Ai Weiwei วิจารณ์การเมืองอย่างกล้าหาญผ่านงานศิลปะ

พอเห็นประเด็นถกเถียงและขัดแย้งทางการเมืองทีไรก็ชอบนึกถึงศิลปะ เพราะเป็นอีกการแสดงออกหนึ่งที่สามารถสื่อสารกับคนได้ทั่วโลก ภายใต้งานศิลปะที่ถือว่าเป็นภาษาสากล

Ai Weiwei (อ้าย เหว่ยเหว่ย) เป็นศิลปินชาวจีนคนหนึ่งที่วิจารณ์รัฐบาลจีนอย่างเจ็บแสบผ่านงานศิลปะแบบ Conceptual Art เขาเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาเกี่ยวกับการสร้างสนามกีฬา Beijing National Stadium 2008 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “สนามรังนก” ที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกในปักกิ่งปี 2008 และเขายังเดินทางไปทั่วโลกเพื่อจัดแสดงผลงานที่เกี่ยวกับการเมือง สิทธิมนุษยชน ที่ไม่เพียงแต่เล่นเนื้อหาภายในประเทศ แต่จับประเด็นต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรมทั่วโลก

Ai ได้รับอิทธิพลด้านศิลปะสมัยใหม่และการทำ Conceptual Art และเทคนิค Readymade มาจากดูชองป์และแอนดี้ วอร์ฮอล เมื่อตอนที่ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เลยไม่แปลกใจเลยถ้าผลงานของเขาจะออกมาแบบแสบ ๆ คัน ๆ ขนาดนี้

ผลงานหนึ่งที่เราสนใจก็คือ Sunflower Seeds งาน Conceptual Art ที่ใช้เมล็ดทานตะวันกว่า 100 ล้านเมล็ดมาโรยบนพื้นที่กว่า 1000 ตารางเมตร และมีความหนาถึง 10 เซนติเมตร ที่ผู้ชมสามารถเดินบนเมล็ดทานตะวันเพื่อสัมผัสงานศิลปะอย่างใกล้ชิด โดยได้แนวคิดมาจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคของเหมาเจ๋อตุง ผู้คนพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงและความยากจน และเมล็ดทานตะวันเป็นของกินยอดฮิตในตอนนั้นที่แสดงถึงการแบ่งปัน

Ai แทนเมล็ดทานตะวันเป็นชาวจีน และมีเหมาเจ๋อตุงเป็นเหมือนแสงอาทิตย์ที่จะนำพาเรื่องดี ๆ เข้ามา (ซึ่งเหมือนเป็นโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่งในยุคนั้น) และเป็นการวิจารณ์ถึงประเทศจีนที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าให้กับประเทศตะวันตก

นิทรรศการเริ่มจัดแสดงที่หอศิลป์ Tate Modern ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ครั้งแรกในปี 2010 และถูกนำไปจัดแสดงในที่ต่าง ๆ รอบโลกถึง 12 ครั้ง


ไม่ได้มุ่งแต่จะแซะประวัติศาสตร์เท่านั้น เพราะประเด็นใกล้ตัวที่เราเคยได้ยินข่าวกันก็มี อย่างข่าวการพบสารปนเปื้อนเมลามีนในนมผงที่ผลิตในจีน เขาก็ไม่พลาดที่จะนำมาสร้างเป็นงานศิลปะ โดยการนำกระป๋องนมยี่ห้อต่าง ๆ มาเรียงเป็นรูปแผนที่ประเทศจีน เพื่อเป็นการตอกย้ำว่านี่เป็นเรื่องที่จะสะเทือนไปทั้งประเทศแถมมีผลกระทบไปทั่วโลก ผลงานนี้จัดแสดงที่ประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ในปี 2013


นอกจากเรื่องการเมืองในประเทศแล้ว เรื่องสิทธิมนุษย์ชนก็เป็นอีกประเด็นที่จุดประกายให้ Ai ได้มาก มีหลายผลงานที่มุ่งประเด็นไปที่เหตุการณ์ลี้ภัยเนื่องจากถูกบังคับให้ต้องย้ายถิ่นฐานของคนหลายล้านคน

Law of the Journey (2017) ผลงานแพยางอัดลมที่มีขนาดถึง 60 ฟุต แสดงถึงความแออัดยัดเยียดและการเดินทางที่อันตรายของผู้คนที่อพยพมาทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ถูกจัดแสดงที่ 21st Biennale of Sydney ในปี 2018

การแสดงออกทางการเมืองแบบเจ็บแสบ แถมสั่นสะเทือนวงการศิลปะไปทั่วโลกก็ยิ่งทำให้ Ai เป็นที่เพ่งเล็งของรัฐบาลจีนเป็นพิเศษ อย่างในปี 2018 ที่สตูดิโอของ Ai ในปักกิ่งถูกรัฐบาลเข้ามารื้อถอนตามนโยบายปรับปรุงพื้นที่และในละแวกนั้นซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวก็โดนรื้อถอนเช่นเดียวกัน เป็นนโยบายเพื่อกำจัดแรงงานต่างด้าวให้ออกจากปักกิ่ง นั่นแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน (แถมได้เล่นงาน Ai ไปในตัว)  นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ Ai ถูกเล่นงานผ่านการรื้อสตูดิโอ เพราะเมื่อปี 2011 สตูดิโอของเขาในเซี่ยงไฮ้ก็ถูกทำลายโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าเช่นกัน ยังไม่รวมเหตุการณ์ที่เขาถูกตั้งข้อหาและถูกจับไปคุมขังอยู่ในคุกอีกด้วย

ปัจจุบันเขาก็ยังคงทำงานศิลปะและใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน

.

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Ai_Weiwei#Beijing_National_Stadium
https://en.wikipedia.org/wiki/Sunflower_Seeds_(artwork)#cite_note-tate.org.uk-2
https://voicetv.co.th/read/rJp7AKrSX