อย่าให้อุษาคเนย์เป็นถังขยะโลก!!

สุดสัปดาห์ที่ผ่านระหว่างที่ผู้เขียนกำลังขับรถเข้าไปทำธุระใจกลางเมืองท่ามกลางฝนที่ตกกระหน่ำ วิทยุในรถที่เปิดคลื่นข่าวต่างประเทศก็มีรายงานสั้นๆ ถึงเรือบรรทุกสินค้าจากแคนาดา ที่ไปจอดเทียบท่าเรือที่อินโดนีเซีย ขนเอาขยะหลายตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อเอามาทิ้งที่อินโดนีเซีย จำนวนขยะมหาศาลเหล่านั้น หมายรวมไปถึงขยะพลาสติก และ ผ้าอ้อมที่ใช้แล้ว

เมื่อได้ยินข่าวก็รู้สึกเจ็บลึกๆในใจนะคะ เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ ของฟิลิปปินส์ เอง ก็เพิ่งสั่งให้เรือขนสินค้าจากแคนาดา ขนขยะลักษณะเดียวกันกลับไปแคนาดา แถมทางการแคนาดาต้องจ่ายค่าขนส่งที่เกิดขึ้นระหว่างไป-กลับเองด้วย

และก่อนหน้านี้ในปี 2559 ไทยเองก็ส่งตู้คอนเทนเนอร์ ที่เต็มไปด้วยขยะอิเลคทรอนิค ที่มากับเรือขนสินค้าจากญี่ปุ่น ขณะเดียวกันมีรายงานในปี 2561 ว่าการใช้ขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในสหรัฐอเมริกานั้นถูก ส่งขึ้นเรือมายัง ไทย มาเลเซีย และ เวียดนาม เพื่อนำเอาพลาสติกเหล่านี้มากทำการรีไซเคิล และ ทำให้หลายครั้งที่มีการขนขยะเข้ามาทิ้งในดินแดนตะวันออกไกลที่คนในอเมริกาเหนือบางรายอาจนึกภาพไม่ออกว่าพวกเราอยู่กันอย่างไร

ที่บอกไว้ข้างต้นว่าเจ็บลึกๆในใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น มันเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่มักง่ายในประเทศตะวันตกที่มองเห็นว่า ดินแดนอุษาคเนย์ หรือ พื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเพียงพื้นที่ทิ้งขยะ ที่พวกเขาไม่ต้องการ และ เมื่อคิดต่อไปว่า ถ้าเขาเอาขยะขนขึ้นเรือมาทิ้งข้ามทวีปได้ เขาจะให้ค่าคนในดินแดนแถบนี้เท่ากับหรือน้อยกว่าขยะที่เขาขนมาทิ้ง

นอกเหนือจากขยะที่ถูกขนใส่เรือมาทิ้งในดินแดนแถบนี้ แล้ว ขยะทางความคิดที่คนทางฝั่งตะวันตกพยายามจะฝังสมองให้กับคนในดินแดนนี้ โดยตั้งมาตรฐานเองว่าอะไรคือความเจริญ และ ตัดสินให้กับคนในดินแดนนี้ว่า อะไรไม่ใช่ความเจริญ และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และ ค่านิยมที่กลายเป็นทุนนิยมจนมากเกินพอดี หลายคนอาจถกเถียงว่า ความเจริญก็นำมาซึ่งความสะดวกสบาย และ ทำให้เห็นประเทศพัฒนา ใครบ้างไม่ชอบ…ใช่ใครบ้างไม่ชอบ แต่ผู้เขียนขอถามกลับว่า ความเจริญที่ว่านั้นมันเกินพอดี และ มันเข้ากันกับประเทศของเราหรือไม่

เหตุการณ์ขนขยะขึ้นเรือมาทิ้งในดินแดนแถบนี้ มันทำให้ผู้เขียนอดเปรียบเทียบกับ เหตุวิกฤตทางการเงิน ปี 2540 วิกฤตที่ถูกเรียกชื่อว่า “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งเกิดจากการเข้ามาปั่นค่าเงินของนักลงทุนจากตะวันตก ในขณะเดียวกันนักธุรกิจในอาเซียน ณ เวลานั้น เองก็เหมือนแมงเม่า ที่กำลังบินเข้ากองไฟ เพราะมองเห็นแต่ประโยชน์ที่อยู่เบื้องหน้า

“วิกฤตต้มยำกุ้ง” จบไปนานกว่า สองทศวรรษแล้ว แต่คนผ่านยุคนั้นมาไม่เคยลืมชื่อของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศอย่างไอเอ็มเอฟ เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งนี้ที่เป็นวิกฤตขยะ อาจจจะห่างชั้นความสำคัญไปบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็ได้เห็นความจริงที่ว่า ชาติตะวันตก บางพวกไม่ได้สนใจว่าคนในดินแดนอุษาคเนย์ จะเป็นอย่างไร จะได้รับผลกระทบกับขยะที่เต็มไปด้วยสารพิษ หรือ ขยะที่ถูกส่งมานั้นจะใช้เวลาในการย่อยสลายนานแค่ไหน

การถูกระทำเช่นนี้ทำให้ชีวิตของคนในแถบนี้ก็ไม่ต่างกับถังขยะที่ชาติตะวันตกนึกจะเอาอะไรทิ้งลงมาก็ได้ สุดท้ายผู้คนในอุษาคเนย์ ก็ถูกเหยียบย่ำไม่ต่างจากปี 40 เช่นกัน

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ