การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติเห็นชอบบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศนั้น จะเกิดขึ้นภายในวันพุธที่ 5 มิถุนายน นี้ ในขณะที่พรรคการเมืองหลายพรรคมีจุดยืนชัดเจน ประชาชนสามารถเห็นได้ว่าใครยืนอยู่ข้างใครบ้าง และบางพรรคยังมีเสียงแตกจากภายในจุดยืนยังไม่ชัดเจนนัก
ในขณะที่มีการเปิดเผยขั้นตอนกระบวนการเลือกนายกฯรัฐมนตรีในสภาออกมาแล้ว ดังนี้
1. ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ ส.ส.โหวต ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ (ชื่อบุคคลนั้นต้องมาจากพรรคที่มี ส.ส. 25 คน หากมี ส.ส.เต็มสภา 500 คน)
2. การเสนอชื่อสู่การโหวต ต้องมีเสียง ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส.ที่มีอยู่ ( ส.ส.รับรอง 50 คน หากมี ส.ส.เต็มสภา 500 คน)
3. การออกเสียงลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทําเป็นการเปิดเผย เลขาธิการจะเรียกชื่อสมาชิกตามลําดับอักษร ลงคะแนนเป็นรายบุคคล โดยการกล่าวว่า เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรือ งดออกเสียง
4. มติเห็นชอบจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด ต้องได้รับ 376 เสียง หากสภาเต็ม 750 เสียง (ส.ส. และ ส.ว.) หากคะแนนเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง ก็จะทำการออกเสียงลงคะแนนชื่อคนต่อไป
5. หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ซึ่งบ่งบอกได้ว่า วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้จะเป็นวันที่ประชาชนทุกคนจับตาการออกเสียงของสมาชิกในที่ประชุมกันอย่างไม่ละสายตาแน่นอน อีกทั้งการเรียกชื่อสมาชิกเรียงตามตัวอักษรนี้จะทำให้เห็นได้ชัดว่ามี งูเห่า กี่ตัว ซึ่งเราจะได้เห็นหน้าตานายกฯพร้อมรัฐบาลที่มาด้วยความชอบธรรมอย่างแน่นอนในท้ายที่สุด
อนึ่ง บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 265 ระบุว่า ให้ คสช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้นแปลว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายคำสัตย์ปฏิญาณ คสช. จะหมดหน้าที่ลงทันที