“จอร์เจีย” สนุกจัง (ตอนแรก)

หลังยุคสงครามเย็นในปี ค.ศ. 1991 พลันเมื่อ “กำแพงเบอร์ลิน” ได้ถูกทุบทำลาย “สหภาพโซเวียต” ก็แตกออกเป็นประเทศต่างๆ ที่แยกตัวออกจาก “รัสเซีย” ไม่ว่าจะเป็น “อาเซอร์ไบจาน” “อาร์เมเนีย” “เอสโตเนีย” “ลัตเวีย” “ลิทัวเนีย” “มอลโดวา” “คาซัคสถาน” “คีร์กีซสถาน” “ทาจิกิสถาน” “เติร์กเมนิสถาน” “อุซเบกิสถาน” และ “ยูเครน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จอร์เจีย”

“จอร์เจีย” ตั้งอยู่ทางตะวันออกของ “ทะเลดำ” ทางเหนือติดกับ “รัสเซีย” ทางใต้จรด “ตุรกี” “อาร์เมเนีย” และทิศตะวันออกประชิด “อาเซอร์ไบจาน”

“จอร์เจีย” แบ่งเขตปกครองออกเป็น 12 จังหวัด ประกอบด้วย “อับฮาเซีย” “ซาเมเกรลอ-เซมอสวาเนตี” “กูเรีย” “อัดจารา” ราชา-เลชคูมี และคเวมอสวาเนตี” “อีเมเรตี” “ซัมซเค-จาวาเคตี” “ชีดาคาร์ตลี” “มซเคตา-มเตียเนตี” “คเวมอคาร์ตลี” “คาเคตี” และ “ทบิลิซี”

“จอร์เจีย” มีรากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากว่า 2,500 ปี และ “ภาษาจอร์เจีย” ก็คือหนึ่งในภาษาเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังมีการใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน

เมืองหลวงอายุเก่าแก่กว่า 1,500 ปี ของ “จอร์เจีย” คือ “ทบิลิซี” เป็นเมืองที่มี่ชัยภูมิดีมาก เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา โดยมี “แม่น้ำมิทควารี” ผ่ากลางและไหลออกสู่ทะเลดำ

ในอดีต ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 11 พื้นที่ส่วนใหญ่ของ “จอร์เจีย” เคยถูกเข้าครอบครองโดยชนเผ่าเปอร์เซีย ตามาด้วยเติร์ก อาหรับ และมองโกล จากนั้นในศตวรรษที่ 12 “จอร์เจีย” ได้ผนวกเข้ากับ “รัสเซีย” จนกระทั่งถึงวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1991 “จอร์เจีย” จึงได้ประกาศเอกราชจาก “สหภาพโซเวียต” ดังได้กล่าวไปข้างต้น

ที่ผ่านมา “จอร์เจีย” ประสบปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ โดยเฉพาะ “อับฮาเซีย” และ “เซาท์ออสซีเชีย” ต้องการแยกดินแดน แม้ในปัจจุบัน การเจรจาระหว่าง “จอร์เจีย” กับ “เซาท์ออสซีเชีย” จะมีความคืบหน้าด้วยดี ทว่า การเจรจาระหว่าง “จอร์เจีย” กับ “อับฮาเซีย” ยังข้อสรุปไม่ได้

ในด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบัน “จอร์เจีย” มีแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าตอนประกาศเอกราชใหม่ๆ โดยในระยะหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งมีนโยบายที่เด่นชัดในการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเครื่องมือสำคัญ ได้แก่ การบริหารการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การปฏิรูปภาษีที่ลดอัตราภาษีลงเพื่อจูงใจให้ประชาชนไม่หลบเลี่ยงภาษี เพราะที่ผ่านมา มีธุรกิจที่ดำเนินไปโดยไม่ได้จดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์มากถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ “จอร์เจีย” ยังสนับสนุนมาตรการส่งเสริมภาคเอกชนเพิ่มการลงทุน และพัฒนาบรรยากาศการเข้ามาตั้งบริษัทของบรรดานักลงทุนต่างชาติ

เมื่อผนวกกับการที่ “จอร์เจีย” ประสบความสำเร็จในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และในระยะหลังยังมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในโครงการท่อขนส่งน้ำมัน Baku-Tbilisi-Ceyhan ซึ่งจะทำให้ “จอร์เจีย” เป็นเส้นทางผ่านสำคัญสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรป ผสานเส้นทาง One Belt One Road ของ “จีน” โดยมี “รัสเซีย” หนุนหลังในทางตรง อีกทั้งนโยบาย Indo-Pacific ของ “ญี่ปุ่น” ก็มีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจ “จอร์เจีย” ในทางอ้อม

อย่างไรก็ตาม “จอร์เจีย” ยังประสบปัญหา GDP และอัตราความยากจน อัตราการไม่รู้หนังสือ และสภาพชุมชนเมืองที่มีความเป็นอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจนอกระบบ หรือใต้ดินจำนวนมาก ทั้งธุรกิจผิดกฎหมาย ตลาดมืด และการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่ยังคงเป็นปัญหาหลักสำคัญของ “จอร์เจีย” ทุกวันนี้

ประชาชนของ “จอร์เจีย” นับถือศาสนาคริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ซึ่งมีอยู่ราว 75% และมีผู้นับถือศาสนาอิสลาม อีกประมาณ 10% นอกนั้นเป็นศาสนาอื่นๆ ปะปนกันไปอยู่ที่ 14%

จากความที่ “จอร์เจีย” เคยเป็นประเทศในสหภาพโซเวียต ดังนั้น กีฬาซึ่งเป็นที่นิยมใน “จอร์เจีย” ก็เห็นจะหนีไม่พ้นฟุตบอล นอกจากนี้ ประชาชน “จอร์เจีย” ยังนิยมเล่นบาสเกตบอล รักบี้ มวยปล้ำ ยูโด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกีฬา “ยกน้ำหนัก” ซึ่งคว้าเหรียญโอลิมปิกมาแทบจะทุกครั้งเลยทีเดียว

ในตอนหน้า เราจะมาเจาะไฮไลท์สถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกของ “จอร์เจีย” กันครับ