังอาย

5.โมโตจีพี เร้าใจกว่า เอฟวัน เยอะ!
บอกได้เลยว่า ความเร้าใจในการชมโมโตจีพี ในทุกๆรุ่น แฟนๆไม่มีโอกาสคาดเดาได้เลยว่าใครจะชนะ ในแต่ละเรซจะมีการแซงกันไปแซงกันมาแบบโค้งต่อโค้ง ผิดกับฝั่งเอฟวันที่มีการวัดเรตติ้งกันมาแล้วในปี 2016 ว่ายอดคนดูลดฮวบ ส่วนหนึ่งมากจากการแข่งขันที่น่าเบื่อของทีมแข่งหัวแถว แต่หากเป็นในระดับโมโตจีพี บางทีผ่านโค้งสุดท้าย ยังดูไม่ออกเลยว่าใครจะเข้าวิน จนกว่าจะถึงเส้นชัย

ร่ายยาวมาขนาดนี้ เชื่อว่าคนที่คัดค้านก็คงจะค้านต่อไป แต่อย่างน้อย ผมก็มีเหตุผลถึง 5 ข้อ ที่จะออกมาตอบกลุ่มคนที่ถามว่า “โมโตจีพี เมืองไทย จัดไปเพื่อ?” ก็เพื่อประการฉะนี้หล่ะครับ