ความทรงจำไม่ดีนั้น “ลบ”ยาก

“คุณเชื่อไหมสังคมไทยนี่เล็กมากจนน่ากลัวนะ แค่สามต่อก็รู้แล้วว่าใครเป็นใคร เคยก่อเรื่องอะไรไว้บ้าง ดังนั้นอย่าได้เที่ยวไปมีเรื่องกับใครเชียว” คำพูดเตือนสติที่ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อนแต่ผู้เขียนยังจำได้ขึ้นใจ เพราะคำพูดดังกล่าวนั้นพิสูจน์ให้เห็นจริงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องราวที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้วในยุคที่โซเชียลมีเดียยังไม่มีให้เห็นเช่นทุกวันนี้ เหตุการณ์เกิดขึ้นที่บริษัทเอเยนซี่ดัง นักศึกษาจบใหม่เดินเข้ามาสมัครงานด้วยความมั่นใจพร้อมกับ Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) การสัมภาษณ์ผ่านไปด้วยดี และดูเหมือนว่า นักศึกษาจบใหม่คนนั้นน่าจะได้งานถ้าไม่มีกรรมการบางคนเห็นอะไรบางอย่างใน Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงานเล่มนั้น

แฟ้มสะสมผลงานนั้น มีงานที่กรรมการที่สัมภาษณ์คนหนึ่งจำได้ว่าเป็นงานชิ้นเดียวกับที่เพื่อนในรุ่นของเธอเคยทำเอาไว้ เมื่อสอบถามกลับไปที่เพื่อนก็ได้รับคำยืนยันว่าใช่ โดยผลงานนั้นถูกเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้มันได้กลายเป็นงานของนักศึกษาจบใหม่คนนี้ไปแล้ว นั่นก็หมายความว่า ผลงานใน Portfolio นั้นไม่ใช่ผลงานของเธอ และแน่นอนว่าใบสมัครของนักศึกษาคนนั้นถูกคัดทิ้งทันที… (โลกแคบไหมละคะ!)

นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โลกยังไม่รู้จักเฟสบุ๊ค แน่นอนว่านักศึกษาที่ก่อเรื่องคนนั้นรอดจากโลกโซเชียลไปได้ และน่าจะมีโอกาสไปหางานทำที่เอเยนซี่อื่น  แต่ถ้าเป็นยุคนี้ก็จะยากหน่อย เพราะฝ่ายบุคคลยุคนี้จะเริ่มต้นการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครด้วยการ ดูสิ่งที่คุณโพสต์ในโซเชียล มีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฟสบุ๊ค…. อย่าบอกว่าโซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่ส่วนตัว เพราะไม่มีพื้นที่ส่วนตัวบนโลกสมมติ

เมื่อฝ่ายบุคคลตรวจสอบโลกโซเชียลของคุณเรียบร้อย ถ้าคุณไม่ได้โพสต์ทัศนคติอะไรที่ล่อแหลม คุณก็น่าจะได้ไปต่อกับการสัมภาษณ์ บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระหว่างเด็กอายุ 22 ปีที่เพิ่งเรียนจบ กับหัวหน้างานที่ผ่านการทำงานมาแล้ว มีประสบการณ์ในการทำงานมาพอสมควร เขามองออกว่าคุณจะทำงานได้ขนาดไหน และสามารถเช็คทวนประวัติคุณไปที่สถาบันการศึกษา หรือ สถานที่ฝึกงานที่คุณระบุว่าได้ฝึกงานมาก่อน หรือ บริษัทเก่าที่คุณอ้างอิงว่าเคยทำงานมาก่อนได้ด้วยเช่นกัน

มีคนในแวดวงคนหนึ่งที่เคยรู้จักแบบเดินผ่านกัน ชื่อเสียงในการทำงานของเขานั้นไม่ค่อยดีนัก และเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเขาเองต้องเข้าสู่จุดอับ เหตเกิดขึ้นเมื่อเขาลาออก ด้วยการทิ้งบอมบ์ให้กับเจ้านายตัวเอง ตอนที่ทำนั้นเขาไม่คิดว่าจะส่งผลต่ออนาคตของตนเอง  แต่เขาคิดผิดเพราะอนาคตคือความไม่แน่นอน

ช่วงเวลาหนึ่งเขามีโอกาสที่จะได้มาร่วมงานกับทีมงานที่กำลังถูกเซตอัพใหม่ ปรากฎว่า มีโทรศัพท์สายตรงสั่งให้ปลดเขาออกจากทีมทันที เรื่องนี้เจ้านายเก่าของเขาจะไม่ได้ข้องเกี่ยว แต่การตรวจสอบทวนกลับไปที่เจ้านายเก่าของเขา ทำให้ผู้ใหญ่ที่รับทราบเรื่องไม่สบายใจและไม่ต้องการให้เขามาร่วมงาน

Always forgive but never forget (จงให้อภัยแต่อย่าลืมสิ่งที่เขาเคยก่อปัญหาเอาไว้) เตือนตัวเองเอาไว้เสมอค่ะว่าสิ่งที่เราทำวันนี้ จะส่งผลต่ออนาคตอย่างไร เพราะช่วงชีวิตคนเราแม้จะยาวนานกว่า 60 ปีแต่ถ้าคุณสร้างความทรงจำไม่ดีไว้กับใคร มันก็ยากที่จะลืมเลือน

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ