รีไซเคิลทุกอย่างที่ทำได้ ‘คามิคัทสึ’ เมืองต้นแบบไร้ขยะจากประเทศญี่ปุ่น

ถึงแม้สถานการณ์มลพิษจากขยะและความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อมมีท่าทีเลวร้ายลงไปมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากมองโลกเป็นคนคนหนึ่ง เราคงจะได้เห็นภาพของชายในวัยกลางคนที่กำลังเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ ถูกรุมเร้าจากโรคภายในร่างกาย โดยเปรียบมนุษย์เป็นแบคทีเรียที่คอยสร้างสิ่งแปลกปลอมและทำลายภูมิคุ้มกันและสุขภาพของร่างกาย

แต่ในภาวะเหล่านี้ผู้คนไม่น้อยทั่วโลกต่างมีความคิดที่จะเยียวยาอาการป่วยของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทั้งตัวบุคคลรวมไปถึงนานาประเทศ หลายเมืองต่างมีมาตรการลดขยะให้มากที่สุดโดยหันหลังให้ พลาสติก และพึ่งพาธรรมชาติมากขึ้น

คามิคัทสึ คือหนึ่งในนั้นและสามารถเรียกได้ว่าเป็นผู้นำเทรนด์ในฐานะเมืองต้นแบบไร้ขยะอันดับต้น ๆ ของโลกที่น่าจับตามองมากที่สุด ซึ่งตั้งเป้าอย่างแน่วแน่ไว้แล้วว่า จะไม่ทิ้งอะไรให้เป็นขยะ (Zero Waste) ให้ได้ภายในปี 2020 เมืองเล็ก ๆ ที่สงบมีป่าเขาและไร่ชาในประเทศญี่ปุ่นที่คนไทยอาจไม่คุ้นชื่อ ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 1,500 คน ซึ่งแต่ก่อนนั้น เมืองคามิคัทสึ ก็ประสบกับปัญหาขยะกลาดเกลื่อนเหมือนทุกเมืองทั่วโลก ประชากรในเมืองต่างกำจัดขยะด้วยวิธีการเผาและฝังกลบ ซึ่งก่อปัญหาควันพิษและขยะตกค้างตามมา

แต่ได้ริเริ่มโครงการคัดแยกขยะขึ้นเมื่อปี 2003 ที่สามารถจำแนกและคัดแยกขยะได้ละเอียดมากถึง 45 ประเภท (ละเอียดมาก!) โดยหน้าที่ของชาวเมืองโดยหลักคือทุกคนทุกครัวเรือนแยกขยะจากบ้านของตนส่วนหนึ่ง และนำไปยัง สถานีคัดแยกขยะ ต่อ ซึ่งมีหมวดหมู่แยกย่อยมากมาย เช่น กระดาษลัง กระดาษใบปลิว ในหมวดของกระป๋องก็สามารถแยกได้อีก เช่น กระป๋องอลูมิเนียม กระป๋องเหล็ก กระป๋องสเปรย์ ยิบย่อยลงไปอีกตามประเภท และในส่วนของเศษอาหารต่าง ๆ ก็จะถูกนำไปรวบรวมหมักเป็นปุ๋ยต่อไป

การคัดแยกขยะในระดับที่ละเอียดขนาดนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเมืองถึง 3 ล้านเยนต่อปี ซึ่งรายได้ในส่วนนี้จะถูกนำมาสนับสนุนการพัฒนาการจัดการขยะของเมือง ทำให้ระบบการแยกขยะสามารถต่อยอดและดียิ่งขึ้นได้อีก ซึ่งทำให้ชาวเมืองเห็นข้อดีของการรีไซเคิลและคัดแยกขยะ โดยปัจจุบันเมืองนี้มีอัตราการแยกขยะสูงขึ้ง 81%

นอกจากในเรื่องขยะแล้ว ของเหลือใช้ก็มีความสำคัญอีกเช่นกัน โดยภายในเมืองจะมีร้านที่ชาวเมืองสามารถนำสิ่งของเครื่องใช้ไปฝากไว้ ซึ่งสามารถแลกกลับมาเป็นของชิ้นอื่น ๆ ก็ได้ และนอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตตุ๊กตาจากเสื้อผ้าหรือชุดกิโมโนที่ไม่ใช้แล้วอีกด้วย อีกทั้งภายในเมืองยังมีร้านเบียร์ที่สร้างขึ้นจากวัสดุรีไซเคิลอย่าง กระเบื้องที่ทิ้งแล้วจากโรงงาน นำขวดและเศษไม้ที่ไม่ใช้แล้วมาตกแต่งอาคาร เอาหนังสือพิมพ์เก่ามาแปะผนังและใช้สีจากธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่สามารถจูงใจผู้คนจากต่างเมืองให้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและลดการทิ้งขยะลงได้มาก

แม้ว่า คามิคัทสึ จะไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรมแต่ตื่นตัวเรื่องการจัดการขยะได้มากกว่าเมืองอื่น ๆ หลาย ๆ เมือง อีกทั้งชาวเมืองต้องปรับตัวมากในช่วงแรก และข้อดีคือการบริหารจัดการค่อนข้างง่ายเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก แต่หากทุกคนในชุมชนละแวกบ้านเราต่างชูจิตสำนึกไปในทิศทางเดียวกัน ความเป็นไปได้ในการลดขยะก็จะมีเพิ่มมากขึ้นได้อย่างง่าย