สงครามโลกครั้งที่ 2 ในวิชาประวัติศาตร์ของญี่ปุ่น และ เยอรมนี

เวลาเห็นข่าว ผู้นำหรือนักการเมืองญี่ปุ่นไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิ ซึ่งเป็นที่เก็บป้ายชื่อดวงวิญญานของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง แล้ว ทางการจีน หรือ เกาหลี เป็นต้องออกมาประท้วงทุกครั้ง หรือ การใส่เสื้อผ้าที่มีเครื่องหมายสวัสดิกะ รวมไปถึงการทำท่าเคารพแบบทหารนาซี ในสงครามโลกครั้งที่สองถือเป็นเรื่อง อ่อนไหวอย่างยิ่งสำหรับคนเยอรมัน และ ชาวยิว คุณเคยนึกสงสัยไหมว่า ทำไมวิชาประวัติศาสตร์ที่เราเรียนในสมัยมัธยมนั้นไม่ได้บอกอะไรพวกเราเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลย 

แล้วให้นึกสงสัยต่อไปอีกไหมว่า คนเยอรมัน และ คนญี่ปุ่นเรียนประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกันแบบไหน เพราะทั้งสองชาติต่างก็มีรอยแผลฝากไว้ให้กับคนทั้งโลกไม่น้อย ยังไม่รวมรอยแผลที่ฝากไว้ให้กับคนรุ่นหลังของทั้งสองประเทศอีก ถ้าอย่างนั้นเรามาหาคำตอบกันจาก ฟอรั่มใน Reddit ที่ตั้งคำถามเอาไว้ว่าในเยอรมนี และ ญี่ปุ่นนั้นสอนเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองอย่างไร ซึ่งแต่ละคนได้เล่าถึงประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองที่พวกเขาได้เรียนรู้มาได้อย่างน่าสนใจ 

เยอรมนี : “เราได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างตรงไปตรงมา”

1. Yokelwombat 

ความคิดเห็นจากคนเยอรมัน ได้กล่าวถึงการเรียนประวัติศาตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในเยอรมนีเอาไว้ว่า “เราได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างตรงไปตรงมา” สิ่งที่ Yokelwombat เล่านั้นทำให้เห็นถึงการยอมรับความผิดพลาดในอดีต 

“ในการเรียนประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเราได้เรียนรู้ถึงการเข้าครอบครองยุโรป โดยพลังของกลุ่มทหารนาซี เราได้เรียนรู้ว่าทหารนาซีได้เข้าควบคุมและสร้างโศกนาฎกรรมอะไรไว้บ้าง การสู้รบในสมรภูมิที่สำคัญ ผู้ที่เกี่ยวข้อกับสงคราม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ คือใครและแน่นอนเรามีเรื่องราวของ “ฆ่าล้างเผ่าพันธ์” (Holocaust) ในหนังสือเรียนประวัติศาตร์ของเรา” 

นอกจากนี้ Yokelwombat ยังเล่าด้วยว่า หลายโรงเรียนในเยอรมนียังมีการทัศนศึกษา พานักเรียนไปยังค่ายกักกันชาวยิว อย่างตัวเขาเองเคยไป Aushcwitz มาแล้วและได้เรียนรู้ความโหดร้ายของสงครามในครั้งนั้น รวมไปถึงโศกนาฎกรรมที่เกิดกับชาวยิว ที่ถูกกระทำไปทั่วยุโรป

ทั้งนี้ Yokelwombat ยังสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าชาวอเมริกันไม่เคยลืมเหตุการณ์ 9/11 ก็เช่นเดียวกันกับที่คนเยอรมันส่วนใหญ่ไม่เคยลืมบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่สอง และ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” 

ญี่ปุ่น : “ครูที่สอนจะเน้นย้ำเรื่องสันติภาพมากกว่าลงลึกในรายละเอียดของประวัติศาสตร์ช่วงนี้” 

2. Onebrella

คนญี่ปุ่นที่เข้าร่วมเล่าประสบการณ์การเรียนประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองในโรงเรียนญี่ปุ่น โดยเล่าว่า “ตอนที่เรียนมัธยมต้นนั้น สิ่งที่เราได้ทราบรายละเอียดมากที่สุดจากสงครามโลกครั้งที่สอง คือเรื่องราวของการทิ้งระเบิดปรมาณู ที่ฮิโรชิมา และ นางาซากิ ส่วนอื่นของสงครามเราก็ทราบในเรื่องทั่วๆไปซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้คือการเรียนความสำคัญของสันติภาพที่เกิดขึ้นมากกว่า” 

“เมื่อขึ้นชั้นมัธยมปลาย การเรียนเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง จะเรียนในวิชาที่เรียกว่าประวัติศาสตร์โลก และครูที่สอนนั้นค่อนข้างไปทางชาตินิยม และ หัวโบราณ ทำให้สิ่งที่ได้เรียนเกี่ยวกับช่วงสงครามโลกครั้งทีสองนั้น เป็นเรื่องความยิ่งใหญ่ของกองทัพญี่ปุ่น แม้เราะแพ้สงครามแต่เราก็สามารถกลับมาสร้างชาติได้อีกครั้ง แน่นอนว่าเวลานั้น ทุกคนเชื่อว่าสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเช่นนั้น”

จนกระทั่ง Onebrella ได้มีโอกาสมาเรียนในต่างประเทศ พร้อมกับรับรู้ว่า สิ่งที่เคยเรียนมาในช่วงมัธยมนั้นเป็นคนละเรื่องกับที่คนทั้งโลกได้เรียนรู้ 

ญี่ปุ่น : “ทุกคนหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความเลวร้ายที่ทหารญี่ปุ่นได้สร้างไว้ รวมไปถึง โศกนาฎกรรมที่นานกิง” 

3.  tyatya

คนญี่ปุ่นอีกคนที่ได้เข้าร่วมบทสนทนาดังกล่าวพร้อมกับยืนยันว่า การสอนประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่นนั้น มักจะเป็นเรื่องทั่วๆไป และ มักจะข้ามเรื่องราวสำคัญหรือ เหตุทารุณกรรมอันเกิดจากทหารญี่ปุ่นในเวลานั้น เรื่องสงครามโลกครั้งที่สองที่ถูกสอนในญี่ปุ่น จะเน้นไปที่การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และ นางาซากิ 

ขณะเดียวกันการพูดถึงคนเกาหลี และ จีนในวิชาประวัติศาสตร์ช่วงนี้จะ เน้นไปที่เรื่องการใช้คนเกาหลี และ จีนเป็นแรงงาน และคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่รู้ดีว่า ทหารญี่ปุ่นได้ก่อเหตุทารุณกรรมอะไรไว้บ้าง แต่ทุกคนก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องนี้ (อาทิเรื่อง The rape of Nanking –  การข่มขืนที่นานกิง) เรื่องดังกล่าวจะไม่มีการสอนในห้องเรียน 

และในทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลาที่รำลึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานีโทรทัศน์ในญี่ปุ่นก็จะทำสารคดีเกี่ยวกับสันติภาพ และ บอกกับคนญี่ปุ่นทุกคนว่า พวกเราต่างไม่ต้องการสงคราม แต่ไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องไหน หยิบเอาเรื่องราวที่ทหารญี่ปุ่นเคยสร้างรอยแผลเอาไว้กับคนจีน และ คนเกาหลีในช่วงสงครามเลย 

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวที่คนทั้งสองชาตินั้นอยากจะลืม แต่ก็คงยากจะลืม เพราะนี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ หากแต่วิธีการของเยอรมนี และ ญี่ปุ่น ในการพูดถึงประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวนั้น ไม่เหมือนกัน ฝั่งหนึ่งยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสอนประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดความเข้าใจและไม่ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำผิดซ้ำไปอีก ส่วนอีกฝั่งสอนประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยการไม่พูดถึง รอยแผลหากแต่เน้นย้ำให้คนรุ่นหลัง คิดถึงสันติภาพ 

แล้วในเมืองไทยละ เราเรียนประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกันแบบไหน 

ส่วนการเรียนประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองในระบบการศึกษาไทย นั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการสอนประวัติศาสตร์ช่วงนี้แบบภาพรวม มีการระบุว่า ชาติใดเป็นฝ่ายอักษะ และ ฝ่ายสัมพันธมิตร มีการพูดถึงกองทัพนาซี กองทัพญีปุ่น มีการพูดถึงทางรถไฟสายมรณะ ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และ มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจว่า สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและ สอง นั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศใด และกลุ่มประเทศใดที่ร่วมมือกัน 

จนกระทั่งหลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม (ไทยประกาศจับมือกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) แต่ไทยรอดมาได้เพราะว่ามี ขบวนการเสรีไทย ทั้งในและต่างประเทศ ที่คอยช่วยกลุ่มสัมพันธมิตร แต่ในขณะเดียวกันในการเรียนประวัติศาตร์ของช่วงเวลาดังกล่าว ในแบบเรียนไม่มีการพูดถึง การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิว หรือ โศกนาฎกรรมของทหารญี่ปุ่นที่เคยสร้างไว้กับ คนเกาหลี และ คนจีน